ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าหญิงอีเรเนอแห่งเฮ็สเซินและริมไรน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อีเรเนอ
ประสูติ11 กรกฎาคม ค.ศ. 1866(1866-07-11)
ดาร์มชตัท, แกรนด์ดัชชีเฮ็สเซิน สมาพันธรัฐเยอรมัน
สิ้นพระชนม์11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953(1953-11-11) (87 ปี)
ปราสาทเฮ็มเมิลมาร์ค, รัฐเวือร์ทเทิมแบร์ค-โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น, ประเทศเยอรมนีตะวันตก
ฝังพระศพ15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953
ปราสาทเฮ็มเมิลมาร์ค, รัฐเวือร์เทิมแบร์ค, ประเทศเยอรมนี
พระสวามีเจ้าชายไฮน์ริชแห่งปรัสเซีย
พระนามเต็ม
อีเรเนอ ลูอีเซอ มารีอา อันนา
พระบุตร3 พระองค์
ราชวงศ์เฮ็สเซิน-ดาร์มชตัท
พระบิดาลูทวิชที่ 4 แกรนด์ดยุกแห่งเฮ็สเซิน
พระมารดาเจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักร

เจ้าหญิงอีเรเนอ ลูอีเซอ มารีอา อันนา แห่งเฮ็สเซินและริมไรน์ (เยอรมัน: Irene Luise Maria Anna von Hessen und bei Rhein) เป็นพระธิดาในลำดับที่สามของเจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักรและแกรนด์ดยุกลูทวิชที่ 4 แห่งเฮ็สเซินและริมไรน์ และมีพระอัยกาและอัยยิกาฝ่ายพระชนนีคือ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ส่วนพระอัยกาและอัยยิกาฝ่ายพระชนกคือ เจ้าชายคาร์ลแห่งเฮ็สเซินและริมไรน์ และ เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งปรัสเซีย พระองค์เป็นพระชายาในเจ้าชายไฮน์ริชแห่งปรัสเซีย พระญาติชั้นที่หนึ่ง และนอกจากนี้ก็ทรงเป็นพาหะของโรคฮีโมฟิเลียเช่นเดียวกับพระกนิษฐาคือ เจ้าหญิงอาลิกซ์ โดยพระโอรสสองในสามพระองค์ประชวรเป็นโรคเฮโมฟีเลียด้วย

เจ้าหญิงอาลิกซ์ พระขนิษฐาทรงเป็นจักรพรรดินีแห่งรัสเซีย โดยทรงเปลี่ยนมาใช้พระนามใหม่ว่า อเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา พระอัครมเหสีในจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย และเจ้าชายแอ็นสท์ ลูทวิช พระอนุชาทรงเป็นแกรนด์ดยุกครองรัฐเฮ็สเซินและริมไรน์ ส่วนเจ้าหญิงวิคโทรีอา พระภคินีองค์โตได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าชายลูทวิชแห่งบัทเทินแบร์ค ซึ่งต่อมาทั้งสองทรงเป็นมาร์ควิสและมาร์ชเนสแห่งมิลฟอร์ดฮาเว็น และเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระภคินีอีกพระองค์หนึ่ง (ซึ่งต่อมาทรงได้รับการยกย่องจากศาสนจักรออร์โธด็อกซ์รัสเซียให้เป็นนักบุญเอลิซาเบธ ผู้เสียสละ) อภิเษกสมรสกับ แกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย

ชีวิตในวัยเยาว์

[แก้]

เจ้าหญิงประสูติในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1866 ณ พระราชวังใหม่ เมืองดาร์มชตัท โดยทรงได้รับพระนามแรก ที่มาจากภาษากรีก แปลว่า "สันติภาพ" เนื่องจากพระองค์ประสูติในช่วงของการสิ้นสุดสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย[1] เจ้าหญิงอลิซทรงเห็นว่าเจ้าหญิงอีเรเนอทรงเป็นเด็กที่ไม่มีเสน่ห์ดึงดูดและครั้งหนึ่งทรงเขียนถึงเจ้าหญิงวิคโทรีอา พระภคินีว่าอีเรเนอนั้น "ไม่สวยน่ารัก"[2] แม้ว่าจะไม่มีพระสิริโฉมงามเท่าเจ้าหญิงเอลิซาเบธ แต่เจ้าหญิงทรงสุภาพเรียบร้อย ถึงแม้จะเป็นแค่ลักษณะนิสัย เจ้าหญิงอลิซทรงอบรมเลี้ยงดูพระธิดาแบบเรียบง่าย มีพระพี่เลี้ยงชาวอังกฤษควบคุมดูแลพระโอรสและธิดา และให้เสวยพระกระยาหารพวกข้าวบดเหลวกับแอ็ปเปิ้ลอบ และสวมใส่เสื้อผ้าธรรมดา ทรงสอนพระธิดาเรื่องการบ้านการเรือน เช่น การอบขนมเค้ก จัดปูเตียง จุดไฟในเตาผิง และปัดกวาดฝุ่นให้ห้องนอน เจ้าหญิงอลิซยังทรงเน้นถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือคนจนและพาพระธิดาไปในการเยี่ยมเยียนโรงพยาบาลและงานการกุศลต่างๆ ด้วย[3]

