อุทกภัยในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา พ.ศ. 2566

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทกภัยในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา พ.ศ. 2566
สะพานข้ามแม่น้ำอีดีเชใกล้เมืองโบโลญญาพังทลายลง
วันที่2–3 พฤษภาคม
16 พฤษภาคม – ปัจจุบัน
ที่ตั้งโบโลญญา, เชเซนา, ฟอร์ลิ, ราเวนนา, รีมีนี
เสียชีวิต16 คน[a]
ทรัพย์สินเสียหาย5 พันล้านยูโร

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ได้เกิดอุทกภัยอย่างต่อเนื่องทั้งในและรอบเมืองโบโลญญา, เชเซนา, ฟอร์ลิ, ราเวนนา และรีมีนีในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา ประเทศอิตาลี[1] ระลอกแรกเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 2 ถึง 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 และคร่าชีวิตผู้คนไป 2 คน[2] ส่วนระลอกที่สองเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 จนถึงปัจจุบัน และคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 14 คน ทั้งยังส่งผลให้อีก 50,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย[3][4][5]

ฝนปริมาณเท่ากับที่ตกภายในเวลา 7 เดือนได้ตกลงมาภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ทำให้น้ำในแม่น้ำลำธาร 23 สายทั่วแคว้นเอ่อท้นตลิ่ง[6][7] ในขณะที่บางพื้นที่ได้รับน้ำฝนปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณเฉลี่ยต่อปีภายในเวลาเพียง 36 ชั่วโมง[8] นอกจากนี้ยังเกิดเหตุดินถล่มประมาณ 300 ครั้งในพื้นที่ และเมือง 43 เมืองถูกน้ำท่วม[9] มีการประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นไว้ที่อย่างน้อย 5 พันล้านยูโร (5.4 ดอลลาร์สหรัฐ)[10]

ประวัติ[แก้]

หลังจากที่แคว้นเอมีเลีย-โรมัญญาประสบกับภาวะแล้งมาหลายเดือน[11] ฝนก็ได้ตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 2 ถึง 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 โดยเฉพาะในจังหวัดโบโลญญาและจังหวัดราเวนนา น้ำในแม่น้ำบางสายเอ่อท้นฝั่งในภูมิภาคโรมัญญา ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างในพื้นที่ราบและคร่าชีวิตผู้คนไป 2 คน[12] ในวันที่ 12 พฤษภาคม เกิดฝนกระโชกที่จังหวัดโบโลญญา ทำให้เกิดอุทกภัยเล็กน้อย[13][14]

ภัยแล้งที่กินเวลานานและสภาพอากาศที่เลวร้ายอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบทำให้ดินไม่สามารถระบายน้ำได้ เมื่อถึงวันที่ 16 พฤษภาคม พายุอีกลูกหนึ่ง (ซึ่งได้รับการตั้งชื่อว่ามิเนอร์วา) ได้พัดกระหน่ำพื้นที่และทำให้มีฝนตกหนักติดต่อกันเกือบ 2 วัน น้ำในแม่น้ำลำธาร 23 ทั่วแคว้นไหลทะลักตลิ่ง มีผู้เสียชีวิต 14 คนระหว่างเกิดเหตุอุทกภัย 7 คนในจำนวนนี้เสียชีวิตที่จังหวัดฟอร์ลิ-เชเซนา ในขณะที่ 6 คนเสียชีวิตที่จังหวัดราเวนนา และอีก 1 คนเสียชีวิตที่จังหวัดโบโลญญา[15][16][17][18] นอกจากนี้ยังเกิดความเสียหายขึ้นในแถบเทือกเขาแอเพนไนน์ โดยนับเหตุดินถล่มได้กว่า 300 ครั้งในพื้นที่ 4 จังหวัด[19] ประชาชนจำนวนกว่า 50,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่[20][21] โดยกว่า 4,800 คนในจำนวนนี้ต้องใช้โรงแรมและโรงฝึกพลศึกษาที่หน่วยงานท้องถิ่นกำหนดไว้ให้เป็นที่พักพิงชั่วคราว[22]

