ข้ามไปเนื้อหา

วัดมิ่งเมือง (จังหวัดน่าน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดมิ่งเมือง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
ประเภทวัดราษฎร์ (สามัญ)
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสจร. พระสุนทรมุนี (เสน่ห์ ฐานสิริ)
รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดมิ่งเมือง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน และเป็นสถานที่ตั้งเสาหลักเมืองน่าน โดยปัจจุบันมี จร. พระสุนทรมุนี (เสน่ห์ ฐานสิริ) รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน เป็นเจ้าอาวาส[1]

ข้อมูลทั่วไป

[แก้]

ประวัติวัด

 วัดมิ่งเมือง เดิมเป็นวัดร้าง ไม่ปรากฏปีที่สร้าง แต่สันนิฐานว่าน่าจะสร้างก่อนที่พม่าจะเข้ามาปกครองเมืองน่าน (ก่อนปี พ.ศ. 2100) เพราะตามหลักฐานแผ่นทองพงศาวดารพม่าจารึกไว้ว่า เดิมชื่อ “วัดตะละแม่ศรี” ภายหลังถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2400 ในรัชสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 จึงทรงโปรดให้บูรณะปฏิสังขรวัดและสถาปนาวัดขึ้นใหม่ โดยโปรดตั้งนามวัดใหม่ว่า “วัดมิ่งเมือง” ตามที่เรียกเสาหลักเมืองว่า “เสามิ่งเมือง” ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้มีการรื้อถอนและสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบล้านนาร่วมสมัยมาจนถึงปัจจุบัน[2] วัดมิ่งเมือง และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510[3]

อาคารเสนาสนะ

[แก้]

 อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ พระวิหารหลังใหม่ ที่มีลักษณะเป็นลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอก และทาด้วยสีขาวทั้งหมด ภายในพระวิหารได้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสีทองศิลปะแบบเชียงแสน มีนามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง” ที่มีอายุกว่า 400 ปี นอกจากนี้ภายในพระวิหารยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน และประวัติความเป็นมาของเมืองน่าน ตั้งแต่ในรัชสมัยของพญาภูคา เจ้าผู้ครองนครน่าน (องค์แรก) มาจนถึงในรัชสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน (องค์สุดท้าย) ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนโดยจิตกรช่างท้องถิ่นพื้นเมืองน่าน และภายในวัดยังประดิษฐานเสาหลักเมืองอยู่ในศาลาทรงจัตุรมุข ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ เสาหลักเมืองสูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์มีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา[4]

ประวัติเสาหลักเมืองน่าน

[แก้]

 เสาหลักเมืองน่าน จากหลักฐานที่มีการบันทึกไว้พบว่า ได้รับการสร้างขึ้นในรัชสมัย พระเจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 และองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2353) ทรงโปรดให้ฝังเสาพระหลักเมืองน่าน (ต้นปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2331 ณ สถานที่ที่ทรงเสี่ยงทาย นั้นก็คือที่ข้างวัดร้างเก่า โดยมีผู้สันนิษฐานว่า วัดร้างเก่า ก็คือ วัดห้วยไคร้ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพญาผากอง กษัตริย์น่าน องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ภูคา (พ.ศ. 1904 - พ.ศ. 1929) โดยเสาพระหลักเมืองเเต่เดิมนั้นเป็นไม้สักทองขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร สูง 3 เมตร มีลักษณะเป็นทรงกลม หัวเสาเกลาเป็นรูปของดอกบัวตูม ตัวเสาได้ฝังลงกับพื้นดินโดยไม่มีการทำศาลครอบไว้ จนถึงในปี พ.ศ. 2506 ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ แม่น้ำน่านได้เปลี่ยนทิศทางในการไหล จึงเข้าท่วมตัวเมืองน่านและบริเวณที่ฝังเสาหลักเมือง จนทำให้เสาหลักเมืองโค่นล้มลง ด้วยฐานของเสาหลักเมืองนั้นได้มีการผุกร่อนเนื่องจากการฝังกับพื้นดินมานานกว่าร้อยปี จากคำบอกเล่าของคุณยายมอญ พุทธิมา อายุ 75 ปี ชาวบ้านบ้านมิ่งเมือง ได้พูดถึงเกี่ยวกับศาลหลักเมืองน่าน ไว้ว่า “ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นเสาหลักเมืองตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดอยู่แล้ว” แต่เนื่องจากสภาพของเสาหลักเมืองเก่าแก่มากจึงผุกร่อนไปตามกาลเวลา เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองในขณะนั้นจึงได้เคลื่อนย้ายเสาหลักเมืองมาไว้บริเวณโฮงกลอง (หอกลอง) ภายในวัด ลักษณะของเสาหลักเมืองที่ได้ย้ายมาวางไว้บริเวณโฮงกลองในตอนนั้น มีลักษณะกลวงและมีอักษรล้านนาจารึกไว้ แต่เนื่องจากในสมัยนั้นตนเองยังเป็นเด็กจึงไม่สามารถอ่านจารึกนั้นได้

 ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 นายสุกิจ จุลละนันทน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน คนที่ 27 ได้นำข้าราชการ และประชาชนชาวเมืองน่าน ร่วมกันสร้างเสาหลักเมืองน่านขึ้นใหม่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง และได้อาราธนาหลวงพ่อโง่น สารโย วัดพระพุทธบาทเขาลวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยคณะมาเป็นช่างดำเนินการสร้าง โดยได้นำเอาเสาหลักเมืองเดิมมาเกลาแต่งใหม่ และได้ทำการแกะสลักหัวเสาเป็นรูปพระพรหมสี่หน้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ในขณะที่เสาหลักเมืองกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ได้เสด็จมาบรรจุท้าวเวสสุวรรณ จำนวน 84,000 องค์ ลงในหลุมฐานเสาหลักเมือง และต่อมาในปี พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคร้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเป็นองค์ประธานในการประกอบพิธีตั้งเสาหลักเมืองน่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 และ พ.ศ. 2542 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเสด็จมาสักการะเสาหลักเมืองน่านถึง 2 ครั้ง จนมาถึงปี พ.ศ. 2548 ศาลหลักเมืองน่านได้ทรุดโทรมลงไปมาก ทางเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง พระครูสิริธรรมภาณี เจ้าคณะอำเภอเมืองน่าน โดยความเห็นชอบของคณะสงฆ์จังหวัดน่าน และทางราชการ ได้ทำการรื้อถอนศาลหลักเมืองน่านเดิมลง และทางราชการร่วมกับประชาชนชาวจังหวัดน่าน ได้ร่วมใจกันสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่ขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 9 ในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ. 2549 และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยมีนายเสาร์แก้ว เลาดี เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างศาลหลักเมืองน่านจนแล้วเสร็จ ซึ่งทางจังหวัดน่านได้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 9 เพื่อเสด็จพระราชดำเนินยกยอดศาลหลักเมืองน่าน ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามมกุฎราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงยกยอดเศียรท้าวมหาพรหมยอดศาลหลักเมืองน่าน และเป็นองค์ประธานประกอบพิธีตั้งเสาหลักเมืองน่าน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ประเพณีสักการะศาลหลักเมือง

[แก้]

 จังหวัดน่าน ได้จัดประเพณีสักการะศาลหลักเมือง ขึ้นในวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี โดยมีพิธีบวงสรวงเครื่องแก้มอารักษ์ศาลหลักเมืองตามแบบพื้นเมืองน่านโบราณ แบ่งตามทิศของเศียรพรหมสี่หน้า โดยมีเครื่องบวงสรวงเครื่องแก้มอารักษ์เช่น หมู ไก่ ปลา ข้าวต้มมัด ขนมหวาน ที่ได้รับการจัดแต่งอย่างประณีตงดงามตามแบบพื้นเมืองน่าน เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง และให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของเสาหลักเมือง ที่เป็นหนึ่งในความเชื่อสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมืองของบรรพบุรุษสืบต่อไป

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดมิ่งเมือง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดมิ่งเมือง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  3. "วัดมิ่งเมือง". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  4. "วัดมิ่งเมือง". สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดน่าน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-18. สืบค้นเมื่อ 2021-10-18.