สายตรงมอสโก–วอชิงตัน
สายตรงมอสโก–วอชิงตัน คือระบบที่ใช้สำหรับติดต่อโดยตรงระหว่างผู้นำของสหรัฐอเมริกากับรัสเซียโดยอาจรู้จักกันในอีกชื่อคือ โทรศัพท์สีแดง สายตรงนี้เชื่อมต่อระหว่างทำเนียบขาวผ่านทางศูนย์บัญชาการทหารแห่งชาติ (National Military Command Center) กับเครมลิน สายตรงเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงของสงครามเย็น ปัจจุบันไม่มีการใช้โทรศัพท์สีแดงดังกล่าวแล้ว แต่ช่องทางสายตรงนี้ยังคงมีอยู่เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางการลดความเสี่ยงจากนิวเคลียร์ (Nuclear Risk Reduction Center) ที่ตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1988 โดยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน
การจัดตั้งในตอนต้น
[แก้]สายตรงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากข้อตกลงที่ตัวแทนของทั้งสองชาติลงนามไว้ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1963 ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในชื่อของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสายสื่อสารตรง หลังจากที่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาชี้ให้เห็นว่าการติดต่อสื่อสารโดยตรงและเชื่อถือได้ระหว่างสองชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็น ในช่วงของวิกฤตการณ์ สหรัฐอเมริกาใช้เวลาเกือบ 12 ชั่วโมงในการรับและถอดรหัสข้อความเบื้องต้นความยาว 3,000 คำจากนิกิตา ครุสชอฟ เวลาที่ใช้นี้ถือเป็นเวลาที่นานจนเป็นอันตรายโดยเฉพาะเมื่อกำลังอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงภัยทางนิวเคลียร์ โดยในขณะที่ฝั่งสหรัฐอเมริกากำลังร่างคำตอบกลับ ข้อความที่แข็งกระด้างมากขึ้นจากมอสโกก็ส่งมาถึงโดยเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาถอนขีปนาวุธของตนในตุรกีออก ที่ปรึกษาในทำเนียบขาวหลายคนเห็นว่าวิกฤตในครั้งนี้จะสามารถหาทางแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงได้ หากการสื่อสารทำได้รวดเร็วกว่านี้
เทคโนโลยีและกระบวนการ
[แก้]สายตรงในยุคแรกนั้นไม่มีเสียงส่งถึงกัน บันทึกความเข้าใจที่ทั้งสองฝ่ายลงนามเรียกร้องเพียงให้มีการส่งสัญญาณโทรเลขไปกลับระหว่างกันเท่านั้น โดยมีเหตุผลว่าการสื่อสารทางเสียงอาจนำไปสู่การเข้าใจผิดและไม่เข้าใจกันได้ สายส่งสัญญาณนี้เชื่อมต่อโดยใช้เส้นทาง Washington, D.C. – London – Copenhagen – Stockholm – Helsinki – Moscow โดยสายส่งวอชิงตัน – ลอนดอนนั้นใช้เรือดำน้ำ TAT-1 เรือดำน้ำถือสายสื่อสารข้ามทวีปแอตแลนติกลำแรก ส่วนสายสื่อสารอีกเส้นใช้เส้นทาง Washington, D.C. – Tangier – Moscow
ผู้นำที่จะสื่อสาร จะส่งข้อความโดยใช้ภาษาของตนเอง แล้วจึงถูกแปลเป็นอีกภาษาที่ปลายทาง [1]
การใช้งาน
[แก้]สายตรงนี้ถูกใช้งานครั้งแรกในปี ค.ศ. 1967 ในช่วงของสงครามหกวัน สงครามระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล โดยทั้งสองชาติมหาอำนาจใช้แจ้งการเคลื่อนไหวทางการทหารของตนเองซึ่งอาจกำกวมหรือยั่วยุฝ่ายตรงข้ามได้ ซึ่งความตึงเครียดในขณะนั้นคือการเข้าใกล้กันระหว่างกองเรือทะเลดำของโซเวียตกับกองเรือที่ 6 ของสหรัฐอเมริกาซึ่งอาจเกิดการเข้าใจผิดกันได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการใช้ครั้งอื่นๆ ในช่วงของสงครามอินเดีย-ปากีสถานปี ค.ศ. 1971 ในช่วงของสงครามยมคิปปูร์ (สงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอลปี ค.ศ. 1973) ในช่วงของการรุกรานไซปรัสของตุรกีปี ค.ศ. 1974 ในช่วงของการรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียตปี ค.ศ. 1979 และอีกหลายครั้งในสมัยของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เมื่อโซเวียตตั้งข้อสงสัยถึงสงครามเลบานอน และความเห็นของสหรัฐอเมริกาในเรื่องการประกาศกฎอัยการศึกในโปแลนด์[2]
การติดตั้งครั้งถัดมา
