สแกมหลอกให้รัก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พาสปอร์ตอเมริกันปลอมนี้ได้ใช้จริงๆ ในสแกมหลอกให้รัก การหลอกลวงอาจจะชัดเจนสำหรับคนอื่นๆ เช่น รูปภาพในหนังสือเดินทางนี้ ไม่ตรงกับระเบียบในเรื่องขนาดหรือท่าทาง แต่เหยื่อก็มักจะมองข้ามสัญญาณเตือนต่างๆ เหล่านี้[1]

สแกมหลอกให้รัก (อังกฤษ: romance scam) เป็นกลหลอกลวงชนิดหนึ่ง ที่ผู้ร้ายแสร้งแสดงความรักกับเหยื่อเพื่อให้เหยื่อหลงรัก แล้วใช้ความรู้สึกนั้นเพื่อให้เหยื่อส่งเงินไปให้โดยอาศัยเหตุการณ์หลอกลวงต่างๆ หรือใช้ฉ้อฉลเหยื่อโดยวิธีอื่นๆ การฉ้อฉลอาจจะเกี่ยวกับเงิน บัญชีธนาคาร บัตรเครดิต หนังสือเดินทาง บัญชีอีเมล หรือบัตรประชาชนของเหยื่อ หรือหลอกให้เหยื่อโกงเงินเพื่อประโยชน์แก่ "คนรัก"[2][3]

แสกมเช่นนี้มักจะทำเป็นกลุ่มโดยแก๊งผู้ร้าย ผู้ทำงานร่วมกันเพื่อจะหลอกเอาเงินจากเหยื่อหลายคนพร้อมๆ กัน[4] ความเสียหายจากสแกมนี้ มากยิ่งกว่าสแกมทางอินเทอร์เน็ตอื่นๆ ที่คล้ายกัน เช่น สแกมช่างคอมพิวเตอร์ (technical support scam)[4]

ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (สง.ก.ตร.) ระบุว่าเป็นการหลอกให้รักโดยปลอมแปลง PROFILE เป็นบุคคลหน้าตาดี เข้ามาตีสนิทจากแอปหาคู่ หรือจากบัญชีออนไลน์ แล้วหลอกให้ลงทุนในแอปหรือโปรแกรมลงทุนปลอม เช่น เทรดหุ้นปลอม เงินดิจิทัลปลอม สกุลเงินปลอม ทองคำทิพย์ เป็นต้น หรือให้โอนเงินให้ หรือให้ยืมเงิน ทำทีจะส่งทรัพย์สินมาให้จากต่างประเทศ แต่สุดท้าย ลวงเอาเงินค่าธรรรมเนียมต่าง ๆ หรือหลอกให้โอนเงินโดยอ้างว่าจะคืนให้หลายเท่าตัว[5]

รูปภาพที่ถูกขโมย[แก้]

ผู้ร้ายสแกมนี้จะตั้งหน้าเว็บส่วนตัว โดยใช้รูปภาพที่ขโมยมาจากคนหน้าตาดี เพื่อล่อให้คนติดต่อตน วิธีการนี้ เป็นเช่นเดียวกับสแกมที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า catfishing รูปมักจะเป็นของดาราหรือของนาย/นางแบบที่ยังไม่ค่อยรู้จัก เพื่อใช้หลอกเหยื่อว่า กำลังคุยกับบุคคลนั้นจริงๆ บางครั้งก็อาจจะปลอมตัวเป็นทหาร ซึ่งใช้เป็นข้อแก้ตัวได้ว่า ทำไมจึงไม่มาพบกับเหยื่อ

เพราะผู้ร้ายจะดูไม่เหมือนรูปภาพที่ใช้โดยประการทั้งปวง ปกติจึงจะไม่มาเจอกับเหยื่อตัวต่อตัว หรือแม้แต่คุยกันทางวิดีโอ โดยอาจใช้ข้อแก้ตัวที่พอฟังได้ว่า ทำไมจึงให้เห็นหน้าไม่ได้ เช่น เพราะกำลังเดินทางอยู่ หรือว่ากล้องที่มีเสีย[4]

การหลอกเหยื่อ[แก้]

ผู้ร้ายจะชำนาญในวิธีต่างๆ ที่จะหลอกให้เหยื่อเชื่อ เช่น ส่งกลอนรัก ส่งข้อความหมิ่นเหม่ทางเพศไปทางอีเมล สร้างความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนกับความรัก โดยให้สัญญาว่า "วันหนึ่งเราจะมาแต่งงานกัน"

