วัดประชาโฆสิตาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดประชาโฆสิตาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดประชาโฆสิตาราม, วัดประชา, วัดบางนกแขวก
ที่ตั้งเลขที่ 28 หมู่ที่ 2 ถนนวัดประชาโฆสิตาราม ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดประชาโฆสิตาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 บ้านวัดประชา ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ประวัติ[แก้]

วัดประชาโฆสิตารามเดิมมีชื่อว่า วัดบางนกแขวก ตามชื่อคลองและชื่อหมู่บ้าน สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2251 ตรงกับปลายสมัยพระเจ้าเสือ กษัตริย์องค์ที่ 19 แห่งกรุงศรีอยุธยา ตามประวัติเท่าที่สืบค้นได้ ในสมัยพระอธิการช่อเป็นเจ้าอาวาส ได้มีการย้ายพระอุโบสถหลังเก่าไปทางทิศเหนือของวัด ลักษณะของพระอุโบสถเป็นแบบอาคารไม้มุงด้วยจากและได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ ต่อมาในสมัยของพระอธิการผึ้งซึ่งเป็นเจ้าอาวาสปกครองต่อ ในราวปี พ.ศ. 2422 นายเมืองและนางขำได้มีจิตศรัทธาปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่เปลี่ยนมาเป็นแบบก่ออิฐถือปูน มุงด้วยกระเบื้องดินเผา สร้างทับหลังเก่า และได้สร้างพระประธานขึ้นใหม่หนึ่งองค์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 9 นิ้ว

ราวปี พ.ศ. 2443 วัดได้ย้ายศาลาการเปรียญจากริมน้ำไปทางทิศใต้และเปลี่ยนแปลงให้กว้างขวางกว่าเดิม ในปีเดียวกันนี้ นายเมืองและนางขำได้สร้างหอสวดมนต์อีกหลังหนึ่ง ต่อมา พ.ศ. 2463 อุโบสถชำรุดทรุดโทรมจึงได้รื้อแล้วปลูกสร้างใหม่โดยก่อสร้างในที่เก่า หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาและสร้างกำแพงแก้วล้อมรอบ

ต่อมา พ.ศ. 2480 นางตาบ กล้ายประยงค์ ได้มอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ 4 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา โดยได้ปลูกสร้างอาคารเรียนและสร้างโรงเรียน และได้มอบบ้านทรงไทย 2 ชั้น เพื่อปลูกสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม จวบจนปี พ.ศ. 2485 ได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก "วัดบางนกแขวก" มาเป็น "วัดประชาโฆสิตาราม" อันมีความหมายว่า "วัดเจริญรุ่งเรืองมาได้ก็เนื่องด้วยประชาชนเป็นผู้อุปการะสนับสนุน โดยมีสุนฺทรโฆสิต ภิกขุ เป็นผู้นำ"

ต่อมาในสมัยพระครูสมุทรวิจารณ์เป็นเจ้าอาวาส มีการปลูกสร้างเสนาสนะใหม่ ได้แก่ กุฏิ หอฉัน ศาลาการเปรียญ ศาลาอเนกประสงค์ โรงพิธีศาลาบำเพ็ญกุศล สะพานข้ามคลอง โรงเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาท่าน้ำโรงครัว สถานีอนามัย เป็นต้น และปี พ.ศ. 2513 ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นมาแทนการบูรณะ และได้รับที่ดินจากนางสาวเปรียบ กรสวัสดิ์ จำนวน 2 ไร่ 2 งาน 2 ตารางวา[1]

ปูชนียวัตถุ[แก้]

พระประธานในอุโบสถ มีนามว่า พระมงคลโฆสิต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยโลหะหลายอย่าง นายเมือง นางขำ สร้างถวายเมื่อ พ.ศ. 2442[2]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอธิการช่อ
  • พระอธิการผึ้ง
  • พระครูสุนทรโฆสิต (หลวงพ่อทองอยู่)
  • พระครูสมุทรวิจารณ์ (หลวงพ่อคลี่ฐานวิจาโร (วิจารณ์ศิริสวัสดิ์))

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดประชาโฆสิตาราม". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
  2. "วัดประชาโฆสิตาราม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.