ข้ามไปเนื้อหา

อวัยวะเพศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อวัยวะสืบพันธุ์สตรี)
อวัยวะเพศของสาหร่ายไฟ แสดง antheridia เพศผู้ (สีแดง) และ archegonia เพศเมีย (สีน้ำตาล)

อวัยวะเพศ (อังกฤษ: sex organ) หรือ อวัยวะสืบพันธุ์ (อังกฤษ: reproductive organ, primary sex organ, primary sexual characteristic) เป็นโครงสร้างทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อน และเป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์ อวัยวะที่เห็นได้จากด้านนอกในเพศหญิงและชายเรียกว่าเป็น อวัยวะเพศปฐมภูมิ หรือ อวัยวะสืบพันธุ์ (genitals, genitalia) ส่วนอวัยวะภายในเรียกว่าเป็น อวัยวะเพศทุติยภูมิ หรือ อวัยวะสืบพันธุ์ภายใน ลักษณะที่เริ่มเกิดขึ้นในวัยเริ่มเจริญพันธุ์ เช่น ขนหัวหน่าวในผู้หญิงและผู้ชาย และหนวดในผู้ชาย เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศทุติยภูมิ (secondary sex characteristics)

มอสส์, เฟิร์น และพืชบางชนิดที่คล้ายกันมีอับเซลล์สืบพันธุ์ (gametangia) เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแกมีโทไฟต์ (gametophyte)[1] ดอกไม้ของพืชดอกสร้างละอองเรณูและเซลล์ไข่ ทว่าอวัยวะเพศอยู่ข้างในแกมีโทไฟต์ภายในละอองเรณูและออวุล (ovule)[2] พืชจำพวกสนก็ผลิตโครงสร้างการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศข้างในแกมีโทไฟต์ภายในลูกสนและละอองเรณู โดยลูกสนและละอองเรณูเองไม่ใช่อวัยวะเพศ

คำศัพท์

[แก้]

ศัพท์ภาษาละตินคำว่า genitalia หรือ genitals ในภาษาอังกฤษถูกใช้บรรยายอวัยวะเพศที่มองเห็นได้จากภายนอกหรือ อวัยวะเพศปฐมภูมิ ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหมายถึงองคชาตกับถุงอัณฑะของเพศชาย และคลิตอริสกับโยนีของเพศหญิง

อวัยวะเพศอื่นที่ซ่อนอยู่ถูกเรียกว่า อวัยวะเพศทุติยภูมิ หรือ อวัยวะสืบพันธุ์ภายใน อวัยวะที่สำคัญที่สุดได้แก่ต่อมบ่งเพศ โดยเฉพาะอัณฑะในเพศชายและรังไข่ในเพศหญิง ต่อมบ่งบอกเพศเป็นอวัยวะเพศที่แท้จริงซึ่งผลิตเซลล์สืบพันธุ์บรรจุดีเอ็นเอที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม อวัยวะเหลานี้ยังผลิตฮอร์โมนหลักส่วนใหญ่ที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเพศ และควบคุมอวัยวะเพศและพฤติกรรมทางเพศอื่น

ในสัตววิทยาทั่วไป ด้วยความหลากหลาบของรูปร่างหน้าตาอวัยวะและพฤติกรรมการร่วมเพศ อวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ถูกให้ความหมายว่าเป็น "โครงสร้างเพศผู้ที่ถูกสอดใส่เข้าไปในเพศเมียหรือถูกค้างไว้ใกล้รูเปิด (gonopore) ระหว่างการถ่ายทอดน้ำอสุจิ" ส่วนอวัยวะสืบพันธุ์เมียถูกให้ความหมายว่า "ส่วนของระบบสืบพันธุ์เพศเมียที่สัมผัสกับอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้โดยตรงหรือสัมผัสกับผลผลิตเพศชาย (น้ำอสุจิ, ถุงน้ำเชื้อ) ระหว่างหรือหลังการร่วมเพศ"[3]

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

[แก้]

อวัยวะภายนอกและภายใน

[แก้]

ส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งเห็นได้จากภายนอกได้แก่ ถุงอัณฑะและองคชาต สำหรับผู้หญิง ได้แก่ โยนี (แคม, คลิตอริส และอื่น ๆ) รวมถึง ช่องคลอด

ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสายรก เพศเมียมีรูเปิดของอวัยวะสืบพันธุ์สองรู (ช่องคลอดและท่อปัสสาวะ) ส่วนเพศผู้มีเพียงแค่รูเดียวคือท่อปัสสาวะ[4] อวัยวะสืบพันธุ์ทั้งเพศผู้และเมียมีปลายประสาทจำนวนมากส่งผลให้รู้สึกดีเมื่อถูกสัมผัส[5][6] ในสังคมมนุษย์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ถือคติอนุรักษนิยม มองการแสดงอวัยวะเพศว่าเป็นการแสดงลามกอนาจาร[7]

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมีอวัยวะเพศดังนี้:

เพศชาย เพศหญิง
รูปอวัยวะเพศชายภายนอก
รูปอวัยวะเพศหญิงภายนอก (หลังโกนขนหัวหน่าว)