ผู้ร้ายจะติดต่อแลกเปลี่ยนข้อความกับเหยื่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้สึกว่า มีความสัมพันธ์ดีพอที่จะขอเงิน โดยถือเอาประโยชน์จากความรู้สึกของเหยื่อว่ามีความสัมพันธ์กันเมื่อหลอกให้ส่งเงินไปให้ หรืออาจจะขอค่าน้ำมัน หรือว่าค่ารถ หรือว่าค่าเครื่องบิน เพื่อที่จะไปเยี่ยมเหยื่อ หรือขอค่าไปหาหมอ หรือค่าเทอร์ม โดยปกติจะสัญญาว่า วันหนึ่งจะมาอยู่กับเหยื่อ

บางรายอาจจะชวนเหยื่อให้ไปเยี่ยมประเทศของตน ในบางกรณี เหยื่ออาจจะไปเยี่ยมโดยมี "ของขวัญเป็นเงิน" สำหรับ "สมาชิกครอบครัวของคนรัก" หรือว่ามีสินบนเพื่อจะให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่เหยื่อกลับถูกทำร้าย หรือว่าถูกปล้น หรือแม้แต่ถูกฆ่า[6] สแกมจะยุติก็ต่อเมื่อเหยื่อเข้าใจว่ากำลังถูกหลอก หรือว่าไม่ส่งเงินไปให้ผู้ร้ายอีกต่อไป

แก๊งอาชญากร[แก้]

แก๊งอาชญากรมักจะหลอกคนที่เหงาทั่วโลกโดยหลอกลวงว่า นี่เป็นความรักและความห่วงใย[7] ผู้ร้ายจะโพสต์หน้าเว็บในเว็บไซต์หาคู่ หรือในบัญชีสื่อสังคม หรือในเว็บโฆษณา หรือแม้แต่ฟอรัมออนไลน์ เพื่อเสาะหาเหยื่อ[8][4] ผู้ร้ายปกติจะพยายามขอติดต่อด้วยวิธีการสื่อสารอื่นที่เป็นส่วนตัวมากกว่า เช่น อีเมล หรือเบอร์โทรศัพท์ ในการสร้างความเชื่อใจกับเหยื่อ[9][4] เพราะผู้ร้ายทำงานเป็นแก๊ง ก็จะมีสมาชิกแก๊งที่อยู่ออนไลน์ตลอดเวลาเพื่อคอยส่งข้อความต่างๆ ให้แก่เหยื่อ[4] การสลับกันทำการเช่นนี้โดยทำเป็นเหมือนคนเดียวกัน เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากในข้อความเขียน เทียบกับถ้ามาเจอกันตัวต่อตัว หรือคุยกันทางวิดีโอ หรือคุยกันทางโทรศัพท์ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นคนละคน

ความเสียหาย[แก้]

ในปี 2016 สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐรายงานว่า เหยื่อได้เสียเงินเกินกว่า 220 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,700 ล้านบาท) เนื่องกับสแกมนี้[10] ซึ่งมากกว่าสแกมฟิชชิงถึง 7 เท่าและมากกว่าสแกมเรียกค่าไถ่ข้อมูลถึงร้อยเท่า[10] โดยความเสียหายได้เพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ ในสหรัฐ การเสียเงินเช่นนี้เพิ่มจาก 211 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,200 ล้านบาท) เป็น 475 ล้านเหรียญ (ประมาณ 14,700 ล้านบาท) ระหว่างปี 2017-2019[11][12] กรณีที่แจ้งความก็เพิ่มขึ้นจาก 15,372 กรณีเป็น 19,473 กรณี

รัฐบาลออสเตรเลียก็รายงานคดีที่เพิ่มขึ้นในประเทศเช่นกัน[13] โดยความเสียหายเพิ่มขึ้นจาก 20.5 ล้านเหรียญออสเตรเลียเป็น 28.6 ล้านเหรียญระหว่างปี 2017-2019

เหยื่อที่เป็นเป้า[แก้]

