วัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดศรีสุริยวงศาราม)
วัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดศรีสุริยวงศ์
ที่ตั้ง365 ถ.อมรินทร์ ต.หน้าเมือง อ.เภอเมือง จ.ราชบุรี 70000
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายธรรมยุตินิกาย
พระประธานพระประธานปางมารวิชัย
ความพิเศษวัดประจำตระกูลบุนนาค
เวลาทำการทุกวัน 8.00-17.00
จุดสนใจสักการะพระประธานในพระอุโบสถ
กิจกรรม2 พ.ค. : งานบำเพ็ญกุศล อุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาส
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียก วัดศรีสุริยวงศ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัด คณะสงฆ์ธรรมยุต ที่อยู่ 365 ถนน อัมรินทร์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่เศษ

ประวัติและความเป็นมา[แก้]

ในปี พุทธศักราช 2416 หลังจากที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัชกาลที่ 5 แล้ว ท่านได้มาพำนักอยู่หัวเมืองราชบุรี และมีดำริจะสร้างพระราชวังถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้ขอพระบรมราชานุญาติและพระองค์ทรงโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังขนาดเล็กขึ้นบนเขาที่เมืองราชบุรี ในปี พ.ศ. 2417 ในการสร้างวังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กับเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ในฐานะที่เคยอำนวยการสร้างพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นแม่กองสร้างพระราชวังที่เมืองราชบุรีอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเดิมบนภูเขาสัตตนารถนี้เป็นวัด มีพระเจดีย์หนึ่งองค์กับวิหารพระพุทธไสยาสน์ตั้งอยู่ พระองค์จึงได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ผาติกรรมที่ธรณีสงฆ์ของวัดเขาสัตตนารถ แล้วย้ายวัดสัตตนารถไปสร้างใหม่ที่วัดร้างริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง บริเวณหน้าเมือง และพระราชทานนามว่า วัดสัตตนารถปริวัตร

ในระหว่างนั้น ก็ได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง เพราะได้พิจารณาเห็นว่า วัดสัตตนารถปริวัตร นั้นเป็นวัดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะสร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยเลือกเอาบริเวณใกล้กับที่พำนัก เพื่อสะดวกในการเดินทางมาพำเพ็ญกุศลและเพื่อเป็นวัดประจำตระกูล เมื่อครั้งมาพำนักที่หัวเมืองราชบุรี   โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวและควบคุมการก่อสร้างเองทั้งหมด โดยมีรูปแบบสไตล์ตะวันตกผสมผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งมีผลจากการเปิดประเทศของสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่  5 ด้วยการรับเอาอารยธรรมตะวันตกเป็นแม่แบบใบการพัฒนา ทำให้เกิดการส่งเสริมศิลปะรูปแบบใหม่ทั้งการนำเข้าศิลปินสาขาต่างๆ ตลอดจนผลงานศิลปะจากยุโรปโดยตรง ทั้งจากความพยายามดัดแปลงประยุกต์ศิลปะยุโรปให้เข้ากับเอกลักษณ์ศิลปะแบบไทย และยิ่งไปกว่านั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้มีความชำนาญในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงส่งผลให้สถาปัตยกรรมของวัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร มีความงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และหาชมได้ยากในปัจจุบัน

เมื่อสร้างวัด มีเสนาสนะ พระอุโบสถ พระเจดีย์ เสร็จเรียบร้อยแล้วในปี พ.ศ. 2422 ได้กราบบังคมทูลน้อมเกล้า ฯ ถวายวัดให้เป็นพระอารามหลวงและขอพระราชทานนามวัดและวิสุงคามสีมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานนามวัด ว่า"วัดศรีสุริยวงษาวาส" (ตามลายพระราชหัตถเลขา ร.ท จ.ศ. 1241) และมี พระบรมราชโองการพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2422 (ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 จ.ศ. 1246 พ.ศ. 2427 ชื่อวัดพระราชทานนามว่า "วัดศรีสุริยวงษาราม") ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระครูอุดมบัณฑิต (อ่อน) จากวัดพิชยญาติการาม มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และโปรดพระราชทานให้เจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศารามมีฐานานุกรมช่วยงานในวัด

สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

รัชกาลที่5 พระราชทานพระราชทรัพย์ในการก่อสร้าง[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินสมทบในการปฏิสังขรณ์วัดศรีสุริยวงศ์ จำนวน 50 ชั่ง ในวันซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสมภพ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ดังปรากฏในลายพระราชหัตถเลขา ร.ที่ ว่า

ถึง เจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์

ด้วยเจ้าคุณสร้างวัดศรีสุริยวงษาราม ครั้งนี้เป็นการกุศลใหญ่และจะ เป็นเกียรติยศปรากฏสืบไปภายน่า ฉันมีใจศัทธายินดี ครั้นจะช่วยสร้างเจดีย์สฐาน ฤๅเสนาสนะอันใดให้เป็นของเฉพาะสิ่งอันซึ่งเป็นส่วนฉันมีอยู่ในวัดนั้น เจ้าคุณก็ได้ทำการเสียเสร็จแล้วจึงจัดเงิน 50 ชั่ง มอบให้ลูกหญิงศรีวิไลยมาช่วยเจ้าคุณแล้วแต่จะเห็นควร ใช้ในการกุศลครั้งนี้ หฤๅจะไว้เป็นส่วนสำหรับปฏิสังขรณ์และสร้างสมอันใดขึ้น ในวัดนี้ก็ตามแต่เจ้าคุณจะเห็นควร ขอให้เจ้าคุณได้รับไว้ในส่วนการกุศลให้สมประสงค์ฉันด้วย

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ณ วันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 2 ปีเถาะ

เอกศก ศักราช 1241 (พ.ศ. 2422) เป็นวันที่ 5054 ในรัชกาลปัตยุบันนี้

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

ในขณะที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ทำการก่อสร้างวัดอยู่นั้น ท่านได้อนุญาตให้นายอากรซือ สร้างศาลเจ้าขึ้นหลังหนึ่ง ในบริเวณที่ดินของท่าน ซึ่งอยู่ติดกับวัดและศาลามณฑล ศาลเจ้านั้นคือ ศาลเจ้าพ่อกวนอู ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวราชบุรีมาก ตรงแท่นบูชาของศาลเจ้ามีป้ายชื่อของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นการแสดง ถึงความกตัญญูต่อผู้มีอุปการคุณ

วัดศรีสุริยวงศารามในอดีต[แก้]

วัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ทรงคุณค่าเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติที่ควรอนุรักษ์ไว้ ด้วยผู้สถาปนาวัดนี้ ในช่วงนั้นเป็นช่วงระยะเวลาที่ไทยเริ่มเผชิญวิกฤตการณ์กับชาติตะวันตก ท่านเจ้าคุณได้ใช้ความปรีชาฉลาดปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ เพื่อปกป้องศาสนา ดุจหนามยอกต้องใช้หนามบ่ง ดังปรากฏเป็นสถาปัตยกรรมของวัดศรีสุริยวงศารามวรวิหารนี้ แม้เวลาจะผ่านเลยไป จนในยุคหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพวัดศรีสุริยวงศารามก็ได้ทรุดโทรมลงอย่างหนัก เนื่องจากขาดพระภิกษุจำพรรษา จนเกือบจะมีสภาพเป็นวัดร้าง

จนในที่สุดปี พ.ศ. 2491 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้มีพระบัญชาให้พระครูศรีธรรมานุศาสน์ (โสต สุมิตฺตเถร) เจ้าอาวาสวัดตรีญาติ อำเภเมือง จังหวัดราชบุรี ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม เมื่อท่านได้มาจำพรรษาอยู่ ณ พระอารามแห่งนี้ ก็ได้เร่งมือปฏิสังขรณ์วัดที่ปรักหักพังจากภัยสงคราม และพัฒนาเรื่อยมา และท่านก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่ พระศรีธรรมานุศาสน์ และมรณภาพในวันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ซึ่งทางวัดได้กำหนดเอาวันคล้ายวันมรณภาพของท่านเป็นวันบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่อดีตเจ้าอาวาส วัดศรีสุริยวงศารามทุกรูป ซึ่งในปัจจุบันนี้มี พระพรหมมงคลวัชราจารย์ (ไสว วฑฺฒโณ) เป็นเจ้าอาวาส และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต)