พายุสลายตัวไปในช่วงบ่ายของวันที่ 17 พฤษภาคม[23] อย่างไรก็ตาม ก็ยังเกิดเหตุอุทกภัยอื่น ๆ ขึ้นในวันถัดมาเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เมืองลูโก (ใกล้กับเมืองราเวนนา) ถูกน้ำไหลเข้าท่วมทั้งเมืองในช่วงเช้าของวันที่ 18 พฤษภาคม[22][24] ส่วนประชาชนในเมืองรุสซีซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันต้องอพยพออกไปในวันที่ 19 พฤษภาคม เนื่องจากน้ำที่เอ่อล้นคลองชลประทานเอมีเลีย-โรมัญญา[25][26] ในขณะเดียวกัน ฝนเริ่มตกอีกครั้งในวันที่ 19 พฤษภาคม[27] และวันที่ 20 พฤษภาคม การเตือนภัยในพื้นที่ราเวนนายังคงอยู่ในระดับสูง โดยมีการอพยพประชาชน 36,000 คนออกจากพื้นที่ไปแล้ว[28][29]

ผลกระทบ[แก้]

พายุมิเนอร์วาเหนืออิตาลีในวันที่ 16 พฤษภาคม

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม สเตฟาโน โบนัชชีนี ประธานแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา แถลงว่า "ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกลงมามากกว่า 300 มิลลิเมตร" และระบุว่าอุทกภัยครั้งนี้เป็น "ภัยพิบัติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"[30] ในเวลาต่อมาโบนัชชีนียังเปรียบเทียบผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้กับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญา พ.ศ. 2555 โดยระบุว่าถึงแม้ความเสียหายจากอุทกภัยอาจจะน้อยกว่า แต่ก็ยังคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านยูโร[22]

ลูกา แมร์กัลลี ประธานสมาคมอุตุนิยมวิทยาอิตาลี ระบุว่า "สถิติ 2 รายการได้ถูกทำลายในเวลา 15 วันในแคว้นเดียวกัน เหตุการณ์แบบที่เกิดในวันที่ 2 พฤษภาคม อาจเกิดขึ้นครั้งเดียวในรอบศตวรรษ แต่กลายเป็นว่าเหตุการณ์แบบเดียวกันนั้นได้เกิดขึ้นอีกในพื้นที่เดียวกันในอีก 15 วันให้หลัง"[9] ระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางไรราดีโอ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 จิลแบร์โต ปีเกตโต ฟราติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่ารัฐบาลอิตาลีจะประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่ทั้งหมดที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม เป็นต้นไป[21][22][31] การตัดสินใจซึ่งรอการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากกระทรวงเกษตรครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้แรงงานในไร่นาเข้าถึงการเยียวยาและมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น[21] จากการให้สัมภาษณ์คราวเดียวกัน ปีเกตโต ฟราติน ประกาศใช้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจแห่งชาติซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที โดยระงับการชำระภาษีและสัญญาเงินกู้สำหรับประชาชนและธุรกิจทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย[21][22] นอกจากนี้เขายังเกริ่นถึงการใช้แผนปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับชาติ โดยยอมรับถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความถี่ที่เพิ่มขึ้นของภัยพิบัติทางธรรมชาติในอิตาลีและทั่วโลก[21][31]

งานกิจกรรมหลายงานในแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญาถูกยกเลิกหรือเลื่อนการจัดออกไปเนื่องจากเหตุอุทกภัย ในเขตมหานครโบโลญญา ถนนหลายสายถูกปิดหรือใช้การไม่ได้[32] กิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมทางวัฒนธรรมทั้งหมดถูกยกเลิกโดยประชาชนได้รับการสนับสนุนให้ทำงานจากที่บ้าน[33] เทศกาลวิ่งเพื่อการกุศล "สตราโบโลญญา" ประจำปีของเมืองก็ถูกเลื่อนออกไปเช่นกัน[34]

ปฏิกิริยา[แก้]