สถิติประชากรโดยเพศและอายุของสแกมหลอกให้รักในปี 2011

ผู้ร้ายมักจะเลือกเหยื่อที่มีอายุมากกว่า เพราะมีทรัพย์มากกว่า เช่น เงินเกษียณ หรือเป็นเจ้าของบ้าน ที่สามารถโกงเอาได้[4] ตามงานศึกษาของสมาคมจิตวิทยาบริติช คนที่อ่อนไหวง่ายอาจถูกหลอกลวงได้ง่ายกว่า ตามงานศึกษา คนที่อ่อนไหวง่ายและคนที่เข้าใจความรู้สึกของตนและผู้อื่นได้น้อยกว่า จะตกเป็นเหยื่อของสแกมนี้ได้ง่ายกว่า[14][15]

คำหลอกลวงต่างๆ[แก้]

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคำหลอกลวงเอาเงินจากเหยื่อในแสกมนี้

  • หลอกว่า เจ้านายได้จ่ายเงินให้แก่ตนด้วยธนาณัติของไปรษณีย์ แล้วขอให้เหยื่อเข้าเงินธนาณัติปลอมนั้นในธนาคารแล้วโอนเงินไปให้ตน ในที่สุด ธนาคารก็จะเอาเงินคืน แต่จะไม่ยกเลิกการโอนเงิน[16]
  • หลอกให้เหยื่อส่งเงินไปให้เพื่อจ่ายค่าหนังสือเดินทาง[16]
  • หลอกให้เหยื่อส่งค่าเครื่องบินไปให้เพื่อจะมาเยี่ยมเหยื่อ โดยอ้างว่าถูกกีดขวางโดยสมาชิกครอบครัวหรือคู่ครอง[17] ในทุกๆ กรณี ผู้ร้ายจะไม่เดินทางมาจริงๆ โดยใช้ข้ออ้างต่างๆ รวมทั้ง ถูกจับตัวโดยเจ้าหน้าที่ด่านเข้าเมืองผู้ขู่จะเอาสินบน[18]
  • บอกว่า มีทองแท่งหรือของมีค่าอื่นๆ ที่กงสุลยึดไว้โดยจะต้องจ่ายภาษีก่อนจะได้คืนมาแล้วมาหาเหยื่อ[19]
  • หลอกว่า ต้องการเงินเพื่อมาพบเหยื่อ[6][19]
  • หลอกว่าถูกจับตัวไว้เพราะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้[6][17]
  • หลอกว่าต้องการเงินเพื่อจ่ายค่าโรงพยาบาล[6][17]
  • หลอกว่าต้องการเงินมาจ่ายค่าโทรศัพท์เพื่อจะติดต่อกับเหยื่อต่อไป
  • หลอกว่าต้องการเงินเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เร่งด่วนสำหรับพ่อแม่ของตน[6]
  • บอกว่าเป็นพนักงานโดยตรงหรือโดยอ้อมของเว็บไซต์ และค่าธรรมเนียมที่เหยื่อจ่ายเพื่อเป็นสมาชิกหรือเพื่อใช้บริการ ส่วนหนึ่งตนจะได้[20]

แบล็คเมล์[แก้]

ผู้ร้ายหลอกให้รักบางพวก จะสืบหาเหยื่อที่มีความปรารถนาทางเพศแปลกๆ แล้วหลอกเหยื่อว่าถ้าจ่ายค่าเครื่องบินให้ ก็จะได้อยู่กับตนตามความปรารถนา

ผู้ร้ายบางพวกจะชวนเหยื่อให้แสดงกิจกรรมทางเพศต่อหน้าเว็บแคม โดยผู้ร้ายจะอัดวิดีโอไว้ แสดงให้เหยื่อดู แล้วแบล็คเมล์ให้ส่งเงินให้ เพื่อไม่ให้ส่งสิ่งที่อัดไว้ไปให้เพื่อน ครอบครัว หรือนายจ้าง โดยข้อมูลเกี่ยวกับเพื่อนเป็นต้น จะได้มาจากสื่อสังคมเช่นเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์[3]

เดตราคาแพง[แก้]

วิธีนี้ต่างกับสแกมหลอกให้รักอื่นๆ คือจะมีการมาเดตกันจริงๆ ในประเทศของผู้ร้าย แต่จุดประสงค์ก็เพื่อให้เหยื่อใช้จ่ายเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะได้ในระยะเวลาอันสั้นๆ โดยแทบจะไม่ได้อะไรเป็นสิ่งตอบแทนเลย ปกติจะมีผู้สมรู้ร่วมคิดกันหลายคน เช่น คนแปลภาษา หรือคนขับแท็กซี่ ซึ่งเหยื่อจะต้องจ่ายค่าบริการในราคาแพง บริการทุกอย่างผู้ร้ายจะจัดหาให้ โดยเหยื่อจะต้องจ่ายในราคาสูง เช่น จะนัดไปเจอกันในที่ที่ไม่ใช่ร้านกาแฟธรรมดา แต่เป็นร้านอาหารราคาโหด ซึ่งปกติคนในพื้นที่จะไม่มีทางจ่าย แล้วหลอกให้ซื้อของราคาแพงต่างๆ รวมทั้งของขวัญสำหรับผู้ร้าย เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเสื้อขนสัตว์[21]

