วัดโขงเจียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโขงเจียม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดโขงเจียม, วัดบ้านด่านเก่า, วัดด่านปากมูล
ที่ตั้งตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธโลเกศวรชินราชบรมศาสดาอุดมมงคลอุบลราชธานีสุภสิริสถิต
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดโขงเจียม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลบรรจบกัน ใกล้กับจุดชมวิวแม่น้ำสองสี ในตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 21 ไร่

วัดโขงเจียมตั้งเมื่อ พ.ศ. 2392 เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดบ้านด่านเก่า ตามชื่อหมู่บ้าน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดด่านปากมูล โดยนำชื่อบ้านและชื่อแม่น้ำมูลมารวมกัน จนเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดโขงเจียม" ตามชื่ออำเภอเมื่อ พ.ศ. 2482 วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2518 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 30 เมตร ยาว 60 เมตร

พื้นที่ของวัดด้านทิศตะวันออกจดริมฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล เห็นเป็นแม่น้ำสองสีมาบรรจบกัน โดยแม่น้ำโขงจะเห็นเป็นสีขาวขุ่น ส่วนแม่น้ำมูลเห็นเป็นสีเขียวอมฟ้า โดยในเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่เห็นความแตกต่างของสีน้ำได้ชัดเจนที่สุด[1]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถ กว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2510 วิหาร กว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2534 และศาลาการเปรียญ กว้าง 13 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2497 ปูชนียวัตถุที่สำคํญ ได้แก่ พระพุทธชินราชจำลองปางมารวิชัยปิดทอง มีพระนามว่า พระพุทธโลเกศวรชินราชบรมศาสดาอุดมมงคลอุบลราชธานีสุภสิริสถิต หน้าตักกว้าง 4 ศอก 1 คืบ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2533 พระพุทธรูปทองสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 40 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514 และพระพุทธรูปทองเหลืองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 27 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2465[2]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระครูโพธิญาณ ญาณจาโร พ.ศ. 2392–2409
  • พระเสือ สุชาโต พ.ศ. 2410–2429
  • พระเครือคุณวโร พ.ศ. 2430–2437
  • พระลาสา อาสโภ พ.ศ. 2438–2450
  • พระภูธร ภูริปญฺโญ พ.ศ. 2451–2464
  • พระเมือง มหพพโล พ.ศ. 2465–2471
  • พระครูท้าวธมฺมทินโน พ.ศ. 2472–2481
  • พระครูสุวรรณ วารีคณารักษ์ พ.ศ. 2482–2492
  • พระครูปัญญาวุฒิวิบูลย์ พ.ศ. 2493–2414
  • พระครูรัตนวารีสมานคุณ พ.ศ. 2515–

อ้างอิง[แก้]

  1. "จุดชมวิวแม่น้ำสองสี". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. "วัดโขงเจียม อาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่น จุดชมวิวแม่น้ำสองสี". สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ณ อุบลราชธานี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-08-31.