ภาพถ่ายดาวเทียมแลนด์แซต 8 แสดงให้เห็นตะกอนน้ำท่วมที่ไหลลงสู่ทะเลเอเดรียติกเมื่อวันที่ 4 พฤษภาม

ในช่วงเย็นของวันที่ 16 พฤษภาคม มัตเตโอ ซัลวีนี รองนายกรัฐมนตรีอิตาลีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง โพสต์ทวีตเชื่อมโยงผลกระทบอันน่าสลดใจของอุทกภัยกับความพ่ายแพ้ของเอซี มิลาน (ทีมที่เขาสนับสนุน) ต่ออินเตอร์มิลานในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกรอบรองชนะเลิศ โดยเขียนว่า "ขออุทิศหัวใจและความมุ่งมั่นแด่ชาวเอมีเลีย-โรมัญญาที่กำลังสู้กับน้ำและโคลน ส่วนเอซี มิลาน ที่ไม่มีใจ ไม่มีความมุ่งมั่น และไม่มีหัวคิดนั้นไม่คู่ควรแม้แต่การนึกถึง"[35][36][37] ภายหลังซัลวีนี (ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการเหตุฉุกเฉินเนื่องจากตำแหน่งทางการเมืองของเขา)[36] ได้ลบทวีตดังกล่าว แต่ก็ยังถูกวิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากความไร้รสนิยมและการขาดความเห็นอกเห็นใจอย่างเห็นได้ชัดของเขา[35][36][37]

สมาชิกบางคนของพรรคชั้นนำของประเทศในเวลานั้นอย่างพรรคพี่น้องอิตาลี รวมถึงหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาอย่าง ลีเบโร และ ลาเวรีตะ กล่าวหาว่ารัฐบาลแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญาซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปไตยนั้นมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อเหตุอุทกภัย เนื่องจากจัดการบำรุงรักษาตลิ่งลำน้ำเพื่อบรรเทาความเสี่ยงได้ไม่ดีพอ[38]

มีเกเล เด ปัสกาเล นายกเทศมนตรีเมืองราเวนนา ระบุว่าอุทกภัยครั้งนี้เป็น "ภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดในรอบศตวรรษ" และระบุว่าคืนระหว่างวันที่ 16 ต่อวันที่ 17 พฤษภาคม เป็น "คืนที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โรมัญญา"[39][40]

โจร์จา เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ออกจากการประชุมสุดยอดของกลุ่ม 7 ในญี่ปุ่นก่อนกำหนดเพื่อกลับมายังอิตาลีและช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อนออกเดินทาง เมโลนีกล่าวขอบคุณผู้นำคนอื่น ๆ ของกลุ่ม 7 ที่เสนอความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบอุทกภัย เธอมีแผนจะไปเยี่ยมพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยหนักที่สุดเมื่อกลับมาถึง[41]

ความพยายามด้านมนุษยธรรม[แก้]

หน่วยกู้ภัยกำลังขุดดินถล่มใกล้เมืองโบโลญญา

ผู้เข้าร่วมปฏิบัติการฉุกเฉินทั่วแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญาประกอบด้วยทรัพยากรบุคคลจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น หน่วยคุ้มครองพลเรือนอิตาลี[22][42] กาชาดอิตาลี[43][44] ตลอดจนกองกำลังทหารและตำรวจต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และ การาบีนีเอรี[45][ต้องการอ้างอิง] เอเนล บริษัทพลังงานของรัฐ ได้จัดตั้งทีมงานที่จะร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในการซ่อมแซมและฟื้นฟูระบบจ่ายไฟฟ้าที่เสียหายจากน้ำท่วม[46][47] มัตเตโอ เลโปเร นายกเทศมนตรีเมืองโบโลญญา แชร์กูเกิลฟอร์มสาธารณะทางสื่อสังคมโดยมุ่งเป้าไปที่อาสาสมัครพลเรือนทุกคนที่ต้องการมีส่วนร่วมในปฏิบัติการเหล่านี้[43][44] ผู้เล่นและเจ้าหน้าที่ของสโมสรฟุตบอลเชเซนาอาสาช่วยเหลือประชาชนในหลายพื้นที่ของเมืองซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุทกภัย[48][49]