ปกติคนขายก็จะมีส่วนร่วมด้วย คือหลังจากเหยื่อกลับไปแล้ว ก็จะคืนของที่ซื้อมาไปให้แก่คนขาย แล้วแบ่งเงินที่ได้กัน เพราะได้เงินด้วยปฏิบัติการเช่นนี้ ผู้ร้ายก็จะพยายามมีเดตกับคนรวยๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้[22]

ความสัมพันธ์ดังว่า จะไม่งอกงามยิ่งกว่านี้ มีแต่จะขอเงินจากเหยื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้หลังจากที่กลับบ้านไปแล้ว[23] นี่ไม่เหมือนกับคนที่แต่งงานเพื่อเงิน เพราะผู้ร้ายในสแกมนี้จริงๆ อาจจะไม่ใช่คนโสด หรือไม่สามารถแต่งงานกับคนอื่นได้

สแกม 419[แก้]

สแกมหลอกให้รักอีกอย่างหนึ่งก็คือผู้ร้ายจะบอกว่าจะต้องแต่งงาน เพื่อที่จะรับมรดกเป็นเงินล้านๆ เหรียญสหรัฐ หรือมรดกเป็นทอง จากลุง จากพ่อ หรือจากปู่ย่าตายาย ผู้หญิงก็จะติดต่อเหยื่อผู้ชาย แล้วบอกถึงปัญหาของตน เช่นไม่สามารถเอาทองออกจากประเทศเพราะไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียม หรือภาษีการแต่งงาน ผู้หญิงจะไม่สามารถรับมรดกจนกระทั่งแต่งงาน โดยเป็นข้อแม้พินัยกรรมของพ่อ ของลุง หรือของปู่ย่าตายาย

ผู้ร้ายจะทำให้เหยื่อเชื่อว่าจริงใจ จนกระทั่งเหยื่อเชื่อใจจนสามารถขอเงินได้เป็นพันๆ เหรียญ เพื่อจะนำทองเข้าไปในประเทศของเหยื่อ ผู้ร้ายอาจเสนอว่า จะบินไปประเทศของเหยื่อเพื่อพิสูจน์ว่ามีตัวตนจริงๆ และเพื่อเหยื่อจะได้ส่งค่าเครื่องบินไปให้ แต่ผู้ร้ายจริงๆ ก็จะไม่ไป เมื่อเหยื่อติดต่อไปและถามว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้ร้ายก็จะยกข้ออ้างต่างๆ เช่น ไม่สามารถได้วีซ่าขาออก หรือประสบความเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของสมาชิกครอบครัว

การปลอมตัวเป็นทหาร[แก้]

เทคนิคที่ผู้ร้ายใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการปลอมตัวเป็นทหารอเมริกัน ผู้ร้ายมักชอบใช้รูปภาพ ชื่อ และหน้าเว็บของทหาร เพราะจะทำให้เหยื่อเชื่อใจ มั่นใจ และนิยมชมชอบ[24] เพราะฝ่ายประชาสัมพันธ์ของทหาร มักจะโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับทหารโดยไม่กล่าวถึงครอบครัวหรือชีวิตส่วนตัว ดังนั้น แก๊งอาชญากรอินเทอร์เน็ต บ่อยครั้งจากไนจีเรียหรือกานา ก็จะขโมยรูปภาพจากเว็บไซต์เช่นนั้น

ผู้ร้ายอาจบอกเหยื่อว่ากำลังสนับสนุนสถานเด็กกำพร้าด้วยเงินของตนเอง หรือจำเป็นต้องได้เงินช่วยเหลือเพราะไม่สามารถเอาเงินของตัวเองออกมาได้จากบริเวณที่รบกันอยู่ โดยจะให้ส่งเงินไปให้แก่บุคคลที่ 3 ผู้ที่ผู้ร้ายจะไปรับเอามาได้ บางครั้งบุคคลที่ 3 ก็มีจริงแต่บางครั้งก็ไม่มี เงินที่ส่งไปทาง Western Union หรือ MoneyGram เวลารับจะไม่ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อผู้ส่งส่งโดยระบุคำถามคำตอบที่รู้กันสองคน โดยสามารถรับเงินที่ไหนก็ได้ในโลก ผู้ร้ายบางพวกอาจจะขอบิตคอยน์แทนเงินสด[6][25]

eWhoring[แก้]

