ออกขุนชำนาญใจจง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ออกขุนชำนาญใจจง
ออกขุนชำนาญใจจงในปี ค.ศ. 1689 วาดโดย คาร์โล มารัตตา
อาชีพขุนนาง นักการทูต
มีชื่อเสียงจากนักการทูตของกรุงศรีอยุธยา

ออกขุนชำนาญใจจง เป็นนักการทูตสยามที่เดินทางเยือนประเทศฝรั่งเศสและโรมในฐานะคณะทูตในปี ค.ศ. 1688 เขาสืบทอดตำแหน่งคณะทูตจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ในปี ค.ศ. 1686

โปรตุเกส (1684)[แก้]

ออกขุนชำนาญใจจงเป็นสมาชิกของคณะทูตชุดแรกที่ถูกส่งไปยังโปรตุเกส โดยออกเดินทางจากสยามในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1684[1] คณะทูตสยามได้เดินทางไปพร้อมกับคณะทูตโปรตุเกสที่กำลังเดินทางกลับจากอาณาจักรอยุธยา ซึ่งได้ถูกส่งมายังอยุธยาโดยสมเด็จพระเจ้าเปโดรที่ 2 แห่งโปรตุเกส[2] คณะทูตสยามยังได้นำของขวัญเตรียมถวายแด่พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และกำลังกำหนดให้มีเอกอัครราชทูตสามคนเดินทางไปเข้าเฝ้า[3]

การเดินทางขาไปบนเรือของสยาม บัญชาการโดยกัปตันเรือชาวโปรตุเกส[4] ในรัฐกัว หลังจากรอคอยมานานกว่าหนึ่งปี คณะทูตได้เดินทางต่อด้วยเรือโปรตุเกส แต่กลับประสบอุบัติเหตุแตกกลางทะเลนอกแหลมอะกัลลัสเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1686 หลังจากการผจญภัยหลายครั้ง ออกขุนชำนาญใจจงและชาวสยามที่เหลือรอดชีวิตสามารถเดินเท้าผ่านภูมิประเทศต่างๆในแอฟริกาจนไปถึงอาณานิคมดัตช์ที่แหลมกูดโฮปได้ในที่สุด ในเวลาหลายเดือนต่อมา คณะทูตได้เดินทางกลับไปทางตะวันออกโดยเรือของฮอลันดาผ่านปัตตาเวีย ก่อนจะถึงสยามในเดือนกันยายน ค.ศ. 1687[5]

ในระหว่างการเดินทาง ออกขุนชำนาญใจจงได้เรียนภาษาโปรตุเกส อันเป็นการเตรียมการสำหรับการเจรจากับประเทศตะวันตกในภายภาคหน้า[5] ออกขุนชำนาญใจจงได้ประจำอยู่ที่บางกอกในเดือนตุลาคมระหว่างการต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1687 อันประกอบด้วยเรือรบ 5 ลำ นำโดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ และโกลด เซเบอแร ดูว์ บูแล ผู้อำนวยการบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสและโรม (1688)[แก้]

ออกขุนชำนาญใจจงยังได้เป็นสมาชิกคณะผู้แทนอันประกอบด้วยข้าราชการสามคนที่ถูกส่งไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในฝรั่งเศส และสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 ในโรม ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในปี ค.ศ. 1688 ทูตอีกสองคนในคณะประกอบด้วยออกขุนวิเศษภูบาลและออกหมื่นพิพิธราชา[1] อีกสามวันต่อมา ครูสอนคำสอนจากตังเกี๋ยอีกสามคนได้เดินทางมาด้วย และนักเรียนชาวสยามห้าคนถูกส่งตัวไปศึกษายังวิทยาลัยหลุยส์ เลอ กรองด์ ในปารีส[6]

คณะทูตสยาม และหลวงพ่อกีย์ ตาชารด์ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1688 หลังจากการเดินทางเยือนปารีสครั้งแรกไม่สามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ จึงเดินทางต่อไปยังโรม หลังจากเข้าพบเป็นครั้งแรก คณะทูตได้เข้าเฝ้าพระสันตะปาปาอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1689[7] ภาพจิตรกรรมคณะทูตสยามได้วาดขึ้นโดยจิตรกรที่มีชื่อเสียง คาร์โล มารัตตา

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1689 คณะทูตสยามได้รับโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และได้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาพาณิชย์เซเบเรต์ที่ได้บรรลุในปี ค.ศ. 1687[7]

หลังการสวรรคตของพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชาได้ขึ้นครองราชสมบัติและความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คณะทูตของออกขุนชำนาญติดค้างอยู่ในประเทศฝรั่งเศสรวมทั้งประสบปัญหาในการเดินทางกลับ ในปี ค.ศ. 1690 คณะทูตได้เดินทางกลับถึงสยามโดยกองเรือรบหกลำ อับราฮัม ดูเกส-กุยตอน แต่เนื่องจากลมฟ้าอากาศที่ไม่เป็นใจทำให้เหลือเรือรบเพียงลำเดียวที่แล่นถึงบาลัสซอรฺ ปากแม่น้ำคงคา ที่ซึ่งคณะทูตได้ลงจากเรือ[8] และเดินทางกลับอยุธยาทางบก

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Smithies, p.3
  2. Smithies, p.55
  3. Smithies, p.32
  4. Smithies, p.13
  5. 5.0 5.1 Smithies, p.4
  6. Smithies, p.5
  7. 7.0 7.1 Smithies, p.7
  8. Smithies, p.9

บรรณานุกรม[แก้]

  • Smithies, Michael (1999), A Siamese embassy lost in Africa 1686, Silkworm Books, Bangkok, ISBN 9747100959