วัดเจดีย์เหลี่ยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเจดีย์เหลี่ยม
Wat Chedi Liam (I).jpg
เจดีย์เหลี่ยมในปี พ.ศ. 2563
Map
ชื่อสามัญวัดกู่คำ
ที่ตั้งอำเภอสารภี เชียงใหม่
ความพิเศษเจดีย์เหลี่ยมทรงหริภุญไชย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา
วิหารประจำวัดเจดีย์เหลี่ยม
วิหารและเจดีย์เหลี่ยม

วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ วัดกู่คำ ตั้งอยู่ติดกับถนนเกาะกลาง ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1831 โดยพญามังราย มีจุดเด่นคือเจดีย์ทรงปราสาทจำนวน 5 ชั้น 20 องค์ มีลักษณะคล้ายคลึงกับเจดีย์กู่กุดในวัดจามเทวี และ สุวรรณเจดีย์ในวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมเจดีย์ในสมัยอาณาจักรหริภุญไชย[1]

ประวัติ[แก้]

วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ วัดกู่คำ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1831 โดยพญามังราย ซึ่งโปรดให้นำดินที่ขุดได้จากหนองต่างใกล้กับคุ้มของพระองค์ในเวียงกุมกามมาทำอิฐเพื่อก่อกู่คำ ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า

"เจ้ามังรายว่า คูมาสร้างเวียงกุมกามเปนที่เพิงใจนัก ควรคูจักก่อเจติยะไว้เปนที่ไหว้แลปูชาดีชะแล ในปีเปิกใจ้ สกราชได้ ๖๕๐ ตัว เจ้ามังรายจิ่งหื้อไพเอาดินหนองต่างมาก่อเจติยะกู่ฅำวันนั้นแล"[2]

สันนิษฐานว่าการสร้างกู่คำในสมัยพญามังรายคงใช้อิฐประกอบกับศิลาแลง ซึ่งตำนานมูลศาสนากล่าวว่า

"ท่าน (พญามังราย) ยินดีในศาสนาพระพุทธเจ้า จักใคร่กระทำบุญอันใหญ่ เป็นต้นว่าสร้างเจดีย์นั้น จึงให้อำมาตย์ทั้งหลายหาหินมาแล้วก็ให้ก่อเป็น 4 เหลี่ยม แต่ละด้านให้มีพระพุทธรูปเจ้า 14 องค์ แล้วให้ใส่คำแต่ยอดลงมาดูงามนัก ใส่ชื่อว่ากู่คำ แล้วให้ฉลองและถวายมหาทาน กับทั้งเครื่องอัฐบริขารแก่สงฆ์เจ้ามากนักแล"[3]

หินที่กล่าวในตำนานมูลศาสนา คงหมายถึงศิลาแลง ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้สูงอายุเกี่ยวกับลักษณะของเจดีย์กู่คำก่อนการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2451 ว่า มีสภาพเป็นเจดีย์กลวง ข้างในเจดีย์มีทางเข้าออกได้ ภายในก่อด้วยศิลาแลงทั้งนั้น แต่ข้างนอกก่อเป็นอิฐมี 5 ชั้น[4]

โคลงนิราชหริภุญชัย สมัยพระเมืองแก้ว ผู้แต่งได้กล่าวถึงวัดกู่คำว่า เป็นวัดที่พญามังรายสร้างเพื่อบรรจุอัฐิพระมเหสีของพระองค์พระองค์หนึ่ง ซึ่งกล่าวไว้ดังนี้[5]

๏ อารามรมเยศเมิ้น มังราย
นามกู่คำหลวงหลาย เช่นท้าว
หกสิบสยมภูยาย ยังรอด งามเอ่
แปลงคู่นุชน้องน้าว นาฏโอ้โรทา
โคลงนิราศหริภุญชัย

แต่หลักฐานจากจารึกสถานที่ประดิษฐานพระธาตุ พ.ศ. 2006 สมัยพระเมืองแก้วเช่นเดียวกัน กล่าวว่ากู่คำเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ "กู่คำกูมกามไว้ธาตุดู(ก)คางขวา"[6]

เจดีย์กู่คำมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม มีพระพุทธรูปยืนด้านละ 15 องค์ แต่ละด้านมีซุ้มพระชั้นละ 3 องค์ มี 5 ชั้น รวมทั้งหมด 60 องค์ เป็นการลอกเลียนแบบเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี เหตุที่ได้ชื่อว่ากู่คำ เพราะมีการประดับด้วยทองคำลงมาตั้งแต่ยอด แต่เนื่องจากได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยรองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร (หม่องปันโหย่ อุปะโยคิน) คหบดีชาวพม่า ทำให้พระพุทธรูป ซุ้มพระ ลายพรรณพฤกษากลายเป็นรูปแบบศิลปะพม่าไป และมีการเพิ่มพระพุทธรูปนั่งอีก 4 องค์ รวมทั้งหมด 64 องค์ เพื่อให้เท่ากับอายุของรองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร (หม่องปันโหย่ อุปะโยคิน) ในขณะนั้นด้วย [7]

เนื่องจากกู่คำมีความสำคัญ จึงได้รับการทำนุบำรุงสืบต่อกันมา จากการขุดแต่งบูรณะและศึกษาของสายันต์ ไพรชาญจิตร์ ชี้ให้เห็นว่า การก่อสร้างลานประทักษิณและกำแพงแก้วของวัดกู่คำตั้งแต่ครั้งแรกจนปัจจุบัน มีการก่อสร้างมาแล้ว 7 ครั้ง[8]

อนึ่ง วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2539 มีการค้นพบเศษชิ้นส่วนจารึกอักษรไทยสุโขทัย อายุพุทธศตวรรษ 19–20 บริเวณนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของเจดีย์กู่คำ ซึ่งรูปอักษรและรูปสระในจารึกมีลักษณะใกล้เคียงกับจารึกพ่อขุนรามคำแหงมาก เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงอารยธรรมการใช้อักษรภาษาของกลุ่มชนคนไทยแถบลุ่มแม่น้ำปิงในช่วงสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่[9][10]

อ้างอิง[แก้]

  1. สายพวงแก้ว, ณัฐพงษ (2018). การจัดการการท่องเที่ยวศิลปกรรมเวียงกุมกามจังหวัดเชียงใหม่ (PDF). ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 28. สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.
  2. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
  3. พระพุทธกามและพระพุทธญาณ. ตำนานมูลศาสนา. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ 17 ธันวาคม 2518.
  4. ถวิล ณ เชียงใหม่. "ตำนานบรมธาตุวัดเจดีย์เหลี่ยม", ใน สารภีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี. ไม่ระบุสถานที่พิมพ์, 2525.
  5. https://vajirayana.org/โคลงนิราศหริภุญชัย/โคลงนิราศหริภุญชัย
  6. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1677
  7. สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. 2551.
  8. กรมศิลปากร. โบราณคดีล้านนา. 2540.
  9. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/18124
  10. https://www.facebook.com/WiangkumkamInformationCenter/posts/1563220067188760/