วัดพระยาไกร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัดพระยาไกร หรือ วัดโชตนาราม ในอดีตตั้งอยู่ในย่านแขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ก่อนมาเป็นที่ตั้งของท่าเรือและบริษัท อีสต์เอเชียติก บริษัทเดินเรือสัญชาติเดนมาร์ก ในสมัยรัชกาลที่ 5 และปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์

วัดพระยาไกร หรือวัดโชตนาราม มีประวัติทิ้งไว้เป็นชื่อ ต่าง ๆ ในนาม "วัดพระยาไกร" และเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรก่อนที่จะถูกย้ายไปยังวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ต่อมาวัดถูกทิ้งร้างและถูกยุบตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อ 7 สิงหาคม 2539 ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 113 ตอนที่ 67 ง หน้า 20 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2539[1]สร้างในสมัยรัชกาลที่2-3

ประวัติ[แก้]

พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ขณะประดิษฐาน ณ พระวิหารหลังเก่า ภายในวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

วัดพระยาไกร เป็นชื่อดั้งเดิมของวัดโชตนาราม มีหลักฐานว่าสร้างก่อน พ.ศ. 2344 จนกระทั่งมีพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (บุญมา) เจ้ากรมท่าซ้าย เป็นหัวหน้าคนจีน ควบคุมคนจีนในไทยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทำการ บูรณะปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วได้น้อมถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการสถาปนา ขึ้นเป็นพระอารามหลวงมีนามว่าวัดโชตนาราม ตามหลักฐานจดหมายเหตุ ต่อมา "วัดพระยาไกร" กลายสภาพเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะท่านเจ้าสัวบุญมาคงไม่มีทายาทสืบสายสกุลทำให้ขาดผู้ดูแลอุปถัมภ์วัด หลักฐานที่ปรากฏว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดนี้ก็ไม่มีเจ้าอาวาสปกครองแล้ว เสนาสนะสงฆ์ปรักหักพังชำรุดทรุดโทรมยากแก่การบูรณะรวมไปถึงพระอุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น (พระสุโขทัยไตรมิตร ก่อนย้ายไปวัดไตรมิตรวิทยาราม และหลวงพ่อสัมฤทธิ์ ก่อนย้ายไปวัดไผ่เงิน) ก็ชำรุดทรุดโทรมลงตามลำดับ บริเวณภายในวัดก็กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่าเนื่องจากไม่มีผู้ดูแลรักษา จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ในเวลานั้นเองทางบริษัท อีสท์ เอเชียติก จำกัด แห่งประเทศเดนมาร์ก ซึ่งทำธุรกิจค้าไม้สักส่งออกยังต่างประเทศมองเห็นเป็นทำเลที่ดีสำหรับตั้งโรงเลื่อยจักรของบริษัทฯ (โรงเลื่อยจักรที่ใหญ่ที่สุดในสยามในช่วงเวลานั้น) จึงได้แสดงความประสงค์ขอเช่าพื้นที่วัดโชตนารามจากทางราชการ เมื่อได้รับอนุญาตแล้วทางบริษัทฯ ก็ได้ทำการรื้อถอนเสนาสนะสงฆ์ที่ปรักหักพังเสียคงเหลือไว้แต่เพียงพระอุโบสถ อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 2 องค์ ไว้ภายในเท่านั้น พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (พระพุทธรูปทองคำ) ก่อนที่จะอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม รวมทั้งพระประธานในอุโบสถวัดไผ่เงินโชตนาราม ที่หล่อด้วยโลหะสำริด สมัยอาณาจักรสุโขทัย]