ในปี ค.ศ. 1873 ทั้งครอบครัวรู้สึกโศกเศร้าเมื่อเจ้าชายฟรีดริช ซึ่งมีพระนามเรียกเล่นว่า "ฟริตตี้" พระอนุชาที่ประชวรโรคเฮโมฟีเลียของเจ้าหญิงอีเรเนอ พลัดตกจากหน้าต่างที่เปิดทิ้งไว้ พระเศียรติดอยู่กับราวระเบียง และได้สิ้นพระชนม์ในอีกหลายชั่วโมงต่อมาเนื่องจากพระโลหิตคั่งในสมอง[4] ต่อมาอีกหลายเดือนหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระโอรสวัยเยาว์ เจ้าหญิงอลิซก็ทรงนำพระโอรสและธิดาไปยังหลุมฝังพระศพเพื่อสวดมนต์ต์และทรงหดหู่เมื่อถึงการฉลองครบรอบที่เกี่ยวกับพระองค์[5] ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1878 เจ้าหญิงอีเรเนอ พระภคินี พระอนุชา พระกนิษฐาและพระชนกประชวรด้วยโรคคอตีบ เจ้าหญิงมารี ซึ่งมีพระนามเรียกเล่นว่า "เมย์" ก็ได้สิ้นพระชนม์ด้วยโรคนี้ ส่วนพระชนนีซึ่งทรงเหนื่อยล้าจากการพยาบาลพระโอรสและธิดา ทรงติดโรคนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อทรงทราบว่าประชวรใกล้สิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงอลิซก็ทรงสั่งเสียความปรารถนาต่างๆ รวมถึงคำแนะนำในการเลี้ยงดูพระธิดาและดูแลการบ้านการเรือนกับพระสวามี เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคคอตีบเมื่อธันวาคมปีเดียวกัน[6]

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงอลิซ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงตกลงพระทัยจะเป็นเหมือนเป็นพระชนนีให้กับพระราชนัดดาในราชวงศ์เฮ็สเซิน เจ้าหญิงอีเรเนอ พระภคินี พระกนิษฐาและพระอนุชาที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ได้ทรงประทับอยู่ในอังกฤษช่วงวันหยุดต่างๆ และพระอัยยิกาทรงก็ส่งคำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาและความเห็นเกี่ยวกับฉลองพระองค์ของพระราชนัดดามายังพระอาจารย์ด้วย[7]

อภิเษกสมรส

[แก้]

