สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ โดยเฉพาะการทับศัพท์ภาษาจีนและญี่ปุ่น คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สนธิสัญญาชิโมโนเซกิฉบับภาษาญี่ปุ่น | |
วันลงนาม | 17 เมษายน ค.ศ. 1895 |
---|---|
ที่ลงนาม | เมืองชิโมโนเซกิ |
ผู้ลงนาม | อิโต ฮิโระบุมิ มุตสึ มูเนมิตสึ หลี่ หงจาง หลี่ จิงฟาง |
ภาคี | จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิชิง |
ภาษา | จีน และ ญี่ปุ่น |
สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (ญี่ปุ่น: 下関条約) หรือ สนธิสัญญาหม่ากวัน (จีนตัวย่อ: 马关条约; จีนตัวเต็ม: 馬關條約; พินอิน: Mǎguān tiáoyuē) ในภาษาจีน เป็นสนธิสัญญาระหว่างจักรวรรดิญี่ปุ่นและประเทศจีน โดยราชวงศ์ชิง เมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1895 สนธิสัญญานี้ทำให้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง เกาหลีเป็นอิสระจากจีน ญี่ปุ่นได้ดินแดนในจีนและได้สิทธิภาพชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งจากจีน นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังสามารถเข้าใช้และตั้งกงสุลในสี่เมืองท่าคือ ชาฉี้, ฉงชิ่ง, ซูโจว และ หางโจว
หลังจากที่จีนลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ บรรดาขุนนางจีนต่างถวายฎีกากันอย่างมากมาย ร้องขอให้ยกเลิกสัญญาแล้วทำสงครามกับญี่ปุ่นเพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของโอรสแห่งสวรรค์ จักรพรรดิกวังซฺวี่ทรงมีความโทมนัสยิ่งนัก ได้ระบายความอัดอั้นของพระองค์ไว้ว่า "ยามดึกก็กังวล ยามว่าราชการก็ร้องไห้...สภาพเช่นนี้ช่างน่าละอาย ฎีกาทั้งหลายยังอ่านไม่หมด ขอทุกคนให้อภัยด้วย"[1]
การลงนาม
[แก้]วันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1895 ราชสำนักชิงได้ส่งคณะผู้แทนการลงนามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิโดยมี หลี่ หงจาง ผู้แทนสูงสุด นำคณะซึ่งประกอบไปด้วย หลี่ จิงฟาง ลูกชายของเขา อู่ถิงฟาง อุปทูตระดับสูง และเคอซื่อต๋าที่ปรึกษา โดยสารเรือกลไฟเยอรมันสองลำไปเจรจาสงบศึกกับฝ่ายญี่ปุ่นที่เมืองชิโมโนเซกิ (ปัจจุบันคือเมืองชิโมโนเซกิ จังหวัดยะมะงุจิ) วันที่ 19 มีนาคม หลี่ หงจางและคณะเดินทางมาถึงเมืองชิโมโนเซกิ พวกเขาพักในวัดอินโจจิซึ่งอยู่ใกล้กับอาคารชุมปันโร พอถึงเวลาบ่ายสองโมงครึ่งของวันรุ่งขึ้น หลี่หงจางและคณะก็เดินก้าวเข้าสู่อาคารปันโรด้วยฝีเท้าหนักแน่น