ใน พ.ศ. 2478 สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะแขวงล่างได้มีบัญชาให้วัดไตรมิตรวิทยาราม (ขณะนั้นยังใช้ชื่อวัดสามจีน มาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม เมื่อปี พ.ศ. 2482) และวัดไผ่เงิน แถวบางคอแหลม (ภายหลังจากที่ได้อัญเชิญพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ (พระประธาน)ไปแล้วได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดไผ่เงินโชตนาราม) อัญเชิญพระพุทธรูป 2 องค์นี้ไปประดิษฐานเก็บรักษาไว้เพื่อความเหมาะสม พระมงคลสุธี (ศรี ยโสธโร) เจ้าอาวาสวัดไผ่เงินในขณะนั้นได้เลือกพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย และเสนาสนะอื่น ๆ จึงได้ดำเนินการขนย้ายไปยังวัดไผ่เงิน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2483 โดยมีชื่อว่า “หลวงพ่อสัมฤทธิ์” และเหตุนี้วัดไผ่เงิน จึงมีชื่อว่า "โชตนาราม" จากวัดโชตนาราม หรือวัดพระยาไกร ต่อท้ายเป็น "วัดไผ่เงินโชตนาราม" ปรากฏอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน

ความสำคัญ[แก้]

วัดพระยาไกร หรือวัดโชตนาราม ในครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นวัดที่ได้รับการอุปถัมภ์ มีหลักฐานตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุ สมัยรัชกาลที่ 3 จ.ศ.1213 [2] บันทึกไว้ว่าวัดได้รับการ "ยกให้เป็นพระอารามหลวง" นอกจากนี้ยังพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ได้รับกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมและฉันภัตตาหารในพระราชวังตลอดรัชกาล

การย้ายพระพุทธรูป[แก้]

ใน พ.ศ. 2482 กระทรวงเศรษฐการ ประสงค์เวนคืนที่ดินบริเวณคลองเตย เพื่อสร้างท่าเรือคลองเตย อันประกอบด้วยด้วยวัดเงิน วัดไก่เตี้ย วัดหน้าพระธาตุ ตั้งอยู่ในเขตตำบลพระโขนง ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร [3] วัดทั้งหมดจึงต้องถูกรื้อถอน โดยทางการได้ให้วัดเงินกับวัดไผ่ล้อมเดิม มารวมกันเป็นวัดไผ่เงิน พร้อมกันนั้นกรมการศาสนามีนโยบายแจกจ่ายพระพุทธรูปที่ตกค้างอยู่ที่วัดพระยาไกร ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่เป็นพุทธบรรณาการ พระมงคลสุธี (พระมหาศรี ยโสธโร) เจ้าอาวาสวัดไผ่เงินโชตนาราม กรุงเทพฯ ได้อัญเชิญพระพุทธปฏิมาในพระอุโบสถมาประดิษฐานที่วัดไผ่เงินโชตนาราม โดยท่านและคณะกรรมการวัดได้ "หลวงพ่อสัมฤทธิ์" เป็นพระพุทธปฏิมาที่หล่อด้วยสำริดและเป็นสำริดแก่เงินจัด ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอกเศษ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ชำรุด ขณะที่องค์พระพุทธปฏิมาหลวงพ่อสุโขทัยไตรมิตรที่ถูกปูนหุ้มอยู่มีรอยร้าวจาก ไหล่ถึงเอวไปถึงรากฐานเป็นร่องเล็กๆ มองเห็นเนื้อสัมฤทธิ์สีเขียว ๆ ที่ยังประดิษฐานอยู่ " นำไปประดิษฐานที่วัดไผ่เงินโชตนาราม เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2483 โดยมีชื่อว่า “หลวงพ่อสัมฤทธิ์” ตามวัตถุที่จัดสร้างเป็นทองสำริด

  • พระสุโขทัยไตรมิตร วัดไตรมิตรวิทยาราม

วัดพระยาไกร ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง ไม่มีผู้ดูแล มีพระพุทธปฏิมาปูนปั้นสององค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถองค์หนึ่งและอยู่ในพระวิหารอีกองค์หนึ่ง ประกอบกับบริษัท อีสต์เอเชียติก จำกัด ประสงค์ขอเช่าพื้นที่ของวัดเพื่อดำเนินกิจการของบริษัท ที่ประชุมคณะสงฆ์อันมีสมเด็จพระวันรัตน์ องค์สังฆนายก มีเถระบัญชาให้คณะกรรมการวัดสามจีน หรือวัดไตรมิตรวิทยาราม และวัดไผ่เงินโชตนาราม ไปอัญเชิญพระพุทธรูปสององค์นั้น ไปประดิษฐานไว้ตามสมควร ทางคณะของวัดไผ่เงินฯได้เดินทางไปถึงก่อน จึงเลือกอัญเชิญพระพุทธรูปสำริดไป เหลือพระพุทธรูปปูนปั้นไว้ให้วัดไตรมิตร [4]

