ศาสนาพุทธในประเทศมัลดีฟส์


ศาสนาพุทธในประเทศมัลดีฟส์ เคยเป็นศาสนาที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 และไม่ปรากฏที่มาว่าเหตุใดศาสนาพุทธจึงประดิษฐานในดินแดนแห่งนี้ แต่หลังการเข้ามาของศาสนาอิสลามผ่านนักเดินทางผู้เผยแผ่ศาสนา กษัตริย์มัลดีฟส์ทรงเปลี่ยนศาสนา ศาสนาพุทธจึงสูญไปจากมัลดีฟส์ หลงเหลือเพียงโบราณสถานและโบราณวัตถุที่แสดงอิทธิพลของพุทธในอดีต
หลักฐานทางโบราณคดี
[แก้]
มีการค้นพบซากพุทธสถานในประเทศมัลดีฟส์ นักโบราณคดีตะวันตกจึงให้ความสนใจโบราณสถานเหล่านี้ เพราะต้องการศึกษาวัฒนธรรมยุคต้นของมัลดีฟส์ โดยเฮช. ซี. พี. เบลล์ (อังกฤษ: H. C. P. Bell) ข้าหลวงแห่งซีลอนค้นพบครั้งแรกโดยบังเอิญจากอุบัติเหตุเรืออัปปางบนเกาะเมื่อ ค.ศ. 1879 ภายหลังเขาจึงกลับมาศึกษาซากพุทธสถานอีกครั้ง โดยศึกษาซากที่เรียกว่า "ฮาวิตตา" (อักษรโรมัน: havitta; มัลดีฟส์: ހަވިއްތަ) และ "อุสตูบู" (ละติน: ustubu) ตรงกับคำว่า ไจติยะ และ สถูป ตามลำดับ ซึ่งพบได้ตามอะทอลล์หลาย ๆ แห่ง[1]
แม้เบลล์สันนิษฐานไว้ ว่าชาวมัลดีฟส์สมัยก่อนนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทตามอย่างศรีลังกาซึ่งอยู่ใกล้เคียง[1] แต่จากโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาเท่าที่พบในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงมาเล บ่งชี้ว่าเป็นศาสนวัตถุคติมหายานหรือวัชรยานมากกว่า[2]
ในคติชนมัลดีฟส์ระบุว่า มีเจ้านายพระองค์หนึ่งชื่อเจ้าชายโกอิมาลา (Koimala) เดินทางมาจากอินเดียหรือศรีลังกาแล้วเข้าสู่มัลดีฟส์ทางตอนเหนือ และตั้งตนเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์ทีมูเค (Theemuge) หรือโหมะ (Homa) ก่อนหน้านี้มีชาวทราวิฑกลุ่มหนึ่งเข้าไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะเรียกว่าชาวกีราวารู (Giravaaru) ซึ่งอ้างตัวว่าสืบเชื้อสายจากชาวทมิฬโบราณ มาตั้งถิ่นฐานบนเกาะกีราวารู (ปัจจุบันคือคาฟูอะทอล) มีการกล่าวถึงชาวคีราวาอารูว่าเป็นผู้ก่อตั้งเขตการปกครองและตั้งกษัตริย์ปกครองกรุงมาเล ก่อนการมาถึงของศาสนาพุทธ ราชวงศ์เหนือ และการปกครองแบบรวมศูนย์
กษัตริย์มัลดีฟส์ยุคแรกทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ดังจะพบได้จากศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นและมีพัฒนาการอย่างสูง จนกระทั่งมีการเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 เป็นต้นไป และยังพบการบันทึกของนักเดินทางผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลาม (อาจเป็นชาวเปอร์เซียหรือโมร็อกโก) ปราบปีศาจพื้นเมืองรันนามารี (Rannamaari)[3]
การทำลายรูปเคารพทางพุทธศาสนา
[แก้]เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 มีชาวมุสลิมหัวรุนแรงบุกเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงมาเลเพื่อทำลายงานประติมากรรมยุคก่อนอิสลาม ส่งผลให้โบราณวัตถุทางพุทธศาสนาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 จำนวนสามสิบชิ้นเสียหายหรือถูกทำลายลง[4] เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ระบุว่าประติมากรรมเกือบทั้งหมดทำจากปะการังหรือหินปูน ส่วนใหญ่เปราะบางแตกง่ายยากแก่การซ่อมแซม มีเพียงสองถึงสามชิ้นเท่านั้นที่สามารถซ่อมแซมได้[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 HCP Bell, The Máldive Islands: An account of the Physical Features, History, Inhabitants, Productions and Trade. Colombo 1883
- ↑ Xavier Romero-Frias, The Maldive Islanders, A Study of the Popular Culture of an Ancient Ocean Kingdom. ISBN 84-7254-801-5
- ↑ "Maldivian history: A mockery of past and present". The Daily Panic. 8 พฤศจิกายน 2556. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Bajas, Vikas (13 February 2012). "Vandalism at Maldives Museum Stirs Fears of Extremism". The New York Times.
- ↑ "35 Invaluable Hindu and Buddhist Statues Destroyed in Maldives by Extremist Islamic Group". The Chakra. 23 February 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-26. สืบค้นเมื่อ 2018-10-18.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ศาสนาพุทธในมัลดีฟส์
- Windows on Asia - Religion in Maldives เก็บถาวร 2007-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Conversion of the Maldives to Islam