ข้ามไปเนื้อหา

วัดพระธาตุห้าดวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระธาตุห้าดวง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระธาตุห้าดวง, เวียงเจดีย์ห้าหลัง, วัดดอยเวียง
ที่ตั้งตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดพระธาตุห้าดวง หรือ เวียงเจดีย์ห้าหลัง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สันนิษฐานว่าที่ตั้งวัดเป็นบริเวณเวียงเก่าลี้ เพราะมีซากกำแพงและคูเมืองตั้งเป็นแถว[1]

จากข้อมูลรายงานทะเบียนวัดจังหวัดลำพูน ระบุว่าวัดพระธาตุห้าดวงตั้งเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2518 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ 2549[2] ตามตำนานเล่าว่า พระนางจามเทวี กษัตริย์ครองเมืองหริภุญชัย ได้ยินข่าวจากราษฎรเมืองลี้ว่ามีดวงแก้ว 5 ดวง ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง จึงได้เสด็จมาดูด้วยพระองค์เอง พอเวลาค่ำคืน ได้ทอดพระเนตรเห็นแสงสว่างจากดวงแก้วทั้ง 5 ดวง ลอยอยู่บนกองดิน 5 กอง จึงได้สอบถามความเป็นมาก็ทราบว่า คือพระเมโตธาตุ (น้ำไคลมือ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เคยล้างพระหัตถ์ และน้ำก็ไหลผ่านปลายนิ้วทั้ง 5 ลงพื้นดิน พระนางจามเทวีจึงเกิดศรัทธาสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบกองดินทั้ง 5 กองไว้ ซึ่งในวันที่ 20 เมษายนของทุกปีจะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุห้าดวง[3] สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์เม็งราย ได้อาราธนาพระมหารัตนรังสี แห่งสำนักวัดสวนดอกเชียงใหม่ มาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุห้าดวง ลุถึงสมัยพระเมืองแก้ว ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์เม็งราย ได้จัดให้มีประเพณีสรงน้ำ พระธาตุเวียงเจดีย์ห้าหลัง (พระธาตุห้าดวง) ในวันเดือน 8 เหนือขึ้น 7 ค่ำ เป็นประจำทุกปี (ปัจจุบันกำหนดเอาวันที่ 20 เมษายนของทุกปี เป็นวันประเพณีสรงน้ำพระธาตุห้าดวง)

ในระหว่าง พ.ศ. 2364–2368 เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น เป็นผู้ครองนครลำพูน ท่านได้ทำการบูรณซ่อมแซมองค์พระธา่ตุจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

หลังจากนั้นก็ได้มีพระครูบา 6 รูป ได้มาปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนาและดูแลรักษารวมถึงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุห้าดวง มีนามคือ ครูบากิตติ ครูบามหาสมณะ ครูบามหามังคลาจารย์ ครูบามหาสวามี ครูบามหาเตจา และครูบาจะวรรณะ ปัญญา ซึ่งหลวงปู่พระครูบาวงศ์ท่านได้สร้างพระรูปเหมือนทั้ง 6 ครูบา ประดิษฐานไว้ในวิหารเก้าครูบา อีก 3 ท่านที่ยังไม่ได้กล่าวถึง คือ ครูบาศรีวิชัย ครูบาอภิชัยขาวปี และครูบาชัยยะวงศาพัฒนา จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2468 พระครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้มาบูรณะพระธาตุทั้ง 5 องค์จนสำเร็จ แล้วได้ทำการฉลองสมโภชองค์พระธาตุ จากนั้นวัดพระธาตุห้าดวงก็ขาดพระภิกษุที่จะมาดูแลและทำการบูรณะ ทำให้วัดพระธาตุห้าดวงจำต้องร้างอีกวาระหนึ่ง ต่อมาได้มีพระอธิการนุช ธมมวโร ได้มาประจำอยู่ ณ วัดพระธาตุห้าดวงแห่งนี้ จนได้ยกฐานะวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2518 ชาวบ้านเรียกว่า วัดดอยเวียง[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดพระธาตุห้าดวง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. "รายงานทะเบียนวัดจังหวัดลำพูน".
  3. "วัดพระธาตุห้าดวง". องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).
  4. "ประวัติวัดพระธาตุห้าดวง". สภาวัฒนธรรมอำเภอลี้.