ณ ชั้นบนของอาคารชุมปันโร มีเก้าอี้สิบกว่าตัวจัดวางรอบโต๊ะสี่เหลี่ยมขนาดค่อนข้างใหญ่ตัวหนึ่ง ฝ่ายญี่ปุ่นได้จงใจจัดวางกระโถนให้หลี่ หงจาง ผู้มีอายุเกินเจ็ดสิบปีเป็นการเฉพาะ ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม ในระหว่างการเจรจาครั้งแรก อิโต ฮิโระบุมิ ผู้แทนเจรจาฝ่ายญี่ปุ่น เสนอเงื่อนไขอันแสนโหดร้ายในการยุติสงครามแก่หลี่ หงจาง และแถลงว่า หากจีนไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ญี่ปุ่นก็จะส่งทหารไปเพิ่มและทำสงครามอีกครั้ง แต่หลี่ หงจางกลับคาดหวังให้ญี่ปุ่นหยุดรบก่อน เขาวิงวอนให้ญี่ปุ่นลดเงื่อนไขที่ขูดรีดกับจีนลงบ้าง ผู้แทนของทั้งสองประเทศปะทะคารมกันอย่างดุเดือดต่างฝ่ายต่างไม่ยอมอ่อนข้อให้กันจนการเจรจาชะงักงันลง สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยจนถึงวันที่ 24 มีนาคม ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน
หลี่หงจางถูกลอบทำร้ายขณะลงนาม
[แก้]ในเวลานี้เอง มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นกะทันหันทำให้การเจรจาเปลี่ยนวิถีไป หลังจากที่การเจรจาในวันนั้นเสร็จสิ้นลง หลี่ หงจางดูกลัดกลุ้มอ่อนเพลียและมีเรื่องหนักใจเต็มไปหมด เขาก้าวออกจากอาคารชุมปันโรแล้วนั่งเกี้ยวกลับไปที่วัดอินโจจิ ในขณะที่เกี้ยวของหลี่ หงจางใกล้ถึงที่พักทันใดนั้นก็มีชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งถือปืนพกหนึ่งกระบอกในมือพุ่งตัวออกมาจากฝูงชน เขาเล็งปืนไปที่หลี่ หงจางแล้วก็ยิงเข้าใส่โดยไม่รอให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้ติดตามหลี่ หงจางได้ทันตั้งตัว กระสุนปืนยิงถูกแก้มซ้ายของหลี่ หงจางจนเลือดไหลอาบหน้า เมื่อเห็นเช่นนั้นผู้ติดตามจึงรีบหามหลี่ หงจางกลับเข้าที่พักในวัดอินโจจิ แพทย์รีบตรวจอาการบาดเจ็บของเขาอย่างละเอียดทันทีและพบว่ากระสุนยิงโดนกระดูกโหนกแก้มด้านซ้าย ตำแหน่งบาดแผลอยู่ใต้ตาซ้ายประมาณหนึ่งนิ้ว กระสุนยังคงค้างอยู่ในเนื้อแต่ไม่เป็นอันตรายต่อดวงตา หลี่ หงจาง หลังได้ถูกลอบทำร้ายมีท่าทีสงบนิ่ง เขาได้กล่าวกำชับผู้ติดตามให้เก็บเสื้อเปื้อนเลือดที่เขาถอดไว้ อย่าซักรอยเลือดออก หลี่ หงจางได้ชี้นิ้วไปที่เสื้อเปื้อนเลือดตัวนั้นแล้วกล่าวอย่างองอาจว่า "เลือดนี้แหละที่จะตอบแทนคุณประเทศชาติ และจงจำบทเรียนอันอัปยศครั้งนี้เอาไว้ให้ดี"
ข้อความ
[แก้]สนธิสัญญาสันติภาพ
- สมเด็จพระจักรพรรดิกรุงญี่ปุ่นแลสมเด็จพระจักรพรรดิกรุงจีน ทรงปรารถนายิ่งให้ฟื้นฟูสันติภาพระหว่างสองประเทศแลข้าแผ่นดินในพระองค์ แลโปรดให้ขจัดเหตุอันจะก่อให้เกิดข้อปัญหาต่างๆในอนาคต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้านามผู้มีอำนาจในพระปรมาภิไธยไว้เพื่อสำเร็จเสร็จการสนธิสัญญาสันติภาพ ดังความต่อไปนี้
- สมเด็จพระจักรพรรดิกรุงญี่ปุ่นโดยเคานต์ อิโต ฮิโระบุมิ จุนอี สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดอกคิริชั้นสูงสุด ประธานคณะรัฐมนตรี กับไวเคานต์ มุสึ มุเนะมิสึ จุนอี สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลรัตน์ชั้นหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ
- แลสมเด็จพระจักรพรรดิกรุงจีนโดยหลี่ หงจาง พระอาจารย์อาวุโสในองค์รัชทายาท มหาเสนาบดีอาวุโส แลเสนาบดีว่าการพาณิชย์ประจำท่าเรือฝ่ายเหนือของจีน ข้าหลวงมณฑลจี๋หลี้ ขุนนางขั้นหนึ่ง กับ หลี่ จิ้งฟาง อดีตเสนาบดีกรมการทูต ขุนนางขั้นสอง
- หลังแลกเปลี่ยนหนังสือแสดงอำนาจเต็ม ซึ่งได้ถูกตรวจว่าถูกต้องแลเปนไปตามธรรมเนียมที่เหมาะสมแล้ว จึงได้ตกลงตามข้อต่อไปนี้:—
- ข้อ 1 กรุงจีนยอมรับอย่างหนักแน่นต่อความเปนเอกราชแลอิสรภาพของกรุงเกาหลี แลฉนั้น การส่งราชบรรณาการแลพิธีการต่างๆของกรุงเกาหลีต่อกรุงจีนซึ่งจะอยู่ในระงับไว้เนื่องจากความเปนเอกราชแลอิสรภาพนั้น จะถูกล้มเลิกทั้งหมดในภายหน้า
- ข้อ 2 กรุงจีนยอมยกให้แก่กรุงญี่ปุ่นซึ่งกรรมสิทธิ์แลอำนาจอธิปไตยถาวรในดินแดนต่อไปนี้ ตลอดจนทรัพย์ของหลวง, ปืนใหญ่, ป้อมปราการ ซึ่งตั้งอยู่ใน:
- (หนึ่ง) ส่วนใต้ของมณฑลเฝิ้งเทียน[...]
- (สอง) เกาะไต้หวัน ตลอดจนบรรดาเกาะแก่งซึ่งพาดเกี่ยวหรือเปนของเกาะไต้หวันที่กล่าวมา
- (สาม) กลุ่มเกาะเผิงหู ซึ่งจะหมายถึง บรรดาเกาะแก่งระหว่างเส้นแวงที่ 119 ถึง 120 องศาทางตะวันออกของกรีนิช กับเส้นรุ้งที่ 23 ถึง 24 องศาเหนือ
- ข้อ 3 การวางแนวพรมแดนซึ่งได้อธิบายไปในข้อก่อนหน้าและได้แสดงบนแผนที่ซึ่งผนวกดินแดนแล้ว จะถูกพิสูจน์แลปักปันเขตโดยคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนร่วม ประกอบด้วยผู้แทนญี่ปุ่นตั้งแต่สองคนหรือมากกว่า กับผู้แทนจีนตั้งแต่สองคนหรือมากกว่า ซึ่งจะถูกแต่งตั้งในทันทีหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้ ในกรณีที่พรมแดนตามข้อบัญญัตินี้ถูกพบว่ามีข้อบกพร่องไม่ว่าจุดใดก็ตาม ทั้งความรับผิดชอบด้านการทำแผนที่หรือความรับผิดชอบในการพิจารณาการจัดการที่เหมาะสม จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนเช่นกัน เพื่อปรับปรุงให้ถูกต้อง
- คณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนจะเข้าทำหน้าที่ในทันทีที่เปนไปได้ แลจะทุ่มเทกำลังเพื่อให้ได้ข้อสรุปผลภายในระยะเวลาหนึ่งปีหลังการแต่งตั้ง
- อย่างไรก็ตาม การปรับแนวพรมแดนตามที่บัญญัติในหนังสือสัญญานี้ จะมีอยู่จนกว่าคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนได้ปรับแก้ไขให้ถูกต้อง หากมีการแก้ไขใดๆ จะต้องได้รับการอนุมัติจากทั้งรัฐบาลกรุงญี่ปุ่นแลกรุงจีน
- ข้อ 4 กรุงจีนยินยอมชำระแก่กรุงญี่ปุ่นซึ่งค่าปฏิกรรมสงครามเปนจำนวนเงิน 200,000,000 ตำลึงกู้ผิง จำนวนเงินที่กล่าวมาจะถูกชำระเป็นแปดงวด งวดแรกจำนวน 50,000,000 ตำลึงจะชำระภายในหกเดือน งวดที่สองจำนวน 50,000,000 ตำลึงจะชำระภายในสิบสองเดือนหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้ อีกหกงวดที่เหลือจะแบ่งจ่ายงวดละเท่าๆกันดังนี้ งวดแรกภายในสองปี งวดที่สองภายในสามปี งวดที่สามภายในสี่ปี งวดที่สี่ภายในห้าปี งวดที่ห้าภายในหกปี แลงวดที่หกภายในเจ็ดปีหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้ ดอกเบี้ยร้อยละห้าต่อปีจะเริ่มคิดกับส่วนที่ค้างจ่ายตามงวดที่กล่าวมา ตั้งแต่วันที่งวดแรกผิดนัดชำระ