เจ้าหญิงอีเรเนอทรงอภิเษกสมรสวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1888 ณ ปราสาทชาร์ล็อตเต็นบูร์ก กรุงเบอร์ลิน กับเจ้าชายไฮน์ริชแห่งปรัสเซีย พระราชโอรสพระองค์ที่สองในจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 แห่งเยอรมนี และเจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี จักรพรรดินีมเหสีแห่งเยอรมนี ในฐานะที่พระชนนีของทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพี่น้องกัน เจ้าหญิงอีเรเนอและเจ้าชายไฮน์ริชเป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งของกันและกัน[8] การอภิเษกสมรสสร้างความไม่พอพระทัยแก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เพราะพระองค์ไม่เคยทรงทราบถึงการขอความรักกันจนกระทั่งทั้งสองพระองค์ตกลงพระทัยที่จะอภิเษกสมรส[9] เจ้าหญิงวิคโทรีอา จักรพรรดินีมเหสีทรงพอพระทัยในตัวเจ้าหญิงอีเรเนอมาก อย่างไรก็ดี จักรพรรดินีทรงตกพระทัยมากเนื่องจากเจ้าหญิงอีเรเนอมิทรงสวมผ้าคลุมไหล่หรือผ้าคุลมบ่าเพื่ออำพรางพระอุทรขณะทรงพระครรภ์พระโอรสพระองค์แรกคือ เจ้าชายวัลเดมาร์ ซึ่งประชวรด้วยโรคเฮโมฟีเลียในปี ค.ศ. 1889 จักรพรรดินีที่ทรงสนพระทัยในการเมืองและเหตุการณ์ปัจจุบันยังทรงไม่เข้าพระทัยอีกด้วยว่าทำไมเจ้าชายไฮน์ริชและเจ้าหญิงอีเรเนอไม่เคยทรงอ่านหนังสือพิมพ์เลย[10] อย่างไรก็ตามทั้งสองพระองค์ทรงอภิเษกสมรสกันด้วยความสุขและทรงเป็นที่รู้จักว่า "The Very Amiables" (คู่ที่น่ารักมาก) ในหมู่พระประยูรญาติ เนื่องจากลักษณะท่าทางอันสุภาพเรียบร้อย ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสสามพระองค์คือ

  • เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งปรัสเซีย (วัลเดมาร์ วิลเฮล์ม ลูทวิช ฟรีดริช วิคตอร์ ไฮน์ริช; 20 มีนาคม ค.ศ. 1889 - 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1945)[11]
    • ทรงอภิเษกสมรสวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1919 ณ เมืองเฮมเมลมาร์ค ประเทศเยอรมนี กับ เจ้าหญิงคาลิกซ์ตา แอ็กเนส อเดลไฮด์ เอียร์มการ์ด เฮเลนา คาโรลา เอลิซา เอ็มมาแห่งลิปเปอ (14 ตุลาคม ค.ศ. 1895 - 15 ธันวาคม ค.ศ. 1982)
  • เจ้าชายซีกิสมุนด์แห่งปรัสเซีย (วิลเฮล์ม วิคตอร์ คาร์ล เอากุสต์ ไฮน์ริช ซิกิสมุนด์; 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1896 - 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1978)
    • ทรงอภิเษกสมรสในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1919 ณ เมืองเฮมเมลมาร์ค ประเทศเยอรมนี กับ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งซัคเซิน-อัลเทนบูร์ก (4 มีนาคม ค.ศ. 1899 - 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989)
  • เจ้าชายไฮน์ริชแห่งปรัสเซีย (ไฮน์ริช วิคตอร์ ลูทวิช ฟรีดริช; 9 มกราคม ค.ศ. 1900 - 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904)

เชื้อสายของเจ้าชายไฮน์ริชและเจ้าหญิงอีเรเนอประกอบด้วยพระนัดดาสององค์ พระปนัดดาสององค์ และโอรสธิดาของพระปนัดดาอีกหกคน[12]

สัมพันธ์ในครอบครัว

[แก้]

เจ้าหญิงได้ทรงถ่ายทอดพันธุกรรมเฮโมฟีเลียไปยังเจ้าชายวัลเดมาร์และเจ้าชายไฮน์ริช พระโอรสองค์โตและองค์เล็ก พระพลานามัยของเจ้าชายวัลเดมาร์น่าเป็นห่วงมากสำหรับพระองค์เมื่อทรงพระเยาว์[13] ต่อมาก็ยังทรงโทมนัสเป็นอันมากเมื่อเจ้าชายไฮน์ริช พระโอรสองค์เล็กชนมายุ 4 ชันษา สิ้นพระชนม์หลังจากหกล้มและพระเศียรกระแทกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904[14] หลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายไฮน์ริช เจ้าหญิงอาลิกซ์ ซึ่งเป็นพระขนิษฐาที่ขณะนี้เป็นจักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย ทรงมีประสูติกาลพระโอรสที่ประชวรด้วยโรคเฮโมฟีเลีย พระนามว่า มกุฎราชกุมารอเล็กซิส ส่วนพระราชินีวิคโทรีอา ยูจีเนียแห่งสเปน พระญาติชั้นที่หนึ่งก็มีพระโอรสที่ประชวรด้วยโรคเฮโมฟีเลียสองพระองค์เช่นกัน

