ข้ามไปเนื้อหา

วัดเทวสังฆาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเทวสังฆาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเทวสังฆาราม, วัดเหนือ
ที่ตั้งตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระกิตติสุวัฒนาภรณ์ (บุญเพิ่ม อานนฺโท ป.ธ.๔)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดเทวสังฆาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

ประวัติ

[แก้]

วัดเทวสังฆาราม หรือชาวบ้านเรียกว่า วัดเหนือ[1] ผู้สร้างวัดชื่อท่านสมภารเสี่ยง ไม่ทราบว่าสร้างสมัยใด เมื่อครั้งพม่าตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 ได้ทำลายบ้านเมืองเสียหายหมดสิ้นแล้วกวาดต้อนครอบครัวและเก็บทรัพย์สมบัติของคนไทยกลับไปพม่า ท่านสมภารเสี่ยงเป็นชาวไทยที่มา ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ กาญจนบุรีเก่า ได้ถูกข้าศึกพม่ากวาดต้อนเอาไปด้วยพร้อมกับมารดา ในขณะที่ท่านถูกกวาดต้อนไปยังเป็นสามเณรอยู่ ต่อมาท่านได้อุปสมบทในประเทศพม่า ท่านปรารถนาจะกลับมายังบ้านเกิด มารดาของท่านจึงได้บอกสถานที่ที่ฝังทรัพย์ไว้ในเมืองที่ตั้งบ้านเรือนมาแต่เดิม เมื่อกลับมายังไทยพร้อมกับคนไทย 5–6 คน แต่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก และได้ย้ายเมืองกาญจนบุรีมาตั้งใหม่ที่ตำบลปากแพรก ท่านสมภารเสี่ยงผู้ดำริจะสร้างวัดจึงคิดว่าถ้าจะสร้างวัด ณ เมืองกาญจนบุรีเก่า ซึ่งกำลังจะเลิกร้างไป ท้ายสุดท่านตัดสินใจสร้างใกล้กับเมืองกาญจนบุรีใหม่ เริ่มแรกตั้งเป็นสำนักสงฆ์ จากนั้นสร้างอุโบสถ

จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2368 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2480 วัดเทวสังฆารามได้รับการยกฐานะเป็น พระอารามหลวงตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505[2]

อาคารเสนาสนะ

[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถหลังใหม่ พระอุโบสถหลังเก่ามีหลังคาเชิงซ้อนด้านหน้ามีมุขหับเผย ศิลปะอยุธยา ส่วนเครื่องลำยองน่าจะสร้างในสมัยหลัง ข้างพระอุโบสถหลังเก่ามีมณฑป สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือสร้างรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระอุโบสถ มีรูปปั้นด้านหน้าเป็นรูปคนนุ่งกางเกงขายาว สวมเสื้อคอปิดยืนอยู่ 2 ข้างทางเข้า ศาลาการเปรียญมีหน้าบัน จารึกพระปรมาภิไธย ภปร. เหนือผ้าทิพย์แห่งพระพุทธรูปปางประทานพร เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนกลางทรงระฆังสูง ตกแต่งลวดลายพรหมพฤกษาปล้องไฉน แสดงด้วยบัวกลุ่ม 5 ชั้นปลายสุดชำรุดหายไป ด้านล่างคอระฆังประดับลายกลีบบัวซ้อน 1 ชั้น เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธสุทธิมงคล[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดเทวสังฆาราม หรือวัดเหนือ จังหวัดกาญจนบุรี". มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ลงนามความร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์.
  2. "วัดเทวสังฆาราม พระอารามหลวง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "เปิดประวัติ "พระพุทธสุทธิมงคล" พระประทานอุโบสถวัดเทวสังฆารามพระอารามหลวง กาญจนบุรี". ผู้จัดการออนไลน์.