ชาวกีราวารู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กีราวารู
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
มัลดีฟส์ ประเทศมัลดีฟส์
ภาษา
ดิเวฮิ
เดิมใช้ภาษาทมิฬโบราณ
ศาสนา
อิสลาม
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
มัลดีฟส์ · ทมิฬ · มลยาฬี · สิงหล

ชาวกีราวารู เป็นชนพื้นเมืองบนเกาะกีราวารู ประเทศมัลดีฟส์ เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรก ๆ ของมัลดีฟส์ พวกเขาสืบเชื้อสายมาจากชาวทมิฬโบราณ[1] ชาวมัลดีฟส์ส่วนใหญ่มองว่าชาวกีราวารูมีสถานะทางสังคมที่ต้อยต่ำกว่า[2] ต่อมาเกาะกีราวารูอันเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเขามีปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง รัฐบาลจึงย้ายพวกเขาไปอาศัยบนเกาะฮุลฮูเล กรุงมาเล[2] และส่วนอื่นของคาฟูอะทอลล์[3] ทำให้ปัจจุบันชาวกีราวารูถูกผสมกลมกลืนไปกับประชากรกลุ่มใหญ่[2]

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

"กีราวารู" มาจากคำดิเวฮิว่า "กีรา" แปลว่ากัดเซาะ กับคำสิงหลว่า "วารู" แปลว่าคนคือชาวเกาะ[4]

ประวัติ[แก้]

ยุคแรกเริ่ม[แก้]

ชาวกีราวารูคือผู้สืบเชื้อสายจากชาวทมิฬโบราณซึ่งอพยพจากชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย และชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศศรีลังกา คาดว่าเข้าไปตั้งถิ่นฐานในหมู่เกาะมัลดีฟส์ตั้งแต่ยุคสังคัม (ช่วง 300 ปีก่อนคริสต์กาลจนถึง ค.ศ. 300)[5][6] เข้าไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะกีราวารู เป็นลากูนทางตอนเหนือของมาเล ซึ่งปรากฏสิ่งก่อสร้างและวัดบนเกาะ[7] ชาวกีราวารูถูกกล่าวถึงในมุขปาฐะเรื่องการสถาปนาอาณาจักรบนเกาะมาเลของกษัตริย์โกอิมาลา ว่าชาวกีราวารูเป็นชนพื้นเมืองมาช้านาน และได้รับอนุญาตให้เฝ้าถวายพระพรกษัตริย์โกอิมาลา

ชาวกีราวารูต่างจากชาวมัลดีฟส์ทั่วไป ทั้งด้านกายภาพ ภาษา และวัฒนธรรม พึงสังเกตได้ว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างทมิฬ-มลยาฬัม[7] เดิมนับถือสุริยเทพและศาสนาพุทธ[8] ถือคติผัวเดียวเมียเดียวอย่างเคร่งครัด การหย่าร้างเป็นเรื่องต้องห้าม รวมทั้งการไม่สมรสกับคนนอกเกาะ แต่จะติดต่อกับคนนอกเกาะเพียงวิธีเดียวด้วยการพายเรือไปขายปลาที่เกาะมาเล[7] ความเชื่อพื้นบ้านถูกเก็บรักษาไว้ในรูปแบบของเพลงและการเต้นรำพื้นบ้าน พวกเขาสวมสร้อยคอลูกปัดสีฟ้า ทั้งหมดล้วนเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างไปชาวมัลดีฟส์เกาะอื่น ๆ[1] เชื่อกันว่าชาวกีราวารูกลัวกบหรือคางคก[7]

