เจ้าหญิงตะกอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงตะกอง

เจ้าหญิงศรีสุริยมังคลาเทวี
เจ้าหญิงตะกอง
พระฉายาลักษณ์เจ้าหญิงตะกอง ฉายก่อนปีพ.ศ. 2409
เจ้าหญิงแห่งพม่า
ประสูติพ.ศ. 2387
พระราชวังอมรปุระ อมรปุระ ประเทศพม่า
สวรรคต2 สิงหาคม พ.ศ. 2409
เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
(พระชนมายุ 22 พรรษา)
พระราชสวามีเจ้าชายสากู
เจ้าหญิงตะกอง
ราชวงศ์อลองพญา
พระราชบิดาพระเจ้ามินดง
พระราชมารดาพระสนมเอกตองชเวเยที่ 2

เจ้าหญิงตะกอง (Princess of Tagaung; พ.ศ. 2387 - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2409) ทรงมีพระนามเดิมคือ เจ้าหญิงศรีสุริยมังคลาเทวี (Sri Suriya Mangala Devi) ทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์โก้นบอง

พระประวัติ[แก้]

เจ้าหญิงศรีสุริยมังคลาเทวี หรือ เจ้าหญิงตะกองทรงเป็นพระราชธิดาลำดับที่ 5 ของพระเจ้ามินดง[1] ซึ่งประสูติแต่พระสนมเอกตองชเวเยที่ 2 พระสนมเอกฝ่ายใต้ พระองค์ประสูติที่พระราชวังอมรปุระ กรุงอมรปุระ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในรัชกาลของพระเจ้าแสรกแมง หรือ พระเจ้าตะหย่าวดี ซึ่งเป็นพระราชบิดาของเจ้าชายมินดงในขณะนั้น ดังนั้นทรงเป็นพระราชธิดาซึ่งประสูตินอกเศวตฉัตร เจ้าหญิงทรงมีพระขนิษฐาร่วมพระมารดา 1 พระองค์ คือ เจ้าหญิงกยุนดอง

เจ้าชายมินดงและเจ้าชายกะหน่อง พระอนุชาทรงรอบรวมกองกำลังเข้ายึดพระราชอำนาจจากพระเจ้าพุกามแมง ผู้เป็นพระเชษฐา พระองค์สละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2396 พระเจ้ามินดงได้ครองราชสมบัติสืบต่อมา พระเจ้ามินดงทรงย้ายราชธานีไปยังกรุงมัณฑะเลย์ ในปีพ.ศ. 2400 เจ้าหญิงได้รับพระราชทานศักดินา "ตะกอง" (Tagaung) จากพระเจ้ามินดง จึงทำให้มีบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าหญิงแห่งตะกอง" และกลายเป็นพระนามที่เรียกขานกันว่า "เจ้าหญิงตะกอง"[2]

ในปีพ.ศ. 2407 ขณะที่เจ้าหญิงทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับพระอนุชาต่างมารดา คือ เจ้าชายสากู (ประสูติ พ.ศ. 2389) ซึ่งมีพระชนมายุ 18 พรรษา เป็นพระโอรสที่ประสูติแต่พระนางตองซองดอ มเหสีใต้ หนึ่งในพระมเหสีของพระเจ้ามินดง ทั้งสองพระองค์ไม่ทรงมีพระโอรสธิดาร่วมกัน เจ้าชายสากูทรงมีพระโอรสธิดา 2 พระองค์ กับพระสนมฉิ่น เลย์

เจ้าหญิงตะกองและเจ้าชายสากู พระสวามีถูกปลงพระชนม์ที่มัณฑะเลย์ในเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง คือ ความพยายามก่อรัฐประหารวังหลวงในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2409 ซึ่งผู้ก่อการคือเจ้าชายมยินกุ่นและเจ้าชายมยินกุนเดง[3]พระโอรสของพระเจ้ามินดงที่ประสูติแต่พระสนมเอกตองชเวเยที่ 1 พระสนมเอกฝ่ายใต้อีกพระองค์หนึ่ง ทั้งสองพระองค์มีศักดิ์เป็นพระเชษฐาและพระอนุชาต่างมารดาของเจ้าหญิงตะกอง การก่อกบฎของเจ้าชายทั้งสองพระองค์เกิดจากความไม่พอใจที่พระเจ้ามินดง ผู้เป็นพระราชบิดา ทรงแต่งตั้งเจ้าชายกะหน่อง พระอนุชาขึ้นเป็นองค์รัชทายาท เจ้าชายมยินกุ่นทรงคาดหวังที่จะได้รับตำแหน่งนี้ เจ้าชายทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษ ซึ่งไม่พอใจแนวทางการปฏิรูปราชอาณาจักรและกองทัพให้ทันสมัยของเจ้าชายกะหน่อง เจ้าชายกะหน่องถูกปลงพระชนม์ขณะประชุมในสภาลุดต่อ จากนั้นกองกำลังของเจ้าชายทั้งสองได้บุกพระราชวังหลวงเพื่อปลงพระชนม์พระเจ้ามินดง แต่ทรงหลบหนีออกไปได้ กองทัพกบฏได้ทำการสังหารบรรดาราชนิกุลที่ต่อต้าน ซึ่งเจ้าหญิงตะกองและเจ้าชายสากูก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ความพยายามก่อการรัฐประหารล้มเหลวเนื่องจากไม่สามารถปลงพระชนม์พระเจ้ามินดงได้ เจ้าชายทั้งสองทรงถูกต่อต้าน จึงหลบหนีไปยังดินแดนพม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร และทรงได้รับสถานะลี้ภัยจากอังกฤษ

เจ้าหญิงตะกองถูกปลงพระชนม์ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2409 จากเหตุการณ์กบฎเจ้าชายมยินกุ่นและเจ้าชายมยินกุนเดง สิริพระชนมายุ 22 พรรษา

อ้างอิง[แก้]

  1. http://www.royalark.net/Burma/konbau18.htm
  2. http://www.royalark.net/Burma/konbau18.htm
  3. Htin Aung, "The Stricken Peacock: Anglo-Burmese Relations 1752–1948", Martinus Nijhoff, The Hague; published 1965; ISBN 978-940-15-1045-5