ในรูปแบบที่ฝรั่งเรียกว่า eWhoring[26] ผู้ร้ายจะส่งรูปเปลือยรูปโป๊โดยปลอมตัวเป็นบุคคลนั้นเพื่อขายรูปและวิดีโอให้แก่เหยื่อ ชักชวนเหยื่อให้ส่งเงินไปให้แก่ผู้ร้ายเพื่อจะออกเดต เพื่อเปิดช่องดูวิดีโอ หรือเพื่อเจอกันตัวต่อตัว หรือเพื่อจะส่งลิงก์ฟิชชิง[27] รูปแรกๆ อาจจะเป็นรูปที่บุคคลจริงได้แชร์กับผู้อื่น หรืออาจจะเป็นรูปหรือวิดีโอโป๊ ที่คนจริงไม่ได้อาสาแชร์ ไม่ว่าจะเป็นรูปจาก revenge porn รูปที่ถูกแฮ็ก หรือถูกขโมย เหมือนกับสแกมหลอกให้รักอย่างอื่นๆ คดี eWhoring ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงโรคโควิดระบาด[28]

การปลอมตัวมีหลายระดับเริ่มตั้งแต่เป็นการปลอมตัวหลอกลวงล้วนๆ หรือว่าเป็นอะไรที่ซับซ้อนกว่า เช่น คนในรูปอาจจะจ้างกลุ่มคนที่ 3 หรือว่าทีมแช็ตเพื่อปลอมเป็นตนในการส่งข้อความและส่งรูปไปให้แฟนคลับ[29] เพราะกลัวเรื่องการปลอมตัว เหยื่ออาจขอดูรูปภาพโดยเฉพาะๆ เพื่อพิสูจน์ว่ามีตัวตนจริงๆ เช่นให้ถือวัตถุอย่างหนึ่ง หรือเขียนข้อความโดยเฉพาะข้อความหนึ่งในกระดาษ ในเดือนพฤษภาคม 2023 เว็บไซต์สื่อโป๊ My.Club ได้ออกนโยบาย "No Fake Creators" (ห้ามคนทำปลอม) โดยบังคับให้ทุกคนที่ใช้แพลตฟอร์มในการขายรูป ขายวิดีโอ หรือขายการพูดคุย ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวจริงรวมทั้งการสแกนใบหน้าทุกครั้งที่ลงชื่อเข้าใช้[30]

ในสื่อ[แก้]

