วัดเพลง (กลางสวน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเพลง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเพลง, วัดเพลงกลางสวน, วัดเพรง
ที่ตั้งเลขที่ 112 ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อสิน
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อตาแดง
เจ้าอาวาสพระครูภาวนาธีรวรคุณ (ไพรัช วรโท)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเพลง (กลางสวน) เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร วัดเพลงมีงานประจำปีในช่วงเดือนมีนาคม เป็นงาน 3 วัน 3 คืน นอกจากนั้นมีงานทำบุญเฉพาะในวันพระใหญ่และเทศกาลสำคัญ หลวงพ่อตาแดง ภายในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือกันมาก ชาวบ้านมักมาบนบานศาลกล่าวด้วยประทัดหรือไข่ต้ม

ประวัติ[แก้]

วัดเพลง (กลางสวน) สร้างและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2370 และเมื่อพิจารณาจากอุโบสถหลังเดิมก็เป็นแบบพระราชนิยมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือเป็นอุโบสถแบบเก๋งจีน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2460 ก็ได้ขาดผู้ทำนุบำรุง ทำให้เสนาสนะต่าง ๆ ทรุดโทรมลงจนไม่มีภิกษุจำพรรษาและได้กลายเป็นวัดร้างที่สุด ขณะที่ประยูร อุลุชาฎะ ระบุว่า วัดได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ได้กลับไปรกร้างอีก[1] อีกแหล่งข้อมูลระบุว่า ชาวบ้านละแวกนี้เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกทัพผ่านมาบริเวณนี้แล้วสร้างวัดไว้ รวมทั้งสร้าง หลวงพ่อสิน เป็นพระประธานในอุโบสถ และเล่ากันว่าเดิมรอบวัดมีคลองทั้ง 4 ด้าน สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็เสด็จพระราชดำเนินมาทางเรือ[2] นอกจากนั้นยังมีบางสำนวนกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเคยยกทัพผ่านมาและประทับในวิหารหลวงพ่อแดง[3]

ต่อมาเมื่อมีชาวบ้านมาอยู่กันอย่างหนาแน่นในย่านนี้ จึงได้นิมนต์พระสมุห์ทองใบ ติกฺขวีโร มาฟื้นฟูวัดร้างขึ้นใหม่ ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกวัดเพลงร้างเป็นวัดที่มีพระสงฆ์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2522[4]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถเดิมเป็นทรงเก๋งจีน แต่บูรณะใหม่เป็นทรงไทย หลังคา 2 ชั้นลด หน้าบันเป็นลายหน้าขบหรือเกียรติมุขล้อมรอบด้วยเครือเถา หน้าต่างเป็นไม้สัก ภายในประดิษฐานพระประธาน นามว่า หลวงพ่อสิน เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิทองเหลือง หน้าตัก 2 ศอก วิหารตั้งอยู่ด้านข้างหรือด้านทิศเหนือของอุโบสถ ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อตาแดง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ชาวบ้านมักมักมาแก้บนด้วยการจุดประทัดหรือถวายไข่ต้ม[5]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระสมุห์ทองใบ ติกฺขวีโร
  • พระครูอาทรกิจจาภิรักษ์
  • พระครูสังฆรักษ์สระ
  • พระครูภาวนาธีรวรคุณ (ไพรัช วรโท)

อ้างอิง[แก้]

  1. ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514. หน้า 101.
  2. ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549. หน้า 163.
  3. วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. หน้า 210.
  4. กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.
  5. "วัดเพลง". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.