วัดเสนานุชรังสรรค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเสนานุชรังสรรค์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเสนานุชรังสรรค์, วัดใหม่กำแพง
ที่ตั้งตำบลตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเสนานุชรังสรรค์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

วัดเสนานุชรังสรรค์ เดิมชาวบ้านเรียก วัดใหม่กำแพง พระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่าเป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2390[1] หลังจากที่ได้สร้างเมือง ที่ว่าการ และที่พำนักแล้ว จึงได้สร้างวัดเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรในเมืองตะกั่วป่า และเห็นว่าพื้นที่เชิงเขาฉมังคีรี ตำบลตลาดเหนือ ใกล้สำนักสงฆ์วัดควนป้อม เป็นที่ว่างเปล่ามีอาณาบริเวณกว้างพอสมควร จึงจัดการเกลี่ยพื้นที่ด้านตะวันออกให้ราบ ก่อกำแพงด้วยอิฐถือปูนสูง 2 เมตร มีประตูสี่ประตู คือ ด้านทิศตะวันตก และทิศตะวันออก ด้านละสองประตู แล้วสร้างอุโบสถขึ้นตอนกลาง ตามแบบวัดมหรรณพารามวรวิหาร และสร้างพระประธานหล่อด้วยโลหะ หน้าตักกว้างสองศอกคืบ สร้างศาลาการเปรียญสองหลัง แบบกึ่งถาวร พื้นก่อด้วยอิฐ เสาไม้แก่น หลังคามุงสังกะสี ปัจจุบันศาลาการเปรียญทางทิศใต้ ดัดแปลงเป็นศาลาบำเพ็ญกุศล ส่วนศาลาทางด้านทิศเหนือสร้างเป็นกุฏิสงฆ์สองชั้นกึ่งถาวร วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2449 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 20.25 เมตร ยาว 10 เมตร ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2451 วัดเสนานุชรังสรรค์เคยเป็นสถานที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตลอดมา ในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475[2]

อุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้รับอิทธิพลจากแบบของจีน มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อฐานแยกพื้นข้างในประธาน และชาลารอบตัวอาคารสูงกว่าระดับดิน ริมชาลาก่อเสารายเป็นเสาสี่เหลี่ยมขึ้นไปรับพาไลทั้งสี่ด้าน หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกร็ดสามชั้น ต่อมาภายหลัง หลังคาได้หักพังลงมา ทางวัดได้จัดการซ่อมขึ้นใหม่ โดยลดลงเสียชั้นหนึ่งแล้วมุงด้วยสังกะสี[3] วัดได้รับการลงทะเบียนเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2539[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ผู้ว่าฯ พังงา พร้อมพุทธศาสนิกชน ทอดกฐินสามัคคีวัดเสนานุชรังสรรค์ อ.ตะกั่วป่า". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
  2. "วัดเสนานุชรังสรรค์". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  3. "วัดเสนานุชรังสรรค์". มรดกทางพระพุทธศาสนา.
  4. "วัดเสนานุชรังสรรค์". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.