- อย่างไรก็ตาม กรุงจีนมีสิทธิที่จะชำระก่อนกำหนดเมื่อใดของงวดใดที่กล่าวมาก็ได้ ในกรณีที่ยอดทั้งหมดถูกชำระภายในสามปีหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้ ดอกเบี้ยทั้งหมดสามารถถูกเรียกคืนได้ แลดอกเบี้ยในสองปีครึ่งหรือระยะเวลาที่สั้นกว่า ถ้าได้ชำระแล้วจะถูกรวมเปนเงินต้นของงวด
- ข้อ 5 ราษฎรของดินแดนซึ่งยกให้แก่กรุงญี่ปุ่นที่ต้องการอาศัยอยู่นอกเขตซึ่งยกให้เหล่านี้ ย่อมมีเสรีที่จะขายทรัพย์สินของเขาและย้ายออกไป เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว จะกำหนดเปนระยะเวลาสองปีหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้ เมื่อหมดระยะเวลาดังกล่าว ราษฎรเหล่านั้นจะมิอาจย้ายออกจากดินแดนเหล่านั้น ญี่ปุ่นอาจถือว่าราษฎรเหล่านั้นเปนข้าแผ่นดินญี่ปุ่น
- รัฐบาลทั้งคู่จะส่งกรรมาธิการหนึ่งคนหรือมากกว่าไปยังไต้หวันในทันทีหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้ เพื่อทำให้การส่งมอบสุดท้ายของมณฑลนั้นเปนการสมบูรณ์ภายในกรอบสองเดือนหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้
[และข้ออื่นๆอีกหกข้อ]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หวังหลง (2559) ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา. สำนักพิมพ์มติชน. ISBN 9789740214564
- Chamberlain, William Henry. (1937). Japan Over Asia. Boston:, Little, Brown, and Company.
- Cheng, Pei-Kai and Michael Lestz. (1999). The Search for Modern China: A Documentary Collection. New York: W. W. Norton & Company.
- Colliers. (1904). The Russo-Japanese War. New York: P.F. Collier & Son.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ
- สนธิสัญญาจีน–ญี่ปุ่น
- สนธิสัญญา
- สนธิสัญญาสันติภาพ
- สนธิสัญญาไม่เสมอภาค
- สนธิสัญญาสันติภาพเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับจักรวรรดิญี่ปุ่น
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับจักรวรรดิจีน
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับเกาหลี
- สนธิสัญญาในคริสต์ศตวรรษที่ 19
- ค่าปฏิกรรม
- ความสัมพันธ์จีน–ญี่ปุ่น
- สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง
- ไต้หวันภายใต้การปกครองของชิง
- ไต้หวันภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น
- ชิโมโนเซกิ
- อิโต ฮิโรบูมิ