วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม, วัดสวัสดิวารีสีมาราม, วัดแคสามเสน, วัดแค
ที่ตั้งเลขที่ 994 ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระมหาพิทักษ์ จิตฺตโสภโณ, ดร. ป.ธ.8
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ติดคลองสามเสน ในแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน

ประวัติ[แก้]

วัดสวัสดิ์วารีสีมารามสร้างเมื่อ พ.ศ. 2375 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างโดยพระยาสวัสดิ์วารี (เจ๊สัวฉิม) และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีเดียวกัน ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า "วัดแคสามเสน" หลังจากสร้างวัดได้มีการสร้างและบูรณะเสนาสนะต่าง ๆ เป็นระยะ ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงหลัง พ.ศ. 2510 และมีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2539 นอกจากนี้วัดยังได้สร้างโรงเรียนประชาบาลในพื้นที่วัด โดยเปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2475[1]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถมีรูปแบบตามพระราชนิยมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เป็นทรงโรงมีระเบียงและพาไลรอบ มีเสารองรับพาไลเป็นเสาสี่เหลี่ยมเรียบไม่ประดับบัวหัวเสา ระหว่างช่องเสาเชื่อมต่อด้วยพนักระเบียง เครื่องบนเป็นหลังคาซ้อน 2 ชั้น หน้าบันตกแต่งลวดลายดอกไม้และสัตว์มงคล ไม่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่แทนที่ด้วยปูนปั้นหัวนาค บันไดทางขึ้นมีพนักโค้ง ปลายบันไดประดับสิงโตจีนศิลา[2] ภายในอุโบสถไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีแต่จิตรกรรมบนเพดานซึ่งของเดิมชำรุดและได้ทำการบูรณะใหม่เมื่อ พ.ศ. 2539 โดยพยายามคงสภาพเดิมไว้ พื้นเพดานทาสีแดง มีรูปลายจีนในวงกลมเสมือนเป็นดาวเพดาน ล้อมด้วยตัวค้างคาว มีขื่อประดับลายมังกร 2 ตัว หันเข้าด้วยกัน พระพุทธรูปจัดเป็นหมู่บนฐานชุกชี พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยมีเครื่องพระพักตร์ ด้านหน้าบนสุดบนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง 2 องค์

หน้าอุโบสถนอกกำแพงแก้ว มีเจดีย์ทรงระฆังสีขาว เจดีย์รายทั้ง 4 กล่าวกันว่าเจ้าจอมท่านหนึ่งสร้างไว้เพื่อบรรจุอัฐิบุคคลในวงศ์ตระกูล มีป้ายจารึกชื่ออยู่ที่เจดีย์ว่า เจ้าจอมแก้วในรัชกาลที่ 5 และป้ายสกุลปาลกะวงศ์ ซึ่งคงเป็นตระกูลที่เคยอยู่หรือมีที่ดินอยู่ตรงข้ามวัด[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. กองพุทธศาสนสถาน, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. หน้า 296.
  2. ไขแสง ศุขวัฒนะ. วัดพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526), หน้า 60–62.
  3. ภัทราวรรณ บุญจันทร์. "ความสัมพันธ์ของชุมชนกับศิลปกรรมในวัดราษฎร์ริมคลองสามเสน" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 47–52.