[แก้]ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1971 ระบบถูกปรับปรุงใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทั้งนี้ทั้งสองชาติต่างเห็นพ้องกันในว่าเหตุการณ์ใดบ้างที่ควรใช้สายตรงนี้ กล่าวคือทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะแจ้งเตือนอีกฝ่ายทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นอุบัติเหตุหรือไม่ได้รับอนุญาตหรือยากที่จะอธิบายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้ [3][4][5]
โทรศัพท์ถูกติดตั้งขึ้นมาแทนที่ โดยเชื่อมต่อดาวเทียมหลายดวงเข้าด้วยกัน โดยมีดาวเทียม Intelsat ของสหรัฐฯ 2 ดวง และดาวเทียม Molniya II ของโซเวียตอีก 2 ดวง เชื่อมต่อกัน การปรับปรุงครั้งนี้ใช้เวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 ถึง 1978 ในระหว่างการปรับปรุง มีการเลิกใช้สายส่งสัญญาณวิทยุ Washington-Tangier-Moscow
การปรับปรุงครั้งล่าสุด
[แก้]รอบการปรับปรุงครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1986 โดยทางสหภาพโซเวียตได้เปลี่ยนมาใช้ดาวเทียมวงโคจรประจำที่ Statsionar และมีการเพิ่มระบบโทรสารเข้ามาเพื่อให้ผู้นำระหว่างสองชาติสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นเอกสารหรืออื่นๆได้ เพิ่มเติมจากการสื่อสารในรูปแบบของโทรเลขและโทรศัพท์ และในปีค.ศ. 2012 มีการเสนอให้เพิ่มหัวข้อ"สงครามไซเบอร์"ให้เข้าไปในหัวข้อที่อาจพูดคุยบนสายตรงนี้
การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
[แก้]เครื่องโทรเลขจากประเทศเยอรมนีตะวันออกที่ใช้ในสายตรงที่จัดตั้งในปี ค.ศ. 1963 ปัจจุบันถูกจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์การเข้ารหัสลับแห่งชาติซึ่งตั้งอยู่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกาในรัฐแมรีแลนด์
สายด่วนนิวเคลียร์อื่นๆ
[แก้]สายตรงนิวเดลี– อิสลามาบาด
[แก้]อินเดียกับปากีสถานจัดตั้งสายตรงระหว่างกันขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2004[6] ทั้งนี้สายตรงนี้ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยความช่วยเหลือของกองทัพสหรัฐ
สายตรงวอชิงตัน– ปักกิ่ง
[แก้]สหรัฐอเมริกากับจีนจัดตั้งสายตรงทางกลาโหมขึ้นในปี ค.ศ. 2008 ทว่าไม่มีการใช้งานเมื่อเกิดวิกฤตนัก[7]
สายตรงโซล– เปียงยาง
[แก้]เกาหลีเหนือและใต้จัดตั้งสายตรงระหว่างกันขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1972 เพื่อสามารถติดต่อกันระหว่างโซลกับเปียงยางได้เปิดใหม่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ ทศวรรษ 1950 หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง โดยสายด่วนนี้ได้รับการปรับปรุงโดยกาชาดสากล [8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Kennedy, Bruce (1998). "CNN Cold War – Spotlight: The birth of the hot line". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-23. สืบค้นเมื่อ 18 March 2011.
- ↑ Stone, Webster (September 18, 1988). "Moscow's Still Holding". The New York Times.
- ↑ Jozef Goldblat (International Peace Research Institute) (2002). Arms control. Sage. pp. 301–302. ISBN 0-7619-4016-2.
- ↑ Coit D. Blacker, Gloria Duffy (Stanford Arms Control Group) (1984). International arms control. Standford University Press. ISBN 0-8047-1211-5.
- ↑ James Mayall, Cornelia Navari. The end of the post-war era. Cambridge University Press. pp. 135–137. ISBN 0-521-22698-8.
- ↑ "The Independent—Monday, June 21, 2004--"India and Pakistan to Have Nuclear Hotline":". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-04. สืบค้นเมื่อ 2012-10-24.
- ↑ Gienger, Viola (13 May 2011). "China-U.S. Defense Hotline Shows Gulf Between Nations". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 5 March 2012.
- ↑ Lim Chang-Won (AFP) (July 3, 2013). "N. Korea restores hotline with South: Seoul officials". AFP via Google. สืบค้นเมื่อ July 4, 2013.