อี อี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อี อี
Sitting Yi I.jpg
ชื่อเกาหลี
ฮันกึล
ฮันจา
อาร์อาร์I I
เอ็มอาร์Yi I
นามปากกา
ฮันกึล
ฮันจา
อาร์อาร์Yulgok
เอ็มอาร์Yulkok
ชื่อสุภาพ
ฮันกึล
ฮันจา
อาร์อาร์Sukheon
เอ็มอาร์Sukhŏn

อี อี (เกาหลี이이[1][2]; ฮันจา李珥; 26 ธันวาคม ค.ศ. 1536 – 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1584) นามปากกาว่า ยุลกก (Yulgok, เกาหลี율곡; ฮันจา栗谷) ซึ่งแปลว่า "หุบเขาแห่งลูกเกาลัด" เขาเป็นนักปราชญ์ลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) คนสำคัญของเกาหลีในสมัยราชวงศ์โชซ็อน[3] ทั้งเป็นนักการเมืองที่เคารพนับถือ[4] แนวคิดและผลงานของอี อี นั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการนักปราชญ์ลัทธิขงจื๊อใหม่ รวมถึงระบบราชการและแนวคิดทางการเมืองของอาณาจักรโชซอนนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สิบหกเป็นต้นมา

อี อี เป็นสานุศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของบัณฑิตโจ กวังโจ และยังเป็นนักปราชญ์ร่วมสมัยกันกับอี ฮวัง นักปราชญ์ลัทธิขงจื๊อใหม่คนสำคัญอีกท่านของราชวงศ์โชซอน ซึ่งอาวุโสกว่าอีกด้วย[5]

ประวัติ[แก้]

อี อี เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1536 ที่เมืองคังนึง จากมณฑลคังวอนแห่งอาณาจักรโชซอน บิดาของเขาเป็นเสนาบดีลำดับสี่ (จวาชันซอน; เกาหลี: 좌찬성) ส่วนมารดาของเขาคือ ชิน ซาอิมดัง (เกาหลี신사임당; ฮันจา申師任堂) ศิลปินนักวาดภาพหญิงผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง (ทั้งอี อี และมารดา ได้รับเกียรติปรากฏอยู่บนธนบัตร 5000 วอนและ 50,000 วอนในปัจจุบันอีกด้วย) เขาเป็นหลานชายของอี กี (เกาหลี이기; ฮันจา李芑) ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีในช่วง ค.ศ. 1549-1551 กล่าวกันว่าเมื่ออายุได้ 7 ขวบ เขาก็ร่ำเรียนคัมภีร์ลัทธิขงจื๊อจนเจนจบ และผ่านการสอบเป็นข้าราชการฝ่ายบุ๋นตั้งแต่อายุเพียง 13 ปีเท่านั้น ต่อมาเมื่ออายุ 16 ปี มารดาของเขาได้ถึงแก่กรรมลง ทำให้เขาเลือกใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษ ณ ภูเขาคึมกังถึง 3 ปีเพื่อศึกษาหลักธรรมของพุทธศาสนา ต่อมาเมื่ออายุ 20 ปีจึงออกจากภูเขาและหันมาศึกษาคำสอนของลัทธิขงจื๊อ[6][7]

อี อี แต่งงานเมื่ออายุ 22 ปี และได้เดินทางไปเข้าพบกับปรมาจารย์อี ฮวัง ที่โทซานในปีต่อมา ภายหลังเขาสอบรับราชการผ่านได้คะแนนสูงสุดจากการเขียนความเรียงเรื่อง "ชอนโดแช็ก" หรือ "ตำราว่าด้วยวิถีแห่งสวรรค์" (เกาหลี천도책; ฮันจา天道策) ซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะวรรณกรรมชิ้นเอกอย่างกว้างขวาง เนื้อหาของงานเขียนชิ้นนี้นั้นว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และปรัชญาลัทธิขงจื๊อในด้านการเมือง ทั้งยังแสดงถึงความรู้ความเข้าใจในปรัชญาลัทธิเต๋าของเขาเองอย่างลึกซึ้งอีกด้วย[8] อีกทั้งเขายังได้สอบผ่านได้คะแนนสูงสุดติดต่อกันถึง 9 ครั้ง และเมื่ออายุได้ 26 ปี บิดาของอี อี ได้ถึงแก่กรรมลง[4]