พัฒนาการ

[แก้]

ในพัฒนาการก่อนเกิด (prenatal development) ทั่วไป อวัยวะเพศชายและหญิงมาจากโครงสร้างเดียวกันระหว่างช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ต่อมาจึงค่อยแยกเป็นเพศชายหรือหญิง ยีน SRY (sex-determining region) หรือจุดบอกเพศในโครโมโซมวายเป็นปัจจัยกำหนดให้สิ่งมีชีวิตแสดงลักษณะทางเพศชายแทนที่จะเป็นเพศหญิง (testis determing factor) ต่อมบ่งเพศจะพัฒนาต่อไปเป็นรังไข่หากไม่มีปัจจัยกำหนดให้เปลี่ยนเป็นเพศชาย

ต่อมาการพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์ภายในและภายนอกกำหนดโดยฮอร์โมนสร้างจากต่อมบ่งเพศของทารกในครรภ์ (รังไข่หรืออัณฑะ) ส่งผลให้เซลล์ตอบสนองตาม อวัยวะเพศของทารกในครรภ์ตอนแรกมีลักษณะเหมือนอวัยวะเพศหญิง โดยมี "รอยพับอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะ (urogenital fold)" คู่หนึ่งและท่อปัสสาวะอยู่ด้านหลังส่วนที่ยื่นออกมาตรงกลาง หากทารกมีอัณฑะ และหากอัณฑะสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และหากเซลล์ของอวัยวะเพศตอบรับต่อเทสโทสเตอโรน รอยพับจะขยายตัวและเชื่อมต่อกันในเส้นผ่ากลางกลายเป็นถุงอัณฑะ ส่วนที่ยื่นออกมาขยายใหญ่ข้นและตั้งตรงกลายเป็นองคชาต ส่วนขยายอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะด้านในโตขึ้นห่อรอบองคชาต และเชื่อมต่อกันตรงเส้นกลางเป็นท่อปัสสาวะ

แต่ละส่วนของอวัยวะเพศในเพศหนึ่งมีคู่เหมือนกำเนิดเดียวกันในอีกเพศ ขั้นตอนทั้งหมดของการแยกเพศรวมถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศทุติยภูมิ เช่น รูปแบบของขนหัวหน่าวและขนบนใบหน้า รวมถึงหน้าอกของผู้หญิงในวัยเริ่มเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ยังเริ่มมีความแตกต่างในโครงสร้างสมอง ทว่าอาจไม่ได้กำหนดพฤติกรรม

ภาวะเพศกำกวมเป็นพัฒนาการของอวัยวะเพศที่อยู่ระหว่างเพศหญิงและเพศชาย เมื่อทารกเกิดมา ผู้ปกครองต้องทำการตัดสินใจว่าจะปรับแต่งอวัยวะเพศหรือไม่, จัดให้เด็กเป็นเพศหญิงหรือชาย หรือปล่อยอวัยวะเพศไว้อย่างนั้น ผู้ปกครองบางคนอาจให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจ หากพวกเขาตัดสินใจที่จะปรับแต่งอวัยวะเพศ พวกเขามีโอกาส 50% ที่จะเลือกตรงกับเอกลักษณ์ทางเพศ (gender identity) ของเด็ก หากพวกเขาเลือกผิดเพศ เด็กอาจแสดงอาการอยากแปลงเพศ และอาจทำให้เด็กมีชีวิตที่ยากลำบากจนกว่าจะแก้ปัญหา[8]

ด้วยความแตกต่างระหว่างโครงสร้างและการใช้งานของอวัยวะเพศทำให้เป็นระบบอวัยวะที่พัฒนาเร็วกว่าระบบอื่น[9] ดังนั้นในสัตว์ต่าง ๆ จึงมีรูปแบบและการใช้งานของอวัยวะเพศที่หลากหลาย

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Mosses and Ferns". Biology.clc.uc.edu. 16 มีนาคม 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2012.
  2. "Flowering Plant Reproduction". Emc.maricopa.edu. 2010-05-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-16. สืบค้นเมื่อ 2012-08-01.
  3. Eberhard, W.G., 1985. Sexual Selection and Animal Genitalia. Harvard University Press
  4. Marvalee H. Wake (15 September 1992). Hyman's Comparative Vertebrate Anatomy. University of Chicago Press. p. 583. ISBN 978-0-226-87013-7. สืบค้นเมื่อ 6 May 2013.
  5. Sexual Intimacy in Marriage William Cutrer
  6. Daphne's Dance: True Tales in the Evolution of Woman's Sexual Awareness Brigitta Olsen
  7. Unpopular Privacy: What Must We Hide? retrieved 9 February 2012
  8. Fausto Sterling, Anne (2000). Sexing The Body. New York: New York. pp. 44–77.
  9. Schilthuizen, M. 2014. Nature's Nether Regions: What the Sex Lives of Bugs, Birds, and Beasts Tell Us About Evolution, Biodiversity, and Ourselves. Penguin USA

อ่านเพิ่ม

[แก้]