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 สภาแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญาได้เปิดบัญชีธนาคารสาธารณะอย่างเป็นทางการเพื่อระดมทุนสำหรับเหตุฉุกเฉินจากทั่วประเทศอิตาลี (ผ่านรหัสไอแบน) และจากต่างประเทศ (ผ่านสวิฟต์)[43][44][50] ผู้บริจาคให้แก่บัญชีการกุศลนี้มีสโมสรฟุตบอลอาชีพอย่างโบโลญญา[51][52] เกรโมเนเซ[51][53] ปาร์มา[51][54] และโมเดนาเป็นต้น[55] กาชาดอิตาลี[43][44] และหน่วยงานท้องถิ่นหลายแห่ง (เช่น สภาเมืองโมเดนา[43] ฟาเอนซา[43] อีโมลา[43] และฟอร์ลิ)[44] ยังจัดการรณรงค์ระดมทุนเพื่อการกุศล ส่วนมูลนิธิกระจกอิตาลีซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐที่สังกัดกลุ่มสื่อเกดี[43][44] และมอนริฟ[43][56] ได้ริเริ่มการรณรงค์อื่น ๆ ขนานกันไป

หมายเหตุ[แก้]

  1. 2 คนจากวันที่ 3 พฤษภาคม และ 14 คนจากวันที่ 16–17 พฤษภาคม

อ้างอิง[แก้]