ส่วนตัวอี อี นั้นเมื่ออายุ 29 ปี ได้รับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ มากมาย ในปี ค.ศ. 1568 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "ซอจังกวาน" หรือ "เจ้าหน้าที่ฝ่ายเอกสารของกรมพิธีการ" (เกาหลี서장관; ฮันจา書狀官) ติดตามขบวนราชทูตโชซอนไปยังจักรวรรดิจีนในสมัยราชวงศ์หมิงอีกด้วย ส่วนเมื่ออายุได้ 34 อี อี ได้มีส่วนในการเขียนบันทึกจดหมายเหตุรายวันของราชสำนักในรัชสมัยพระเจ้ามยองจงแห่งโชซอน โดยเขียนในส่วนของทงโฮมุนดัพ ซึ่งเป็นบันทึก 11 ความเรียงเกี่ยวกับนโยบายทางการเมืองการปกครองที่เขาได้เสนอไว้ว่าการปกครองที่ทรงธรรมนั้นควรเป็นอย่างไร[9] ด้วยเหตุที่รับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน ทำให้อี อี เป็นไว้วางพระทัยของพระราชาเป็นอย่างมาก เขาเป็นหนึ่งในขุนนางคนสำคัญคนหนึ่งในฝ่ายการเมืองของราชสำนัก ต่อมาเมื่ออายุได้ 40 ปี เขาได้ทูลถวายงานเขียนและฎีกามากมายต่อราชสำนัก แต่กลับล้มเหลวเมื่อเกิดความขัดแย้งของการเมืองในราชสำนักขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1576 ความพยายามปฏิรูปการเมืองของเขาจึงหมดความหมายลงและทำให้เขาเดินทางกลับบ้านเกิดไป โดยระหว่างที่พำนักที่บ้านเกิดนั่นเอง เขาได้ใช้เวลาไปกับการสั่งสอนเหล่าสานุศิษย์และได้เขียนตำรับตำราออกมามากมาย[4]

ภายหลังเมื่อกลับมารับราชการอีกครั้งตอนอายุ 45 ปี อี อี ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีและเจ้ากรมหลายตำแหน่ง ระหว่างนี้เขาก็ได้เขียนงานเขียนมากมายที่บันทึกถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่โหดร้ายรุนแรงในช่วงเวลานั้นด้วยจุดประสงค์ที่จะยับยั้งมันให้เบาบางลงได้บ้าง อย่างไรก็ดีในรัชสมัยของพระเจ้าซอนโจนั้น พระองค์ไม่ค่อยใส่ใจและบอกปัดแนวคิดของอี อี อยู่บ่อยครั้ง ทำให้อี อี ลำบากใจมากขึ้นในการพยายามจะเป็นกลางทางการเมืองในราชสำนักต่อไป เขาจึงได้ทูลลาออกจากราชการในปี ค.ศ. 1538 และปีต่อมาก็ถึงแก่กรรมลง[4]

มีเรื่องเล่ากันว่า ตอนยังมีชีวิตอยู่นั้น อี อี ได้สร้างกระโจมไฟเตือนภัยไว้ที่ริมแม่น้ำอิมจิน (Imjin River) และสั่งให้ลูกหลานของเขาจุดไฟสัญญาณเพื่อเอาไว้เตือนพระราชาหากต้องทรงลี้ภัยไปยังทางเหนือจากกรุงฮันยาง (โซล) เพื่อให้ทรงเตรียมไปหลบในป้อมปราการ ภายหลังกระโจมไฟดังกล่าวได้ถูกยึดครองในช่วงสงครามอิมจิน (การบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2135–2141))[10]

คำสอน[แก้]

อี อี ไม่ได้เป็นเพียงนักปรัชญาเท่านั้น แต่ยังเป็นนักปฏิรูปการเมืองอีกด้วย ในทางปรัชญาแล้ว เขาไม่ได้เห็นด้วยเสียทั้งหมดกับแนวคิดทวินิยมของลัทธิขงจื๊อใหม่ (dualistic Neo-Confucianism) ที่อี ฮวังสมาทาน สำนักเรียนลัทธิขงจื๊อของเขาเน้นคำสอนที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมมากกว่าคำสอนเรื่องจิตภายใน วิธีการทางปรัชญาของเขาจึงมีลักษณะที่เป็นไปในทางเน้นการปฏิบัติโดยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ภายนอก (มิใช่ภายในจิต) มากกว่า[11] ในขณะที่อี ฮวังนั้นท้อใจอยู่หลายครั้งหลายครากับการเมืองภายในราชสำนัก อี อี กลับเป็นขุนนางที่มุ่งมั่นในทางการเมือง เขาเชื่อว่าการเมืองและการทำงานในระบบราชการคือส่วนสำคัญในค่านิยมแบบขงจื๊อ อี อี เน้นย้ำว่า การเรียนรู้เพื่อจะเป็นปราชญ์และการอบรมบ่มเพาะตนคือรากฐานของระบบการปกครองที่เหมาะสมยิ่ง[6][7]

อี อี ยังมีชื่อเสียงในด้านความสุขุมรอบคอบในด้านความมั่นคงของอาณาจักรอีกด้วย เขาเคยนำเสนอร่างนโยบายที่ให้เตรียมกองทัพไว้ป้องกันการรุกรานจากญี่ปุ่นซึ่งเขาเชื่อว่าจะมาบุกโจมตีเมื่อไหร่ก็ได้ ข้อเสนอของเขาถูกที่ประชุมเสนาบดีปฏิเสธไป และภายหลังข้อกังวลของเขาในเรื่องนี้ก็ได้รับการยืนยันเพียงไม่นานหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว ในรูปของ การบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2135–2141) นั่นเอง[7]

