เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยาโกษาธิบดี
(ปาน)
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ครั้งเป็นออกพระวิสุทธสุนทร ราชทูต ภาพวาดฝีมือชาวฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2227
คณะราชทูตอาณาจักรอยุธยาไปยังประเทศฝรั่งเศส
ดำรงตำแหน่ง
มิถุนายน พ.ศ. 2229 – มีนาคม พ.ศ. 2230
แต่งตั้งโดยพระยาวิไชเยนทร์
กษัตริย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ก่อนหน้าขุนพิชัยวาลิต
ขุนพิจิตรไมตรี
ถัดไปออกขุนชำนาญใจจง
ออกขุนวิเศษภูบาล
ออกหมื่นพิพิธราชา
เจ้าพระยาโกษาธิบดี
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2231 – 2242
กษัตริย์สมเด็จพระเพทราชา
ก่อนหน้าออกญาวัง
ถัดไปออกญามหาอำมาตย์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ปาน

พ.ศ. 2176 [1]
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
เสียชีวิต15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2242 (66 ปี)[1]
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
เชื้อชาติชาวไทยเชื้อสายมอญ[1]
ศาสนาเถรวาท
บุตร4 คน; รวมถึง เจ้าพระยาวรวงษาธิราช
บุพการี
ญาติเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) (พี่ชาย)

เจ้าพระยาโกษาธิบดี นามเดิม ปาน (พ.ศ. 2176 – 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2242) เป็นขุนนางในอาณาจักรอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นเอกอัครราชทูตคนสำคัญที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2229[2]

ปานเป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมชั้นเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับสามีเชื้อสายพระยาเกียรดิ์ พระยาราม เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[1] นอกจากนี้เขายังเป็นปู่ของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งเป็นบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต้นราชสกุล นรินทรางกูร [3]

ประวัติ[แก้]

คณะทูตอยุธยาถวายราชสาสน์ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ ห้องกระจก พระราชวังแวร์ชาย วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229

ปานเป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[1] และเป็นน้องชายของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ซึ่งดำรงตำแหน่งพระคลังระหว่าง พ.ศ. 2200–2226 [4] ปานมีบุตร 4 คน[5][6][7] คือ

  1. บุตรี (ไม่ปรากฏนาม)
  2. บุตรชาย มีนามว่า ขุนทอง มีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) เสนาดีกรมคลัง ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8
  3. บุตรชาย (ไม่ปรากฏนาม)
  4. บุตรชาย (ไม่ปรากฏนาม)

ปานได้บรรดาศักดิ์ ออกพระวิสุทธสุนทร และได้รับแต่งตั้งเป็นทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในสมัยดังกล่าว ฝรั่งเศสมีอิทธิพลในราชสำนักของพระนารายณ์มาก จุดประสงค์ของฝรั่งเศสคือเผยแพร่คริสต์ศาสนา และพยายามให้พระนารายณ์เข้ารีตเป็นคริสตชน รวมทั้งพยายามมีอำนาจทางการเมืองในอยุธยาด้วยการเจรจาขอตั้งกำลังทหารของตนที่เมืองบางกอกและเมืองมะริด[8]

คณะทูตไปฝรั่งเศสดังกล่าว ประกอบด้วย ปาน เป็นราชทูต, ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต, และออกขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต พร้อมทั้งบาทหลวงเดอ ลีออง และผู้ติดตาม รวมกว่า 40 คน ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2229 ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 ณ พระราชวังแวร์ซาย[9] และเดินทางกลับเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2230[10]

ปานเป็นนักการทูตที่สุขุม ไม่พูดมาก ละเอียดลออในการจดบันทึกสิ่งที่พบเห็นในการเดินทาง[11] ในการเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คณะทูตอยุธยาได้รับการยกย่องชื่นชมจากชาวฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายตะวันออกแต่งทูตไปยังฝรั่งเศส[11] พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงรับรองคณะทูตอย่างสมเกียรติยศ โปรดให้ทำเหรียญที่ระลึกและเขียนรูปเหตุการณ์เอาไว้[11]

พระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กล่าวถึงปานว่า

ราชทูตของพระองค์นี้ รู้สึกว่า เป็นคนรอบคอบ รู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถี่ถ้วนดีมาก หากเรามิฉวยโอกาสนี้เพื่อเผยแพร่ความชอบแห่งราชทูตของพระองค์บ้าง ก็จะเป็นการอยุติธรรมไป เพราะราชทูตได้ปฏิบัติล้วนถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไร แต่ละคำ ๆ ก็ดูน่าปลื้มใจ และน่าเชื่อถือทุกคำ

— พระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึงพระนารายณ์มหาราช ประมาณ พ.ศ. 2230[12]

ความสำเร็จจากการทูตดังกล่าว ทำให้ปานได้ฉายาว่า ราชทูตลิ้นทอง หรือนักการทูตลิ้นทอง[13]

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231[แก้]

หลังกลับกรุงศรีอยุธยา ปานถูกกดดันให้เข้ากลุ่มต่อต้านฝรั่งเศสของพระเพทราชาซึ่งประกอบด้วยขุนนางที่ไม่พอใจฝรั่งเศสที่มีอำนาจมากในกรุงศรีอยุธยา การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาส่งผลให้สมเด็จพระนารายณ์พ้นจากราชบัลลังก์และขับไล่ทหารฝรั่งเศสซึ่งปานได้รับการส่งให้ไปเจรจาด้วย จากนั้น ปานจึงได้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง[14][15]

เองเงิลแบร์ท เคมพ์เฟอร์ นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน พบกับปานใน ค.ศ. 1690 และเขียนบรรยายไว้ว่า ปานมีภาพของราชวงศ์ฝรั่งเศสกับแผนที่ยุโรปแขวนอยู่ในห้องโถงบ้าน[16]

เขาเป็นคนน่ามองและมีวิสัยทัศน์ดียิ่งกว่าคนใด ๆ ที่ข้าพเจ้าเคยพบในหมู่มนุษย์ชนชาติผิวคล้ำนี้... เขายังเข้าใจรวดเร็ว และมีอากัปกิริยากระตือรือร้น ซึ่งเป็นเหตุให้เขาได้รับการตั้งให้เป็นทูตไปฝรั่งเศสเมื่อไม่กี่ปีก่อน และเขามักสร้างความบันเทิงให้แก่เราด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเทศดังกล่าว การปกครองประเทศนั้น ค่ายคูประตูหอรบ และสิ่งอื่น ๆ ทำนองเดียวกัน และที่โถงบ้านเขาซึ่งเราพบกันเป็นการส่วนตัวนั้นมีรูปราชวงศ์ฝรั่งเศสกับแผนที่ยุโรปแขวนอยู่ ส่วนเครื่องเรือนอื่น ๆ หามีอันใดนอกจากฝุ่นและหยากไย่

— เองเงิลแบร์ท เคมพ์เฟอร์ (1727/1987:38).[17]

ใน ค.ศ. 1699 กี ตาชาร์ บาทหลวงคณะเยสุอิต เข้าพบปานและพระเพทราชา แต่การพบกันเป็นแต่ทางพิธีการ ไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ใด ๆ[18]

การเสียชีวิต[แก้]

โกษาปาน วาดโดย Charles Le Brun เมื่อปี ค.ศ. 1686
ตราประทับของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระวิสุทธสุนธร
รูปปั้นโกษาปาน ซึ่งประดิษฐาน ณ ถนนสยาม เมืองแบร็สต์ ประเทศฝรั่งเศส

เมื่อสิ้นสมเด็จพระนารายณ์ใน พ.ศ. 2231 สมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ต่อ ปานได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี ว่าการพระคลัง[19]