  1. Povoledo, Elisabetta (17 May 2023). "'Catastrophic' Floods in Italy Leave 8 Dead and Thousands Homeless". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 17 May 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "Severe flooding in Italy kills 2; drought persists". Associated Press. 4 May 2023.
  3. "Alluvione Emilia-Romagna: altre 5 vittime e un disperso nel Ravennate. Lugo e Cervia allagate. In Regione 34mila case senza luce". Il Fatto Quotidiano (ภาษาอิตาลี). 18 May 2023.
  4. "Maltempo in Emilia-Romagna, 8 morti. Una vittima è stata trascinata dalla piena per 20 km". ANSA (ภาษาอิตาลี). 17 May 2023.
  5. Robinson, James (17 May 2023). "Italy flooding: Three dead and thousands evacuated from their homes as rivers burst their banks". Sky News.
  6. Alluvione in Emilia Romagna, il meteorologo: "Mai così in un secolo, è l'evento più grave: questa è la crisi del clima. la Repubblica
  7. Maltempo in Emilia Romagna, bilancio drammatico: otto morti. Una delle vittime trascinata per 20 chilometri. Diecimila evacuati. 21 fiumi esondati, 250 frane. la Repubblica
  8. After Earthquakes and Drought, Floods Devastate Northern Italy. The New York Times
  9. 9.0 9.1 Giuffrida, Angela (2023-05-18). "Death toll mounts in Italy's worst flooding for 100 years". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-05-19.
  10. La conta dei danni. Campi, aziende, strade e turismo: 5 miliardi persi. la Repubblica
  11. L'alluvione in Emilia-Romagna innescata da mesi di siccità. ANSA
  12. "Alluvione in Emilia Romagna, 2 morti: il Cdm delibera lo stato di emergenza. Le notizie di oggi in diretta". Il Resto del Carlino (ภาษาอิตาลี). 17 May 2023.
  13. Acquazzone e grandinata, Porrettana allagata. BolognaToday
  14. Bomba d'acqua su Bologna, e via Saffi si riallaga un'altra volta. Agenzia Dire
  15. "Morti nell'alluvione in Emilia Romagna: 15 vittime, una donna trascinata dall'acqua per 15 chilometri". Il Resto del Carlino (ภาษาอิตาลี). 19 May 2023.
  16. "Alluvione Emilia Romagna, le vittime salgono a 14. Riaperta l'A14 Faenza-Forlì, si transita su una corsia". TGCom24. 19 May 2023.
  17. "I morti per il maltempo in Emilia-Romagna salgono a 9. I titolari di un'impresa agricola, un anziano, una donna tedesca: chi erano le vittime" (ภาษาอิตาลี). Corriere della Sera. 17 May 2023. สืบค้นเมื่อ 17 May 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. Cade nel pozzo e muore annegato, tragedia a San Lazzaro (Bologna). Il Resto del Carlino
  19. Alluvione in Emilia-Romagna, l'Appennino si sgretola: 280 frane, paesi isolati. I sindaci: "Diverse case minacciate dagli smottamenti". la Repubblica
  20. "Emilia Romagna inondata, il numero delle vittime sale a 13. Oltre 20mila gli sfollati". RaiNews (ภาษาอิตาลี). 2023-05-18. สืบค้นเมื่อ 2023-05-19.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 "Cos'è lo stato di calamità naturale che verrà dichiarato in Emilia Romagna". Wired Italia (ภาษาอิตาลี). 2023-05-18. สืบค้นเมื่อ 2023-05-19.
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 22.5 "Alluvione in Emilia-Romagna: continuano i soccorsi". Il Post (ภาษาอิตาลี). 2023-05-19. สืบค้นเมื่อ 2023-05-19.
  23. La situazione maltempo in Emilia Romagna di mercoledì 17 maggio 2023. Fanpage
  24. Alluvione a Lugo, in provincia di Ravenna. La città è inondata, c'è chi prova a lasciare le case. Rai News
  25. Alluvione Emilia-Romagna: trovata a Faenza la 14esima vittima. Nuove evacuazioni a Ravenna. E torna la pioggia. la Repubblica
  26. Il Cer era troppo pieno "Gonfiato dagli altri fiumi". Il Resto del Carlino
  27. Meteo 19 maggio: al via una nuova fase di pioggia, coinvolta purtroppo anche l'Emilia Romagna. Le previsioni nei dettagli. Meteo
  28. Alluvione in Emilia Romagna, cade elicottero di soccorso a Lugo: 4 feriti. Biden: "Condoglianze per le vittime". Allagamenti a Ravenna. la Repubblica
  29. Alluvione in Emilia-Romagna, Ravenna pronta al giorno peggiore: 27 mila evacuati. Le previsioni: al Nord continua a piovere. Open
  30. Alluvione Emilia Romagna, Bonaccini: "Siamo di fronte a eventi catastrofici, mai registrati prima". Fanpage
  31. 31.0 31.1 "Pichetto: 'Verrà deliberato lo stato di calamità per l'Emilia-Romagna'". Agenzia ANSA (ภาษาอิตาลี). 2023-05-18. สืบค้นเมื่อ 2023-05-19.
  32. "Maltempo, allerta rossa 16 e 17 maggio". www.comune.bologna.it (ภาษาอิตาลี). สืบค้นเมื่อ 2023-05-17.