ผลงาน[แก้]

งานเขียนของอี อี มีอยู่ถึง 193 ชิ้น และได้รับการตีพิมพ์ถึง 276 ครั้งใน 6 ภาษา และมีหอสมุดถึง 2,236 แห่งที่มีผลงานเหล่านี้ ต่อไปนี้คือรายชื่อผลงานอย่างคร่าว ๆ ของเขา[12]

  • ปุจฉา-วิสัชนา ณ ทะเลสาบตะวันออก (เกาหลี동호문답; ฮันจา東湖問答) เป็นบทความ 11 ชิ้นว่าด้วยการปฏิรูปทางการเมือง[9]
  • ฎีกาพันอักษร (เกาหลี만언봉사; ฮันจา萬言封事) เป็นคำสอนลัทธิขงจื๊อว่าด้วยการร่ำเรียน การอบรมตนเอง และการนำคำสอนไปประยุต์ใช้ในระบบราชการ[13]
  • แก่นแท้ในการร่ำเรียนของปวงปราชญ์ (เกาหลี성학집요; ฮันจา聖學輯要) ว่าด้วยมูลฐานหลักจริยศาสตร์ การอบรมตนเอง และศิลปะในการปกครองบ้านเมืองตามหลักลัทธิขงจื๊อ[14]
  • เคล็ดลับในการขจัดความไม่รู้ (เกาหลี격몽요결; ฮันจา擊蒙要訣) ว่าด้วยคำแนะนำอย่างเป็นระบบในการร่ำเรียน[15]
  • บันทึกคำสอนประจำวันต่อหน้าพระพักตร์ (เกาหลี경연일기; ฮันจา經筵日記) เป็นบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองในราชสำนัก[16]
  • สรรพ์นิพนธ์ยุลกกฉบับสมบูรณ์ (เกาหลี율곡전서; ฮันจา栗谷全書) เป็นงานที่รวมรวมผลงานของอี อี ภายหลังมรณกรรมของเขา[17]

สิ่งสืบทอด[แก้]

ภาพของอี อี บนธนบัตร 5,000 วอนของเกาหลีใต้

Yulgongno ถนนใจกลางโซล ตั้งชื่อตามเขา[18] และมีการใส่ภาพของเขาในธนบัตร 5,000 วอน[19]

อ้างอิง[แก้]

  1. เดิมเขียนเป็น 니이(Ni Yi)
  2. "Joya hoetong". Jangseogak Royal Archives. สืบค้นเมื่อ 2020-02-14.
  3. Daehwan, Noh. "The Eclectic Development of Neo-Confucianism and Statecraft from the 18th to the 19th Century," เก็บถาวร มิถุนายน 14, 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Korea Journal. Winter 2003.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 (ในภาษาเกาหลี) Yi I at Doosan Encyclopedia
  5. Daehwan, Noh. "The Eclectic Development of Neo-Confucianism and Statecraft from the 18th to the 19th Century," Korea Journal. Winter 2003.
  6. 6.0 6.1 (เกาหลี) Yi I เก็บถาวร 2016-12-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at The Academy of Korean Studies
  7. 7.0 7.1 7.2 (เกาหลี) [1] เก็บถาวร 2011-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at Encyclopedia of Korean Culture
  8. Lee Eunjik (이은직) translated by Jeong Hongjun (정홍준), Great Joseon Masters Vol.2 (조선명인전 2) p35, Ilbit Publishing, Seoul, 2005. ISBN 89-5645-087-0
  9. 9.0 9.1 (เกาหลี) Dongho Mundap at Doosan Encyclopedia
  10. Choi Beomseo (최범서), Unofficial History of Joseon Vol. 2 p52, Garam Publishing, Seoul, 2003. ISBN 89-8435-143-1
  11. Lee Hyun-hee, Park Sung-soo, Yoon Nae-hyun, translated by The Academy of Korean Studies, New History of Korea p393, Jimoondang, Paju, 2005. ISBN 89-88095-85-5
  12. WorldCat Identities: Yi, I 1536-1584
  13. (เกาหลี) Maneon Bongsa at Doosan Encyclopedia
  14. (เกาหลี) Seonhak Jibyo at Doosan Encyclopedia
  15. (เกาหลี) Gyeokmong Yogyel at Doosan Encyclopedia
  16. (เกาหลี) Gyeongyeon Ilgi at Doosan Encyclopedia
  17. (เกาหลี) Yulgok Jeonseo at Doosan Encyclopedia
  18. (ในภาษาเกาหลี) Yulgongno at Doosan Encyclopedia
  19. (ในภาษาเกาหลี) Money bill designs at Naver dictionary

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]