ความสำคัญของวัด[แก้]

วัดศรีสุริยวงศาราม เป็นวัดที่มีความสำคัญของเมืองราชบุรี และของประเทศไทย เนื่องจาก

1. ในฐานะมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาแน่ชัด สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ของเมืองราชบุรีที่มีความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญของชาติได้

2. ศิลปกรรมที่ปรากฏเป็นหลักฐานสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตก อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศที่แพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทย ในสมัยรัชการที่ 5 คือนิยมแบบไทยประยุกต์กับตะวันตก

3. เป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน การคมนาคมสะดวก มีประชาชนไปบำเพ็ญบุญกุศลและใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดมา

4. เป็นวัดประจำตระกูลบุนนาค และประจำตัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) รัฐบุรุษคนสำคัญของไทยในสมัยนั้น

ถาวรวัตถุศาสนวัตถุที่สำคัญ[แก้]

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นที่ทราบดีแล้วว่าท่านได้เริ่มสร้างวัดนี้เมื่อประมาณ ปี 2417 นั้น ท่านได้สร้างถาวรวัตถุไว้เป็นสมบัติของวัดสืบต่อมาจนบัดนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติที่ควรจะอนุรักษ์ไว้ ดังต่อไปนี้

1. พระอุโบสถ สมเด็จเจ้าพระยาฯ สร้างขึ้นราวปี 2420 -2422 ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทรงไทยประยุกต์กับศิลปะตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น มีลักษณะทรงเตี้ย กว้าง 11.00 เมตร ยาว 18.00 เมตร ฐานสูง 30 เมตร ผนังก่ออิฐฉาบปูนเขียนลายเลียนแบบหินอ่อน มีเสาพาไลกลมแบบเสาโรมัน ปลายเสารับพาไลทำเป็นผนังโค้งติดกัน เดิมพื้นเป็นกระเบื้องโมเสก ปัจจุบันใช้เป็นหินอ่อน หลังคาเป็นกระเบื้องดินเผา ไม่มีช่อฝ้าใบระกา ในพระอุโบสถมีพระบรมศาทิศลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรูปวาดของสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงผู้ที่มีอุปการคุณต่อวัด

2. พระประธาน เป็นพระพุทธรูปสัมริด ลงรักปิดทอง พุทธลักษณะ ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.15 เมตร สูงจากฐานถึงเกศ 1.75 เมตร

3 พระเจดีย์ ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงกลมระฆังคว่ำ ตั้งบนฐานสูง 8 เหลี่ยมมีเสาพาไลกลมแบบเสาโรมัน ปลายเสารับพาไลทำเป็นผนังโค้งติดกัน มีระเบียงรอบ มีบันไดก่ออิฐขึ้นสู่ระเบียง พื้นระเบียงเดิมเป็นไม้ ปัจจุบันเป็นพื้นปูน องค์พระเจดีย์ก่อด้วยอิฐฉาบปูน ฐานกว้าง 16.00 เมตร สูง 9.40 เมตร เชื่อกันว่าสร้างไว้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

4. กุฏิเจ้าอาวาส อยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถกว้าง 9.10 เมตร ยาว 16.00 เมตร มีมุขหน้าออก 3.10 เมตร เป็นกุฏิก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น พื้นปูด้วยไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องดินเผา

5. กุฏิญี่ปุ่น มี 2 หลัง กว้าง 7 เมตร ยาว 9 เมตร สร้างลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายพระอุโบสถ มี 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูน ชั้นบนเป็นเสาร์ไม้ ผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคามุงกระเบื้องดินเผา

6. ซุ้มประตู สร้างขึ้นโดยท่านเจ้าคุณ พระศรีธรรมานุศาสน์ (สุมิตฺตเถร) ออกแบบโดย พระมหาอัมพร อมฺพโร วัดราชบพิธ แทนซุ้มประตูทที่รื้อถอนไปเพื่อขยายอาณาเขตวัดให้กว้างขวาง โดยใช้สถาปัตยกรรมแบบเดียวกับพระอุโบสถ มีตุ๊กตาโรมัน ก่ออิฐฉาบปูน เสากลม สร้างปี พ.ศ. 2498

อ้างอิง[แก้]