วัดเขาตะเครา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเขาตะเครา
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อทอง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเขาตะเครา เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

วัดเขาตะเคราเป็นวัดเก่า ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสมัยใด แต่มีหลักฐานชัดเจนปรากฏในเพลงยาวหม่อมพิมเสนในสมัยอยุธยา ในนามว่า วัดเขาดิน ความว่า

ข้ามท้องสาครชะเลมา ก็ลุถึงปากน้ำบางตะเครา
ยิ่งแลเห็นเปล่าเคร้าใจใฝ่หา จรดลตามชลมารคมา
หมายตามมณฑปวัดเขาดิน เห็นเหมือนมณฑปวัดศพสวรรค์
ยิ่งร้อนรัญจวนนักหนักถวิน ที่แล่นสูงล้วนฝูงกุมภินฯ

อย่างไรก็ดีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2307 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2498[1] นอกจากนี้ยังปรากฏในนิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2375) ที่กล่าวถึงหลวงพ่อวัดเขาตะเคราหรือหลวงพ่อทอง ความว่า

รู่หนึ่งถึงเขาเคราสวาท มีอาวาสวัดวามหาเถร
มะพร้าวรอบขอบเขตที่บริเวณ พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ
กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้ ขึ้นไปไหว้พระสำฤทธิ์พิษฐาน
เขานับถือลือมาแต่บุราณ ใครบนบานพระก็รับช่วยดับร้อนฯ

สันนิษฐานว่าคำว่า "เขาตะเครา" น่าจะมาจากเจ้าสัวชาวจีนผู้หนึ่งได้สละทรัพย์สร้างเป็นวัดขึ้นโดยให้ลูกน้องคนหนึ่งไม่ปรากฏชื่อคอยควบคุม ซึ่งเป็นชาวจีนเหมือนกัน จีนผู้ควบคุมนี้เขาไว้หนวดเครายาว และวัดตั้งอยู่บริเวณเขา จึงเรียกรวมกันว่า "วัดเขาจีนเครา" ภายหลังเพี้ยนจาก "จีน" มาเป็น "ตา" เพราะง่ายต่อการจำ ภายหลังกร่อนจาก "ตา" เป็น "ตะ" เมื่อสรุปแล้วได้ความตามปัจจุบันว่าเขาตะเครา[2]

สำหรับ หลวงพ่อทอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว ที่เชื่อกันว่าเป็นพระพี่พระน้องกับหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา หลวงพ่อบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม และบางเรื่องเล่ายังบอกว่าเป็นพระพี่พระน้องกับหลวงพ่อบางพลีใหญ่และหลวงพ่อวัดไร่ขิงหลวงพ่อวัดไร่ขิงที่นครปฐมอีกด้วย[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดเขาตะเครา". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดเขาตะเครา". โครงการฐานข้อมูลพระพุทธศาสนาประเทศไทย.
  3. "วัดเขาตะเครา". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).