เจ้าหญิงอีเรเนอที่ทรงได้รับการเลี้ยงดูมาให้เชื่อวิถีความพฤติสมัยวิกตอเรียอย่างแท้จริง ทรงตกพระทัยอย่างง่ายดายกับสิ่งที่เห็นว่าเป็นความไร้ศีลธรรม [15] เมื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระภคินีทรงเลิกนับถือนิกายลูเธอรันเยอรมัน ที่ทั้งสองพระองค์ทรงเติบโตมาและเข้ารีตในศาสนจักรออร์โธด็อกซ์รัสเซียในปี ค.ศ. 1891 เจ้าหญิงทรงรู้สึกเศร้าพระทัยมาก พระองค์ทรงเขียนถึงพระชนกว่าทรง"ร้องไห้อย่างหนัก"กับการตัดสินใจของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ[16] ต่อมาเจ้าหญิงอาลิกซ์ได้ทรงเข้ารีตในศาสนจักรออร์โธด็อกซ์รัสเซียด้วยเช่นกันเมื่อทรงอภิเษกสมรสกับจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย แม้ว่าจะทรงผิดหวังกับการเลือกนับถือศาสนา พระองค์ยังคงใกล้ชิดสนิทสนมกับพระภคินีและขนิษฐาทั้งสอง ในปี ค.ศ. 1907 เจ้าหญิงอีเรเนอทรงช่วยเหลือจัดแจงการอภิเษกสมรสที่ต่อมาเป็นเสมือนหายนะระหว่างแกรนด์ดัชเชสมาเรีย ปาฟลอฟนาแห่งรัสเซียกับเจ้าชายวิลเฮล์มแห่งสวีเดน ดยุกแห่งโซเดอร์มันลานด์[17] พระราชินีแห่งสวีเดน พระชนนีในเจ้าชายวิลเฮล์มทรงเป็นสหายเก่าของทั้งเจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงอีเรเนอ [18] แกรนด์ดัชเชสมาเรียทรงเขียนเล่าต่อมาว่าเจ้าหญิงอีเรเนอทรงกดดันพระองค์ให้ทำพิธีอภิเษกสมรสให้ลุล่วงเมื่อทรงสงสัย พระองค์ตรัสกับแกรนด์ดัชเชสว่าการล้มเลิกงานพิธีจะทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธ"เสียใจอย่างมาก"[19] ในปี ค.ศ. 1912 เจ้าหญิงอีเรเนอทรงเป็นหนึ่งในแรงสนับสนุนต่อเจ้าหญิงอาลิกซ์ พระขนิษฐา เมื่อมกุฎราชกุมารอเล็กซิสใกล้สิ้นพระชนม์จากความซับซ้อนของโรคเฮโมฟีเลียที่เรือนล่าสัตว์ของราชวงศ์ในประเทศโปแลนด์[20]

ปลายพระชนม์ชีพ

[แก้]

ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงอีเรเนอกับพระภคินีและพระขนิษฐาต้องแตกแยกออกจากการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้ต้องทรงอยู่กันคนละฝ่าย เมื่อสงครามสิ้นสุดลง พระองค์ทรงได้ข่าวว่าเจ้าหญิงอาลิกซ์ พระสวามี พระโอสธิดาและเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระภคินีทรงถูกปลงพระชนม์โดยพวกบอลเชวิค หลังจากสงครามและการสละราชสมบัติของจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ประเทศเยอรมนีไม่ได้ปกครองด้วยราชวงศ์ปรัสเซียอีกต่อไป แต่เจ้าหญิงอีเรเนอกับพระสวามียังคงประทับในตำหนักเฮมเมลมาร์ค ทางตอนเหนือของประเทศอยู่

