ข้ามไปเนื้อหา

อังคาร ชมพูพวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อังคาร ชมพูพวง
เกิดจ.อ.อังคาร ชมพูพวง
20 มกราคม พ.ศ. 2524 (43 ปี)
สถิติเหรียญโอลิมปิก
มวยสากลสมัครเล่น
เอเชียนเกมส์
เหรียญเงิน - รองชนะเลิศ กาตาร์ 2006 เวลเตอร์เวท
ซีเกมส์
เหรียญทอง - ชนะเลิศ โคราช 2007 เวลเตอร์เวท
สถิติเหรียญโอลิมปิก
วูซู
เอเชียนเกมส์
เหรียญทอง - ชนะเลิศ ปูซาน 2002 ฉางฉวน (70 ก.ก.)

จ่าอากาศเอก อังคาร ชมพูพวง ชื่อเล่น กี้ เกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2524 ที่ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย เดิมเคยชกมวยไทยมาก่อนในชื่อ "ผจญศึก ลูกพระบาท" เคยได้แชมป์ในรุ่นเวลเตอร์เวท ของเวทีลุมพินี

จากนั้นได้สร้างชื่อครั้งแรกจากการเป็นนักกีฬาวูซูทีมชาติที่ได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2002 ที่ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ จากนั้นได้เปลี่ยนมาชกมวยสากลสมัครเล่นในรุ่นเวลเตอร์เวทจนติดทีมชาติแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2006 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ และมีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ถ้าได้เหรียญทองอีก ก็จะเป็นนักกีฬาคนแรกในประวัติศาสตร์ของทวีปเอเชียที่ได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์ถึง 2 ครั้ง จาก 2 ประเภทกีฬา แต่อังคารก็ทำได้เพียงเหรียญเงิน

จากนั้นได้เหรียญทองจากการแข่งขันซีเกมส์ 2007 ที่จังหวัดนครราชสีมา ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ อังคารได้มีโอกาสติดทีมชาติเข้าแข่งขันโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในรุ่นมิดเดิลเวท แทนที่สุริยา ปราสาทหินพิมาย เจ้าของเหรียญทองแดงในรุ่นนี้จากการแข่งขันโอลิมปิก 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ที่ต้องถอนตัวไปเนื่องจากบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ

และในการแข่งขันครั้งนี้ ในรอบแรกอังคารสามารถเอาชนะ โช เดือก จิน นักมวยชาวเกาหลีใต้ไปได้ 9-3 หมัด และนับเป็นคนแรกในทีมมวยสากลสมัครเล่นไทย แต่ในรอบสอง อังคารต้องตกรอบเพราะพ่ายแพ้ให้แก่ วิเจนเดอร์ กุมาร นักมวยชาวอินเดียไป 13-3 หมัด เนื่องจากรูปร่างที่สู้ไม่ได้

ต่อมาอังคารจึงหันกลับไปชกมวยไทยอีกครั้ง[1] และเกือบถึงขั้นเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 ได้ไปชกมวยเค-วัน ที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ในแบบมวยรอบคัดเลือกผู้ชนะเพื่อที่จะเข้ารอบชิงชนะเลิศที่ประเทศญี่ปุ่น ในรอบชิงดำ อังคารปักหลักแลกหมัดกับ คาร์โก้ ดราโก้ นักมวยชาวเนเธอร์แลนด์ เชื้อสายอาร์เมเนีย อย่างดุเดือด ก่อนจะแพ้คะแนนไปหวุดหวิด หลังลงเวทีเกิดอาการเจ็บหน้าอกจนทรุด แต่อังคารได้ปฏิเสธที่จะได้รับการตรวจจากแพทย์ และยังแข็งใจเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้ เมื่อกลับมาถึงแล้ว ร่างกายทนไม่ไหวจนสลบล้มลงไป ญาติ ๆ ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลลำนารายณ์ แพทย์ได้ทำการเอ็กซ์เรย์ พบว่าปอดฉีกและมีเลือดคั่งในปอด ต้องผ่าตัดด่วนเอาเลือดที่คั่งออก และนำส่งเข้าห้องไอซียูทันที [2]

ในส่วนของการชกรายการนี้ จึงเป็น เข้ม ศิษย์สองพี่น้อง ที่ได้รับสิทธิชกแทน[3]

ผลงาน

[แก้]
  • เหรียญทองเอเซียนเกมส์ พ.ศ. 2545 ประเทศเกาหลีใต้ (วูซู)
  • เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ พ.ศ. 2549 ประเทศกาตาร์ (มวยสากลสมัครเล่น)
  • เหรียญทองซีเกมส์ พ.ศ. 2550 ประเทศไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]