ใน พ.ศ. 2239 ปานถูกลงอาญาอยู่บ่อยครั้ง เนื่องด้วยเป็นที่นิยมในหมู่ราษฎร มีครั้งหนึ่งพระเพทราชากริ้วมาก ใช้พระแสงตัดปลายจมูกของปาน[20] บางแหล่งว่า ที่ถูกตัดจมูก เพราะเขาถูกกล่าวหาว่า จงรักภักดีต่อฝรั่งเศสและสมเด็จพระนารายณ์ [21]

ใน พ.ศ. 2242 เขาถูกลงพระราชอาญา ภรรยา อนุภรรยา รวมทั้งบุตรสาวและบุตรชาย ถูกคุมขัง ทรัพย์สมบัติก็ถูกริบหมด[20]

บางแหล่งว่า เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายใน พ.ศ. 2243[21] บางคนว่า เขาใช้มีดแทงตัวตาย บางคนว่า เขาถูกโบยด้วยเชือกจนตาย[20]

ต้นตระกูลราชวงศ์จักรี[แก้]

ว่ากันว่า โกษาปานเป็นต้นตระกูลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[22] เพราะเป็นบิดาของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) ซึ่งภายหลังเข้ารับราชการกับพระเจ้าเสือ และยังเป็นปู่ของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งเป็นบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต้นราชสกุล นรินทรางกูร [3][23]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง บุพเพสันนิวาส ออกฉายครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "พระยาวิสูตรสุนทร" หรือ "เจ้าพระยาโกษาธิบดี" นำแสดงโดยชาติชาย งามสรรพ์

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 มานพ ถนอมศรี 2533 หน้า 13-14
  2. มานิจ ชุมสาย 2531, หน้า 100
  3. 3.0 3.1 Smithies 2002, p. 100
  4. เปิดประวัติวีรบุรุษคนสำคัญ! 'โกษาเหล็ก' แม่ทัพผู้ช่ำชองด้านการศึกษา ใช้จิตวิทยารบชนะพม่า ข่าวสดออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2561
  5. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. สมเด็จพระชนกาธิบดี พระปฐมราชวงศ์จักรี. กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม, 2564. 360 หน้า. หน้า 45. ISBN 978-616-4418-16-5
  6. แสงเทียน ศรัทธาไทย. มหาอุทรโอบอุ้มมหาราช. กรุงเทพฯ : ร่มฟ้าสยาม, 2548. 192 หน้า. หน้า 128. ISBN 974-169-015-0
  7. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. เล่าเรื่องเมืองสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี : เอ็ม.บี.เอ, 2536. 192 หน้า. หน้า 139. ISBN 974-897-582-7
  8. เปิดวาร์ป!!! “โกษาปาน” ในบุพเพสันนิวาส กับภาพวาดฝีมือชาวฝรั่งเศส ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2561
  9. มานพ ถนอมศรี 2533 หน้า 24-26
  10. มานิจ ชุมสาย 2531, หน้า 143
  11. 11.0 11.1 11.2 'โกษาปาน'นักการทูตผู้สุขุม รูปงาม ไทยโพสต์ สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2561
  12. มานพ ถนอมศรี 2533, หน้า 11
  13. Royal Institute of Thailand (2011). "พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 3 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน" (pdf). Bangkok: Royal Institute of Thailand. สืบค้นเมื่อ 15 July 2014.
  14. Smithies 2002, p. 35
  15. Smithies 1999, p. 2
  16. Suarez, p. 30
  17. Quoted in Smithies 2002, p. 180
  18. Smithies 2002, p. 185
  19. เปิดประวัติสุดเศร้า! ฝรั่งเศสบันทึกชะตากรรมโกษาปาน โดนตัดจมูก-เฆี่ยน จนฆ่าตัวตาย! ข่าวสดออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2561
  20. 20.0 20.1 20.2 มานพ ถนอมศรี 2533, หน้า 38
  21. 21.0 21.1 มานิจ ชุมสาย 2531, หน้า 203
  22. Smithies 2002, p.180
  23. มานพ ถนอมศรี 2533, หน้า 40-42

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์