วัดสามกระบือเผือก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสามกระบือเผือก
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสามกระบือเผือก, วัดอินทาราม
ที่ตั้งตำบลสามควายเผือก อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูวิสุทธาจารวิมล (เฉลิม ยสธโร)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสามกระบือเผือก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลสามควายเผือก อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม พื้นที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 23 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา ตามหนังสือโฉนดเลขที่ 25788 เล่ม 258 หน้า 87

วัดสามกระบือเผือกตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2415 ตามประวัติเล่าว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่ออาจารย์โต เดินธุดงค์มาซึ่งไม่มีใครทราบว่าท่านมาจากไหน ได้มาปักกลดอยู่ที่บ้านสระน้ำหวาน ชาวบ้านมีความเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านจึงนิมนต์ให้ท่านอยู่และพร้อมใจกันสร้างเสนาสนะเล็ก ๆ ให้เป็นสำนักสงฆ์ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดสามกระบือเผือกในปัจจุบัน ห่างจากวัดประมาณ 3 กิโลเมตร ในระหว่างที่ท่านอยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ บ้านสระน้ำหวานนี้ มีเด็กชายชาเป็นลูกศิษย์คอยปรนนิบัติท่านอยู่ด้วย พร้อมกับเล่าเรียนหนังสือและวิชาการต่าง ๆ จากอาจารย์โต ควบคู่กันไปด้วย ต่อมาเด็กชายชาได้บรรพชาเป็นสามเณร จนกระทั่งอายุได้ 21 ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ครั้นต่อมาอาจารย์โตได้คิดย้ายวัดมาตั้งในที่เหมาะสม จึงได้ย้ายมาอยู่ทางทิศเหนือของที่ตั้งวัดปัจจุบัน ระยะห่างประมาณครึ่งกิโลเมตร ต่อมาอาจารย์โตได้ชราภาพและมรณภาพลง ชาวบ้านจึงมอบให้พระภิกษุชาเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา

พระภิกษุชาได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ที่ตั้งวัดในสมัยนั้นยังไม่เหมาะสม จึงได้ทำการย้ายที่ตั้งวัดใหม่เป็นครั้งที่ 3 โดยย้ายข้ามคลองลงมาทางทิศใต้ และได้ทำการสร้างวัดใหม่ในที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อมีเสนาสนะพอสมควรแล้ว ก็มีนายหมวดอินทร์เป็นผู้อุปการะวัด มีการก่อสร้างอุโบสถประมาณ พ.ศ. 2423 ขนานนามวัดว่า วัดอินทาราม โดยเอานามของนายหมวดอินทร์มาตั้งเป็นชื่อวัด และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2435 ต่อมามีพ่อค้าเกวียนเทียมควายบรรทุกของเดินทางมาหลายเล่มเกวียน มาหยุดพักบริเวณวัด ชาวบ้านละแวกนี้ซึ่งเป็นชนชาวลาว จึงถือเอานิมิตรว่า ควายเผือกสามตัวเป็นมงคล ชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ว่า "วัดสามควายเผือก" ตั้งแต่นั้นมา[1] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2525[2]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • หลวงพ่อชา พ.ศ. 2463
  • หลวงพ่อฉ่ำ พ.ศ. 2463–2485
  • พระครูสังฆการโกวิท (วรรณ ปุณฺณวณฺโณ) พ.ศ. 2485–2526
  • พระครูวิสุทธาจารวิมล (เฉลิม ยสธโร) พ.ศ. 2526

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดสามกระบือเผือก".
  2. "วัดสามกระบือเผือก". พระสังฆาธิการ.