เมื่อแอนนา แอนเดอร์สันปรากฏตัวขึ้นที่กรุงเบอร์ลินในปี ค.ศ. 1921 โดยอ้างว่าเป็นแกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย นิโคไลเยฟนาแห่งรัสเซีย ผู้รอดชีวิตจากการปลงพระชนม์พระราชวงศ์ เจ้าหญิงอีเรเนอเสด็จไปพบกับหญิงสาวคนนั้นแต่ตัดสินว่านางแอนเดอร์สันไม่ใช่พระนัดดาที่ทรงพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 1913[21] เจ้าชายไฮน์ริช พระสวามีทรงกล่าวว่าการพูดถึงนางแอนเดอร์สันรบกวนพระทัยเจ้าหญิงอีเรเนอมากเกินไปและทรงสั่งว่าห้ามมิให้ใครพูดถึงหญิงคนนั้นเมื่อพระองค์ทรงอยู่ด้วย เจ้าชายไฮน์ริชสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1929 และอีกหลายปีต่อมา เจ้าชายซิกิสมุนด์ พระโอรสทรงตั้งคำถามกับนางแอนเดอร์สันผ่านสื่อกลางเกี่ยวกับวัยเยาว์ที่มีร่วมกันและกล่าวว่าคำตอบถูกหมดทุกขัอ[22] เจ้าหญิงอีเรเนอทรงรับอุปการะเจ้าหญิงบาร์บารา พระธิดาในเจ้าชายซิกิสมุนด์ ที่ประสูติในปี ค.ศ. 1920 ไว้เป็นทายาทหลังจากที่เจ้าชายได้เสด็จออกจากเยอรมนีเพื่อไปประทับยังประเทศคอสตาริกาในช่วงทศวรรษที่ 1930 เจ้าชายซิกิสมุนด์ทรงปฏิเสธที่จะเสด็จกลับมาประทับในเยอรมนีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2[23] เจ้าหญิงอีเรเนอทรงโทมนัสอย่างแสนสาหัสเมื่อเจ้าชายวัลเดมาร์ พระโอรสองค์โตประชวรด้วยโรคเฮโมฟีเลียในปี ค.ศ. 1945 และสิ้นพระชนม์เนื่องจากการขาดเลือดสำหรับการถ่ายโลหิต ส่วนเจ้าหญิงก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953 สิริพระชันษาได้ 87 ปี 4 เดือน โดยได้ทรงทิ้งพระตำหนักเฮมเมลมาร์คไว้ให้เป็นมรดกแก่พระนัดดา

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1866 - 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1888: พระองค์เจ้าหญิงอีเรเนอแห่งเฮ็สเซินและริมไรน์ (Her Grand Ducal Highness Princess Irene of Hesse and by Rhine)
  • 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1888 - 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953: สมเด็จเจ้าหญิงอีเรเนอแห่งปรัสเซีย (Her Royal Highness Princess Irene of Prussia)

อ้างอิง

[แก้]
  1. Mager (1998), p. 27
  2. Pakula (1995), p. 322
  3. Mager (1998), pp. 28-29
  4. Mager (1998), p. 45
  5. Mager (1998), pp. 45-46
  6. Mager (1998), p. 56
  7. Mager (1998), p. 57
  8. Mager (1998), p. 111
  9. Queen Victoria (1975)
  10. Pakula (1995), p. 513
  11. Eilers (1997), p. 130-131
  12. Paul Theroff (2007). ""Mecklenburg"". An Online Gotha. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-12. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2007.
  13. Pakula (1995), p. 537
  14. Maylunas and Mironenko (1997), pp. 239-240
  15. Massie (1995), p. 165
  16. Mager (1998), p. 135.
  17. Mager (1998), p. 228
  18. Mager (1998), p. 228
  19. Grand Duchess Marie (1930)
  20. Maylunas and Mironenko (1997), p. 355
  21. Kurth (1983), p. 51
  22. Kurth (1983), p. 272
  23. Kurth (1983), p. 428
  • Eilers, Marlene A. (1997), Queen Victoria’s Descendants, Rosvall Royal Books, Falköping, 2nd Edition. ISBN 9-163-05964-9.
  • Kurth, Peter (1983). Anastasia: The Riddle of Anna Anderson. Little, Brown, and Company. ISBN 0-316-50717-2.
  • Grand Duchess Marie (1930). Education of a Princess: A Memoir. Viking Press.
  • Mager, Hugo (1998). Elizabeth: Grand Duchess of Russia. Carroll and Graf Publishers, Inc. ISBN 0-7867-0678-3
  • Massie, Robert K. (1995). The Romanovs: The Final Chapter. Random House. ISBN 394-58048-6
  • Mironenko, Sergei, and Maylunas, Andrei (1997). A Lifelong Passion: Nicholas and Alexandra: Their Own Story. Doubleday. ISBN 0-385-48673-1.
  • Pakula, Hannah (1995). An Uncommon Woman: The Empress Frederick: Daughter of Queen Victoria, Wife of the Crown Prince of Prussia, Mother of Kaiser Wilhelm. Simon and Schuster. ISBN 0-684-84216-5.
  • Queen Victoria (1975). Advice to my grand-daughter: Letters from Queen Victoria to Princess Victoria of Hesse. Simon and Schuster. ISBN 0671222422