วัดไตรมิตรวิทยารามเมื่อได้พระมาแล้วมิได้ทำการใด ๆ กับพระพุทธรูป เพียงปลูกเพิงสักกะสีเพื่อป้องแดดกันฝน ไว้ริมถนนด้านทิศตะวันออกของพระอุโบสถ เป็นเวลาถึง 20 ปี ด้วยยังหาที่จะประดิษฐานอันเหมาะสมมิได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 จึงทำการสร้างวิหารใหม่ ด้วยตั้งใจจะประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้โดยเฉพาะ เพื่อจะได้ทำการประดิษฐานพระพุทธรูป ให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี แต่ในขณะเคลื่อนย้ายพระพุทธรูป เนื่องจากพระพุทธรูปมีน้ำหนักมาก สายเครื่องกว้านจึงขาดลง ทำให้พระพุทธรูปตกกระแทกพื้น ส่งผลให้ปูนที่หุ้มบริเวณพระอุระกระเทาะออก เผยให้เห็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ ท่านเจ้าอาวาสจึงให้ลอกปูนออกทั้งองค์ แล้วนำขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิหารนั้น พร้อมกันนั้นได้มีการจัดสร้างพระมณฑปเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปสุโขทัยมิตรเป็นการเฉพาะดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ผังการยุบรวมวัด[แก้]

 
 
 

"วัดเงิน"
เป็นวัดที่ปรากฏหลักฐานว่าให้ถูกเวนคืนในปี พ.ศ. 2482 ซึ่งดูจากหลักฐานที่ปรากฏชี้ชัดว่าเป็นวัดร้างและเหลือเพียงที่ธรณีสงฆ์และศาสนาสมบัติกลาง ทางการจึงเวนคืนเพื่อสร้างท่าเรือคลองเตย
(ถูกยุบรวมกับวัดไผ่ล้อม เป็น "วัดไผ่เงิน")
 
 
 

"วัดไผ่ล้อม"
(ถูกยุบรวมกับวัดเงิน เป็น "วัดไผ่เงิน")
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

"วัดพระยาไกร" หรือ "วัดโชตนาราม"
ถูกยุบรวมกับวัดไผ่เงิน เป็น "วัดไผ่เงินโชตนาราม"(พระพุทธรูปสำริดถูกย้ายไปวัดไผ่เงินโชตนาราม พระทองคำ พระสุโขทัยไตรมิตรถูกย้ายไปวัดไตรมิตรวิทยาราม)

'"วัดไผ่เงินโชตนาราม"
มาจากการรวม 3 วัดเข้าด้วยกันตั้งแต่ วัดเงิน วัดไผ่ล้อม วัดโชตนาราม (วัดพระยาไกร) ชื่อ "วัดไผ่เงินโชตนาราม" จึงถูกเรียกและใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2483 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อ[แก้]

