อรหัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประติมากรรมอรหัน ผลงานของธงชัย ศรีสุขประเสริฐ

อรหัน (/ออ-ระ-หัน/) เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ชนิดหนึ่ง มีรูปร่างตัวและปีกเป็นนก มีสองตีน แต่มีศีรษะเป็นมนุษย์หรือยักษ์ ลักษณะคล้ายกับกินรีแต่มีขนาดเล็กกว่า มักพบตามภาพจิตรกรรมฝาผนังต่าง ๆ เช่น จิตรกรรมฝาผนังที่อุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หรือภาพลายรดน้ำตามตู้พระธรรม เป็นต้น[1][2]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระราชวินิจฉัยเรื่องอรหันนี้คงมีต้นเค้าจาก "เครูบ" จากวัฒนธรรมของตะวันตก ไว้ความว่า "รูปมนุษย์มีปีกที่เรียกกันว่าตัว ‘อรหัน’ นั้น… เคยสังเกตเห็นชอบเขียนในลวดลายและทำรูปภาพตัวเช่นนั้นมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ก่อนนั้นขึ้นไปไม่เห็นทำคิดว่าสมัยนั้นเป็นสมัยชอบเปลี่ยนแปลงแผลงลวดลายไปต่าง ๆ และชอบเอาลายฝรั่งมาใช้ น่าจะมาแต่รูปเทวดาเด็ก ๆ ของฝรั่งที่เรียกว่า CHERUB ดอกกระมัง ใคร่จะเดาว่าได้ชื่อมาจากโปรตุเกส เรียกเสียงคล้าย ๆ กันว่า อรหันต์ จึงเลยกลายมาเป็นอรหัน"[3]

รูปอรหันนี้ปรากฏเป็นรูปแกะสลักไม้ที่หอเขียนของวังสวนผักกาด เข้าใจว่าสร้างในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยรูปนั้นมีศีรษะเป็นแบบฝรั่ง และมีรูปปั้นอรหันที่หน้าบันพระอุโบสถวัดอินทรารามที่จังหวัดราชบุรีอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเช่นกัน[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. เอนก นาวิกมูล, แกะรอยเรื่องเก่า (กรุงเทพฯ : แสงแดด, 2536) ISBN 9747159651
  2. [https://web.archive.org/web/20111004142528/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-43-search.asp เก็บถาวร 2011-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
  3. 3.0 3.1 "ค้นร่องรอยตัว "อรหัน" นกหน้าคนที่ปรากฏในไทยมาจากไหน?". ศิลปวัฒนธรรม. 12 พฤษภาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)