หัวหน้าของชาวกีราวารูส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง สุลต่านมัลดีฟส์จะตั้งอิสตรีเป็นตัวแทนพระราชอำนาจบนเกาะกีราวารู โดยให้สิทธิใช้กฎหมายพิเศษต่างจากบริเวณอื่น ๆ ของประเทศ และในขณะเดียวกันชาวกีราวารูเองไม่เคยทราบพระราชอำนาจเต็มของสุลต่านมัลดีฟส์ต่อเกาะของพวกตนเลย เวลาชาวมัลดีฟส์ติดต่อกับชนชั้นสูงจะใช้ภาษาที่ให้เกียรติ แต่ชาวกีราวารูไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมนี้ และใช้คำพูดสามัญเวลาติดต่อกับชนชั้นสูง

ค.ศ. 1922 (พ.ศ. 2465) มีชาวกีราวารูจำนวน 150 คน[7]

หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) และหลังการยกเลิกระบอบสุลต่าน กฎหมายจารีตของชาวเกาะกีราวารูจึงถูกยกเลิกไปด้วย[1]

สูญวัฒนธรรม[แก้]

ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) เกาะกีราวารูเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง พวกเขาถูกรัฐบาลบังคับให้ละทิ้งเกาะตามหลักศาสนาอิสลาม ที่ชุมชนจะต้องมีชายบรรลุนิติภาวะจำนวน 40 คนจึงจะสามารถทำละหมาดวันศุกร์ได้ พวกเขาล่องเรือไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะฮุลฮูเลอีกฟากของอะทอลล์ แต่หลังการขยายท่าอากาศยานนานาชาติ พวกเขาจึงถูกย้ายไปกรุงมาเล มีแหล่งอาศัยขนาดไม่กี่ช่วงตึกในเขตมาฟันนู[3][9] เป็นความพยายามของรัฐบาลมัลดีฟส์ที่ต้องการให้ชาวกีราวารูกลืนไปกับชนส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับการล้างประวัติศาสตร์ศาสนาพุทธในมัลดีฟส์[8]

จากอัตราเกิดต่ำเป็นระยะเวลายาวนานนับพันปีทำให้ชาวกีราวารูมีจำนวนค่อนข้างน้อย วัฒนธรรมที่โดดเด่นของกีราวารูถูกกลืนหายจากการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ของคนหนุ่มสาวกับชาวมัลดีฟส์ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ ปัจจุบันคาดว่าชาวกีราวารูบริสุทธิ์คงสูญไปแล้ว

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 Maloney, Clarence. "Maldives People". สืบค้นเมื่อ 2008-06-22.
  2. 2.0 2.1 2.2 Kulikov, L.I. (2014). "Traces of castes and other social strata in the Maldives: a case study of social stratification in a diachronic perspective (ethnographic, historic, and linguistic evidence)". Zeitschrift für Ethnologie. 139 (2): 199–213 [203]. hdl:1887/32215.
  3. 3.0 3.1 Gnanadesikan, Amalia E. (2017-01-28). Dhivehi: The Language of the Maldives (ภาษาอังกฤษ). Walter de Gruyter GmbH & Co KG. ISBN 9781614512349.
  4. Godfrey, Tim (April 1998). Dive Maldives: a guide to the Maldives Archipelago (ภาษาอังกฤษ). Atoll Editions. p. 25.
  5. Ellis, Royston (2008-01-01). Maldives (ภาษาอังกฤษ). Bradt Travel Guides. ISBN 9781841622668.
  6. Xavier Romero-Frias, The Maldive Islanders, A Study of the Popular Culture of an Ancient Ocean Kingdom
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Mauloof Ahmed (2 มิถุนายน 2560). "The Giraavaru People". My Online Journal. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 "The long road from Islam to Islamism: A short history". Dhivehi Sitee. 30 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "An Indigenous People Wiped Out".
บรรณานุกรม
  • H. C. P. Bell, The Maldive Islands; Monograph on the History, Archaeology and Epigraphy. Reprint Colombo 1940. Council for Linguistic and Historical Research. Male’ 1989
  • Xavier Romero-Frias, The Maldive Islanders, A Study of the Popular Culture of an Ancient Ocean Kingdom. Barcelona 1999, ISBN 84-7254-801-5