วัดเจ็ดริ้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเจ็ดริ้ว
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 1/1 หมู่ที่ 3 ถนนบ้านแพ้ว-คลองตัน ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร 74120
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเจ็ดริ้ว เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 บ้านต้นคลองเจ็ดริ้ว ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ จำนวน    ๙๗   ไร่  ๒ งาน  ๒๘ ตารางวา (อ้างจาก sangha14.org)

ประวัติ[แก้]

วัดเจ็ดริ้วตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2436 โดยชาวตำบลเจ็ดริ้วเชื้อสายรามัญ ช่วงแรกใช้วัสดุพื้นบ้าน หลังคามุงจาก โครงสร้างทำด้วยไม้รวก ไม้ไผ่ ตั้งชื่อวัดว่า วัดรามัญวงศ์วราราม ต่อมาเปลี่ยนมาเป็น วัดเจ็ดริ้วรามัญวงศ์ และเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันว่า "วัดเจ็ดริ้ว" วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2456 ด้านการศึกษา วัดมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2479

แต่เดิมตั้งอยู่บนที่ดอน ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2480 ชาวเจ็ดริ้วได้ร่วมมือกับทางราชการขุดคลองยาว 8 กิโลเมตรเศษ ขึ้นตามแนวร่องน้ำซึ่งมีอยู่เดิมเพื่อสะดวกในการสัญจรไปมาและขุดผ่านหน้าวัดพอดี โดยขุดตัดกับคลองดำเนินสะดวกไปทะลุคลองจินดา จึงทำให้วัดตั้งอยู่ริมคลองทางฝั่งตะวันตก[1]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะในวัดได้แก่ อุโบสถ กว้าง 9.20 เมตร ยาว 21 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 เจดีย์ 2 องค์ กว้าง 15 เมตร ยาว 5 เมตร ศาลาการเปรียญ กว้าง 22 เมตร ยาว 42.40 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2531 หอสวดมนต์ กว้าง 10 เมตร ยาว 13 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2551 เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น กุฏิสงฆ์ จำนวน 9 หลัง เป็นอาคารไม้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2535 ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 18 เมตร ยาว 45 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 เป็นอาคารไม้ ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง และหอฉันทรงไทย กว้าง 10 เมตร ยาว 28 เมตร[2] สำหรับอุโบสถเก่ามีสภาพร้าง ทรุดโทรมมาก

งานประเพณี[แก้]

ด้านงานประเพณี มีงานประเพณีล้างเท้าพระและตักบาตรดอกไม้ในช่วงวันออกพรรษา[3]

เทศกาลงานสงกรานต์มอญที่วัดเจ็ดริ้ว จัดงานระหว่างวันที่ 13–16 เมษายน มีการแห่หลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระประธานของวัดเจ็ดริ้ว พร้อมทั้งอัญเชิญรูปเหมือนหลวงปู่จ้อน อดีตเจ้าอาวาส ร่วมขบวนแห่เพื่อให้ชาวเจ็ดริ้วได้สรงน้ำและทำบุญ[4] และในวันที่ 14 เมษายน มีประเพณีแห่ธงตะขาบ[5]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอธิการเกศ สุเมโธ พ.ศ. 2436–2453
  • พระอธิการหงส์ จิตธัมโม พ.ศ. 2456–2486
  • พระครูสาครกิจโกศล(จ้อน วรุโน) พ.ศ. 2488–2528
  • พระครูโกศลสาครกิจ(ทองเสริม สุเมโธ)พ.ศ. 2529–2539
  • พระครูปริยัติสาครกิจ(พระมหาสมยา ฐานฑตโต)พ.ศ. 2540–2562
  • พระครูสังฆรักษ์ก้องไพร สุวัฒโณ พ.ศ. 2562-ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดเจ็ดริ้ว". องค์การบริหารส่วนตำบลเจ็ดริ้ว.
  2. "วัดเจ็ดริ้ว". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "งานประเพณีล้างเท้าพระและตักบาตรดอกไม้". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ และจักรี โพธิมณี. "สงกรานต์มอญ วัดเจ็ดริ้ว". ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย.
  5. "ประเพณีแห่หางหงส์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.