  • วัดพระยาไกร ตั้งชื่อตามราชทินนามของผู้สร้างวัด โดยมีข้อมูลว่า "ในหนังสือเซอร์เซมสบรุก (Sir James Brooke เจมส์ บรูก : 29 เมษายน พ.ศ. 2346 – 11 มิถุนายน พ.ศ. 2411) ทูตอังกฤษเข้ามาขอแก้ไขหนังสือสัญญาในรัชกาลที่ 3 เมื่อเดิอน 9 ปีจอ พ.ศ. 2393 ได้กล่าวถึงพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (บุญมา) และว่าต่อมาได้เป็นพระยาไกรโกษาในพระบรมราชวัง สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นผู้สร้างวัดโชตินาราม ซึ่งภายหลังเรียกกันว่าวัดพระยาไกร ตามราชทินนามของท่าน" [5] การเรียกชื่อ "วัดพระยาไกร" ยังคงใช้อยู่อาจด้วยเนื่องเป็นภาษาปาก ที่ยังคงคำเรียกและเป็นที่นิยมใช้กันอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน
  • วัดโชตนาราม ที่แปลว่า "อารามแห่งความรุ่งเรื่อง" น่าจะมาจากคำว่า "โชดึก" เพราะคำว่า "โชดึกราชเศรษฐี" นี้ เข้าใจว่าจะตั้งขึ้นตามคำเก่าที่ไทยเราใช้เรียกมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย คือในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้กล่าวถึงเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า โชติเศรษฐี ว่าเป็นเศรษฐีร่ำรวยมหาศาลทีเดียว คำว่าโชติ เป็นภาษาบาลี เป็นคำเดียวกับที่เราเอามาใช้ว่าโชดึก ในหนังสือเก่าเขียนว่าโชฎึกก็มี คำนี้แปลว่าผู้มีความรุ่งเรือง ผู้มีความสว่างไสว ดังนั้นชื่อ "วัดโชตนาราม" จึงมีที่มาจากผู้สร้างในตำแหน่งโชฎึกราชเศรษฐี เหมือนธรรมเนียมการสร้างวัดและนิยมใส่ชื่อผู้สร้างหรือผู้บูรณะ เช่น วัดประยูรวงศาวาส วัดพิชัยญาติการาม เป็นต้น ซึ่งมีผู้ให้ข้อมูลพร้อมทัศนะเสริมเรื่องชื่อไว้ว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระยาไกรโกษา (เจ๊สัวบุญมา) ( คนสมัยใหม่มักเรียกว่า "เจ้าสัว" ) ได้กระทำบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ ตามธรรมเนียมนิยมของขุนนางผู้ใหญ่สมัยนั้น แล้วน้อมเกล้า ฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ว่า "วัดโชตนาราม" แต่ผู้คนทั่วไปนิยมเรียกว่า "วัดพระยาไกร" ตามราชทินนามของท่านผู้กระทำบูรณะปฏิสังขรณ์

ข้อสันนิษฐานการร้างของวัด[แก้]

  • วัดโชตนาราม หรือที่ติดปากชาวบ้านว่า "วัดพระยาไกร" ก็มีสภาพกลายเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะท่านเจ๊สัวบุญมาคงไม่มีทายาทสืบสายสกุลทำให้ขาดผู้ดูแลอุปถัมภ์วัด บริเวณภายในวัดก็กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า หลักฐานที่ปรากฏว่าในสมัยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 วัดนี้ก็ไม่มีเจ้าอาวาสปกครองแล้ว เสนาสนะสงฆ์ปรักหักพังชำรุดทรุดโทรมยากแก่การบูรณะรวมไปถึงพระอุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น (พระสุโขทัยไตรมิตร ก่อนย้ายไปวัดไตรมิตรวิทยาราม และหลวงพ่อสัมฤทธิ์ ก่อนย้ายไปวัดไผ่เงิน) ก็ชำรุดทรุดโทรมลง ตามลำดับ บริเวณภายในวัดก็กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่าเนื่องจากไม่มีผู้ดูแลรักษา
  • พื้นที่แถบนั้นสมัยก่อนเป็นชุมชนของชาวมุสลิม (อ้างอิง)

การยุบวัด[แก้]

