วัดมหาธาตุ (จังหวัดเพชรบูรณ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดมหาธาตุ
แผนที่
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระราชพัชรธรรมเมธี (ลักษณะ กิตฺติญาโณ ป.ธ.9)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดมหาธาตุ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์

ประวัติ[แก้]

วัดมหาธาตุตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 1926 คาดว่าเป็นวัดที่เจ้าเมืองเป็นผู้สร้างและทำนุบำรุงให้รุ่งเรือง จนกระทั่งได้กลายเป็นวัดร้าง ตามตำนานเล่ากันว่าเมื่อคราวเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ยกทัพไปรบกับพม่าที่พิษณุโลก ได้นำไพร่พลมาทางเมืองเพชรบูรณ์และได้ทำพิธีบวงสรวงเพื่อให้ได้ชัยชนะที่วัดมหาธาตุแห่งนี้

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีรับสั่งให้พระยาเพรชรัตน์ (เฟื่อง) เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ เกณฑ์คนมาทำการบูรณะวัดมหาธาตุครั้งใหญ่ วัดมหาธาตุได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2496[1] ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญเมื่อ พ.ศ. 2525

ปูชนียวัตถุ[แก้]

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปสององค์ องค์แรกชาวบ้านเรียกว่า หลวงพองาม ด้วยเหตุที่งามด้วยพุทธลักษณะ สร้างด้วยทองสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนต้นสมัยอู่ทองรุ่นที่ 3 หน้าตักกว้าง 36 นิ้ว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ ส่าวนองค์ที่สองคือ หลวงพ่อเพชรมีชัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเช่นเดียวกัน สร้างด้วยทองสำริดหน้าตักกว้าง 36 นิ้ว หลวงพ่อเพชรมีชัยเดิมชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดมหาธาตุ สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับวัดเมื่อ พ.ศ. 1926 ต่อมาเปลี่ยนเป็นหลวงพ่อเพชรมีชัย เพราะถือเอาคำพูดของพระยาจักรี แม่ทัพที่ถืออาญาสิทธิ์มาขับไล่ทัพพม่าศึกอะแซวุ่นกื้ ซึ่งยกทัพมามาล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย[2] เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ความสูงประมาณ 4 วาเศษ โดยทางกรมศิลปากรได้บูรณะพระเจดีย์ เมื่อ พ.ศ. 2510 และได้ขุดพบลานทองจารึกในพระเจดีย์องค์ใหญ่หลังพระอุโบสถ รวมถึงได้นำโบราณวัตถุที่บรรจุเจดีย์นั้นขึ้นมา บนลานทองจารึกไว้ว่า "พระเจ้าเพชรบุรเป็นลูกพระญาอนรงปรดิสถาแล" หรือ "พระเจ้าเพชรบุรเป็นลูกพระยาอันรงประดิษฐานไว้" จึงทำให้ทราบได้ว่า "เพชรบูรณ์" แต่เดิมมีชื่อว่า "เพชรบุร"[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดมหาธาตุ". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดมหาธาตุ พระอารามหลวง". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์.
  3. "วัดมหาธาตุ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).