  • ภาพยนตร์สวีเดน Raskenstam (1983) ซึ่งเป็นภาพยนตร์รักตลกที่มาจากเรื่องจริงของนายธนาคารชาวสวีเดน Gustaf Raskenstam[31] ผู้หลอกหญิงเกินกว่าร้อยให้รัก แล้วหลอกให้สนับสนุนโปรเจ็กต์ต่างๆ ของตนทางการเงิน[32] เขามักจะใช้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์[ต้องการอ้างอิง]
  • มีภาพยนตร์ (เช่น คู่ฆ่า...อำมหิต) หลายเรื่องและรายการทีวีตอนหลายตอนที่แสดงเรื่องของ Raymond Fernandez และ Martha Beck ผู้เป็นคู่ฆาตกรฆ่าต่อเนื่องที่มีชื่อว่า "The Lonely Hearts Killers" (ฆาตกรคนเหงาใจ) ผู้เชื่อว่า ได้ฆ่าหญิง 20 คนในระหว่างปี 1947-1949 โดยพบกับเหยื่อผ่านโฆษณาทางหนังสือพิมพ์[ต้องการอ้างอิง]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "Internet Dating and Romance Scams". Travel.state.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-08.
  2. "Looking for Love? Beware of Online Dating Scams".
  3. 3.0 3.1 Hickey, Shane (2015-08-14). "Scammers target lonely hearts on dating sites". TheGuardian.com.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 Span, Paula (2020-03-27). "When Romance Is a Scam". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2020-11-13.
  5. "18 กลโกงมิจฉาชีพ ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์". สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (สง.ก.ตร.). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-09-15.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 "Online daters, be warned! 1 in 10 profiles are scams, report reveals". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-20. สืบค้นเมื่อ 2017-09-11.
  7. "How A Billion-Dollar Internet Scam Is Breaking Hearts And Bank Accounts". HuffPost (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-07-20. สืบค้นเมื่อ 2018-11-05.
  8. "Love is lies". gimletmedia.com. Gimlet Media. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-20. สืบค้นเมื่อ 2015-02-20.
  9. Evans, Dennis. "Kansas City News, Weather and Sports". KMBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-07. สืบค้นเมื่อ 2023-11-20.
  10. 10.0 10.1 Monroe, Rachel. "The Perfect Man Who Wasn't". The Atlantic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2018-04-01.
  11. "2017 Internet Crime Report" (PDF). FBI. 2017. สืบค้นเมื่อ 2020-10-06.
  12. "2019 Internet Crime Report" (PDF). FBI. สืบค้นเมื่อ 2020-10-06.
  13. "Scam statistics". www.scamwatch.gov.au (ภาษาอังกฤษ). 2016-03-11. สืบค้นเมื่อ 2020-10-06.
  14. "Sensitive people more vulnerable to online dating scams". EurekAlert!. สืบค้นเมื่อ 2016-04-30.
  15. PerfectReputations (2016-04-29). "New Study Shows Who Are Likely To Be Scammed". Romance Scams Now™ Official Dating Scams Website - Ghana & Nigerian Scammer Photos (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2016-04-30.
  16. 16.0 16.1 Sullivan, Bob (2005-07-28). "Seduced into scams: Online lovers often duped". NBC News. สืบค้นเมื่อ 2023-11-20.
  17. 17.0 17.1 17.2 "International Financial Scams - Internet Dating, Inheritance, Work Permits, Overpayment, and Money-Laundering" (PDF). United States Department of State. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-21.
  18. "U.S. Embassy Accra, Ghana". web.archive.org. 2008-09-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-26. สืบค้นเมื่อ 2023-11-20.
  19. 19.0 19.1 Sullivan, Bob (2005-07-28). "Singles seduced into scams: Online lovers often duped". NBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-12. สืบค้นเมื่อ 2020-10-06.
  20. "The mail-order bride boom - Fortune Tech". Tech.fortune.cnn.com. 2013-04-09. สืบค้นเมื่อ 2014-01-01.
  21. "Nine Tips on How to Identify and Avoid Ukrainian Pro-Daters". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-11. สืบค้นเมื่อ 2023-11-21.
  22. "Romance Scam". Romancescam.
  23. "Tips how to recognize professional Asian pro-daters". 2021-02-22.
  24. Power, Julie (2014-12-06). "Love me don't: the West African online scam using US soldiers". The Sydney Morning Herald. สืบค้นเมื่อ 2014-12-06.
  25. "Romance Scam". Romancescam. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-30.
  26. "Measuring eWhoring". Association for Computing Machinary. 2021-10-21.
  27. Savin, Jennifer (2021-04-07). "Inside the world of eWhoring: where nudes are stolen, traded and sold for profit". Cosmopolitan. สืบค้นเมื่อ 2023-07-15.
  28. "Romance Scams". AARP.com. 2023-01-23.
  29. Hall, Jake. "The OnlyFans Stars Who Hire Assistants to Pretend to Be Them". MEL. สืบค้นเมื่อ 2023-07-15.
  30. "How Creators Verification Works on My.Club". My.Club. สืบค้นเมื่อ 2023-07-15.
  31. "10 Most Bizarre Scams (That Actually Worked)". PopCrunch. 2010-08-12.
  32. Mannika, Eleanor (2014). "The New York Times Movies: Rakenstam (1983)". Movies & TV Dept. The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-14. สืบค้นเมื่อ 2014-07-11.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • Phishing ที่เว็บไซต์ Curlie
  • Catfished ที่ยูทูบ เป็นรายการยูทูบที่เหยื่อมาปรึกษาทีมผู้สอบสวนเพื่อตัดสินว่าคู่รักของเขาเป็นของจริง หรือเป็นนักหลอกลวง ผู้สอบสวนจะตรวจกำเนิดของรูปภาพที่ใช้ ตรวจสอบรายละเอียดทางภูมิศาสตร์และรายละเอียดอื่นๆ เพื่อให้เหยื่อได้ความกระจ่างใจ