วัดพระยาไกรหรือวัดโชตนาราม เมื่อนานวันถูกทิ้งร้างจะด้วยเหตุผลในเรื่องของภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่อยู่ติดชายน้ำ ได้รับความเสียหายและยากแก่การบูรณะ จึงถูกทิ้งร้างไปในที่สุด เมื่อสภาพการณ์ถูกทิ้งร้าง จึงได้มีการย้ายเสนาสนะมารวมสร้างกับวัดไผ่เงิน และเปลี่ยนนามเป็นวัดไผ่เงินโชตนาราม แม้เสนาสนะจะไม่มี แต่ชื่อวัดและที่ดินอันเป็นที่ศาสนาสมบัติกลางยังมีอยู่ ชื่อวัดก็ยังปรากฏในทำเนียบวัดจนกระทั่ง พ.ศ. 2539 วัดพระยาไกร หรือวัดโชตนารามได้ถูกหน่วยงานราชการที่ดูแล ประกาศยุบวัด (ร้าง) ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อ 7 สิงหาคม 2539 ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 113 ตอนที่ 67 ง หน้า 20 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2539 [1]

ลำดับเหตุการณ์วัดพระยาไกร[แก้]

  • พ.ศ. 2344 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเหนือซึ่งส่วนมากชำรุดจากศึกสงคราม เพื่อนำมาบูรณะและนำมาประดิษฐานยังวัดสำคัญในกรุงเทพฯ พระพุทธรูปที่อัญเชิญลงมามีจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธรูปสำริด และพระพุทธรูปทองคำ ซึ่งพอกปิดไว้ด้วยปูนโดยอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้มาไว้ที่วัดพระยาไกร
  • ในสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าสัวบุญมาเป็นผู้แต่งสำเภาและดูแลพระคลังของฝ่ายวังหน้า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ย้ายมารับราชกาลสังกัดวังหลวงมีบรรดาศักดิ์ พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (บุญมา) พ.ศ. 2384 เริ่มบูรณะวัดโชตินาราม เมื่อรัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคตก็ย้ายกลับไปรับราชกาลวังหน้าอีกครั้ง เป็นพระยาไกรโกษาธิบดี 1 ใน 4 จตุสดมภ์ในพระราชวังบวร การก่อสร้างวัดแล้วเสร็จ แต่ยังมิได้ทันมีการฉลองวัดก็ถึงแก่อนิจกรรมลงเสียก่อน และยังเป็นหนี้วังหน้าอยู่ 100 ชั่ง นางจัน ผู้เป็นภรรยาจึงยกที่ดินส่วนนี้ให้เป็นการชดใช้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าโปรดเกล้าให้ใช้เป็นอู่ต่อเรือ
  • พ.ศ. 2404 เริ่มตัดถนนเจริญกรุงทำให้ที่ดินถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าโปรดเกล้าให้บริษัท East Asiatic ของนาย H.N. Anderson ชาวเดนมาร์กเช่าที่ริมน้ำเพื่อทำโกดังซุง 7 มกราคม 2408 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าสวรรคต ล่วงมาถึงในรัชกาลที่ 5 วัดก็เริ่มชำรุดทรุดโทรมบันทึกกล่าวว่า หลังคาวิหารพังลง เป็นที่น่าติเตียนให้สืบหาบุตรหลานผู้สร้าง พบจมื่นเด็กชายในราชการ เรียกมาสอบถามแล้วเห็นเหลือกำลัง พระสงฆ์ก็เหลืออยู่เพียง 4-5 รูป เพราะว่าอยู่ในหมู่คนต่างประเทศ
  • พ.ศ. 2437 มีคนซื้ออู่ต่อเรือนี้จากพระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุญนาค) ผู้ซึ่งอ้างว่าได้รับพระราชทานที่ดินจากสมเด็จพระปิ่นเกล้าแต่กระทรวงการคลังคัดค้านว่า ที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นที่ธรณีสงฆ์ เมื่อเลื่อมสภาพย่อมต้องตกกลับเป็นของหลวง ซึ่งกรมอัยการเห็นชอบ
  • พ.ศ. 2440 บริษัท East Asiaticประสงค์จะขอเช่าที่ต่อเพื่อทำอู่ต่อเรือ และโรงเลื่อยรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นชอบให้บริษัททำการเช่าเป็นเวลา 20 ปี เพื่อนำค่าเช่าที่มาดูแลสถานที่ต่อไป พ.ศ. 2450 พบว่าบริษัทละเมิดสัญญาโดยการใช้โบสถ์และวิหารเป็นโกดังเก็บของ จึงทำการขึ้นราคาค่าเช่า
  • พ.ศ. 2461 เจ้ากรมกัลปนา กระทรวงธรรมการ เจ้าของสัญญาเช่าพบว่าบริษัทใช้โบสถ์วิหารเป็นสถานที่บรรจุสุรา ผิดจากสัญญาที่ตกลงจึงทำการเปรียบเทียบปรับ และให้บริษัทย้ายอุปกรณ์โรงงานออกไปอดีตวัดที่เคยอาจจะเป็นได้ถึงพระอารามหลวง คงทรุดโทรมไปมาก
  • พ.ศ. 2478 เมื่อวัดพระยาไกรกลายเป็นวัดร้าง ที่ประชุมคณะสงฆ์จึงให้วัดไตรมิตรวิทยารามและวัดไผ่เงินโชตนารามไปอัญเชิญพระพุทธรูปสององค์ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดพระยาไกรไปประดิษฐานไว้ตามสมควร
  • พ.ศ. 2482 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 8 มีการรื้อที่วัดเงินบริเวณคลองเตยเพื่อสร้างท่าเรือคลองเตย จึงย้ายวัดเงินมารวมไว้ที่วัดไผ่ล้อมและกลายเป็น "วัดไผ่เงิน"
  • พ.ศ. 2483 รวมวัดโชตนาราม (วัดพระยาไกร) เข้ากับวัดไผ่เงิน และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไผ่เงินโชตนาราม
  • พ.ศ. 2539 ประกาศให้ยุบวัดโชตนาราม ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อ 7 สิงหาคม 2539 ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 113 ตอนที่ 67 ง หน้า 20 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2539[1]