  33. D-sign.it. "Emergenza maltempo, confermata allerta rossa anche per domani. Scuole chiuse e smart working – Comune di Bologna – Ufficio Stampa". comunicatistampa.comune.bologna.it (ภาษาอิตาลี). สืบค้นเมื่อ 2023-05-17.
  34. "StraBologna 2023 rinviata per maltempo, la Uisp alza bandiera bianca. Si farà il 29 ottobre". Il Resto del Carlino (ภาษาอิตาลี). สืบค้นเมื่อ 2023-05-17.
  35. 35.0 35.1 "Alluvione e sconfitta del Milan, il tweet cancellato da Salvini" (ภาษาอิตาลี). ANSA. 17 May 2023. สืบค้นเมื่อ 17 May 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  36. 36.0 36.1 36.2 "Il tweet cancellato di Salvini in cui accostava gli allagamenti in Emilia-Romagna al Milan". Il Post (ภาษาอิตาลี). 17 May 2023. สืบค้นเมื่อ 18 May 2023.
  37. 37.0 37.1 "Salvini shock: "Il mio cuore con chi lotta con il fango. Un Milan senza grinta non merita neanche un pensiero". Poi cancella il tweet". La Repubblica (ภาษาอิตาลี). 17 May 2023. สืบค้นเมื่อ 17 May 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  38. "Esondazioni, Salzano (FdI): "Scarsa manutenzione degli argini, Regione ammetta le responsabilità"". RavennaToday (ภาษาอิตาลี). 17 May 2023. สืบค้นเมื่อ 18 May 2023.
  39. "At least nine killed by heavy flooding in Italy, as river levels continue to rise". CNN. 17 May 2023. สืบค้นเมื่อ 21 May 2023.
  40. "Italy floods leave 13 dead and force 13,000 from their homes". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-05-18. สืบค้นเมื่อ 2023-05-20.
  41. "Italy: over 36,000 people displaced by floods as Giorgia Meloni departs G7 summit early". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-05-21. สืบค้นเมื่อ 2023-05-21.
  42. "Priolo al prefetto: "Sorpresi dalla decisione di organizzare ugualmente il concerto"". Il Resto del Carlino (ภาษาอิตาลี). 2023-05-19. สืบค้นเมื่อ 2023-05-19.
  43. 43.0 43.1 43.2 43.3 43.4 43.5 43.6 43.7 43.8 "Come aiutare le zone colpite dall'alluvione in Emilia-Romagna". Il Post (ภาษาอิตาลี). 18 May 2023. สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.
  44. 44.0 44.1 44.2 44.3 44.4 44.5 Zennaro, Chiara (18 May 2023). "Come possiamo aiutare le persone colpite dall'alluvione in Emilia Romagna". Wired Italia (ภาษาอิตาลี). สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.
  45. "Maltempo: Difesa in campo con oltre 1200 militari, 12 elicotteri e 55 natanti". www.difesa.it (ภาษาอิตาลี). 19 May 2023. สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.
  46. "Enel in prima linea per l'Emilia Romagna". Enel (ภาษาอิตาลี). 19 May 2023. สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.
  47. "Alluvione in Emilia Romagna, Enel mette in campo una task force". Il Resto del Carlino (ภาษาอิตาลี). 19 May 2023. สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.
  48. "I giocatori del Cesena a spalare il fango e a svuotare cantine dopo l'alluvione - VIDEO". Corriere Romagna (ภาษาอิตาลี). 19 May 2023. สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.
  49. "Per le vie della nostra città, tra la nostra gente". Cesena FC (ภาษาอิตาลี). 19 May 2023. สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.
  50. "Maltempo. Un aiuto per l'Emilia-Romagna, al via la raccolta fondi per l'emergenza alluvione: la Regione ha attivato un conto corrente per le donazioni". Agenzia per la sicurezza territoriale e la protezione civile (ภาษาอิตาลี). 19 May 2023. สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.
  51. 51.0 51.1 51.2 Dalla Vite, Matteo (19 May 2023). "Cremonese e Bologna per le famiglie colpite dall'alluvione. Il Parma devolve 100mila euro". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี). สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.
  52. "Il Bologna aderisce a "Un aiuto per l'Emilia-Romagna"". Bologna FC (ภาษาอิตาลี). 18 May 2023. สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.
  53. ""Un aiuto per l'Emilia Romagna": dalla Cremonese 50 mila euro alle vittime dell'alluvione". U.S. Cremonese (ภาษาอิตาลี). 19 May 2023. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-19. สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.
  54. "PARMA CALCIO: 100MILA EURO PER AIUTARE L'EMILIA ROMAGNA". Parma Calcio 1913 (ภาษาอิตาลี). 19 May 2023. สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.[ลิงก์เสีย]
  55. "Modena-SudTirol: incasso per gli alluvionati". Modena FC (ภาษาอิตาลี). 18 May 2023. สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.
  56. "Un aiuto per l'Emilia Romagna: il gruppo Monrif lancia la raccolta fondi per gli alluvionati". Quotidiano Nazionale (ภาษาอิตาลี). 19 May 2023. สืบค้นเมื่อ 20 May 2023.