ชื่อวัดกับประวัติศาสตร์ชุมชน[แก้]

วัดพระยาไกร หรือวัดโชตนาราม แม้จะไม่หลงเหลือวัดให้เป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธ อาจเรียกได้ว่า "วัดที่เหลือแต่ชื่อ" ก็คงไม่ผิด ด้วยเหตุผลของเงื่อนเวลา แต่ในเวลาเดียวกันวัดพระยาไกร ยังถูกเรียกในฐานะเป็นสถานที่ ประหนึ่งมีวัดตั้งอยู่ ดังปรากฏชื่อเป็นเขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร "แขวงวัดพระยาไกร" เป็นชื่อของหน่วยงานราชการ เช่น สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร หรือไปรษณีย์วัดพระยาไกร[6] ท่าเรือด่วนแม่น้ำเจ้าพระยาวัดพระยาไกร เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2539/D/067/20.PDF ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้ยุบวัดโชตนาราม (ร่าง) เมื่อ 7 สิงหาคม 2539
  2. สำนักหอสมุดแห่งชาติ (แผนกเอกสารโบราณ), จดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 3 จ.ศ.1213 เอกสารที่ 7 /สืบค้นโดย ม.จิรัชฌา เปรมสุวรรณ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ บางรัก และประชุมหมายรับสั่งภาค 4 ตอนที่ 1 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จ.ศ. 1186 – 1203.กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสาร ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี, 2536.
  3. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/A/477.PDF พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ของวัดหน้าพระธาตุ วัดเงิน วัดไก่เตี้ย (ร้าง) และวัดทอง อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ให้แก่กระทรวงเศรษฐการ พุทธศักราช 2481 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 ตอนที่ 0ก ประกาศเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ. 2482 หน้า 477
  4. ประวัติพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรหรือพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร. กรุงเทพฯ : กราฟิคอาร์ตพริ้นติ้ง, 2549.
  5. หนังสือจดหมายเหตุ เรื่องเซอเชมสบรุกเข้ามาขอทำสัญญาในรัชกาลที่ 3
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2523/D/180/4119.PDF ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องตั้งที่ทำการสถานีไปรษณีและโทรเลขวัดพระยาไกร ฯ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ที่ 97 ตอนที่ 180 หน้า 4119 ประกาศเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2523