วัดบางแวก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบางแวก
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 22 ซอยบางแวก 3 ถนนบางแวก แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูธีรธรรมานันท์ (ญาณกฤษฏิ์ ตั้งใจพัฒนากุล)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบางแวก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 16 ไร่เศษ

ประวัติ[แก้]

วัดบางแวกสร้างเมื่อ พ.ศ. 2285 คราวหนึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จทางชลมารคผ่านมาทางคลองบางแวก เมื่อถึงหน้าวัด เรือพระที่นั่งก็เกิดอุปสรรคไม่สามารถไปต่อได้ พระองค์จึงขึ้นมาชมบริเวณรอบ ๆ วัดบางแวก เข้าไปกราบพระในพระวิหาร เห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ดำไม่สุกใสเหมือนองค์อื่น ๆ จึงสั่งให้เททองทับอีก 2 ครั้ง ก็ไม่สุกใสอีก ทรงขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธรูปหลวงพ่อเสือ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511[1]

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระพุทธรูปและศาลาการเปรียญเป็นสมบัติของชาติ วัดบางแวกได้เปิดทำการสอนพระปริยัติธรรมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2485 มาจนถึงปัจจุบันรวมทั้งให้สถานที่สร้างโรงเรียนพณิชยการธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2500

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถกว้าง 8 เมตร ยาว 22 เมตร หลังคาลด 3 ชั้น หน้าบันเป็นไม้สักแกะเป็นลายนารายณ์ทรงครุฑ ประดับกระจกลงรักปิดทองทั้งด้านหน้าและหลัง ซุ้มประตู 4 ซุ้ม หน้าต่าง 10 ซุ้ม ปิดกระจกลงรักปิดทองทั้งหมด หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ภายนอกมีกำแพงแก้วล้อมรอบ อุโบสถมีหลังคา 3 มุข ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หลังคามุด้วยกระเบื้องเคลือบสี ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยเนื้อโลหะลงลักปิดทอง หน้าตักกว้าง 69 นิ้ว สูง 187 นิ้ว พร้อมพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรปางยืนประนมมือ ด้านหลังอุโบสถสร้างเป็นวิหารสลักสกัด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ

พระวิหารหลวงพ่อเสือ กว้าง 10.77 เมตร ยาว 8.86 เมตร หลังคาลด 1 ชั้น หน้าบันเป็นลายเทพนมทั้ง 2 บัน ด้านหน้าและด้านหลังมีประตูเข้าออก 1 บาน อีกบานต่อเนื่องกับทางเข้าศาลาการเปรียญ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย เนื้อโลหะสำริด มีนามว่า พระพุทธรูปหลวงพ่อเสือ พระเกศถอดออกได้ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา หน้าตักกว้าง 60 นิ้ว สูง 85 นิ้ว มีพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรทรงนั่งพับเพียบประนมมือหน้าตักกว้าง 15 นิ้ว สูง 40 นิ้ว พระพุทธรูปทั้งในอุโบสถและวิหารมีความเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยอยุธยา[2]

ศาลาการเปรียญ กว้าง 10.77 เมตร ยาว 17.75 เมตร หลังคาลด 2 ชั้น หน้าบันเป็นลายแกะสลักทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีประตูเข้าออก 4 บาน ฝามีบานหน้าต่าง 32 บาน พื้นไม้สักทอง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวทศชาติชาดก เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในมีบุษบกสูง 12 เมตร[3]

อาคารเสนาสนะอื่น ๆ ได้แก่ กุฏิอเนกประสงค์ 1 หลัง กุฏิสงฆ์ 4 หลัง หอระฆัง หอกลอง และธูปทอง

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอธิการสมใจ
  • พระอธิการทรง
  • พระมหาหนู
  • พระมหาระมัด โชติปาโล
  • พระครูโสภณธีรธรรม (เสนาะ ธมฺมรกฺขิโต)
  • พระธรรมศีลาจารย์
  • พระครูธีรธรรมานันท์ (ญาณกฤษฏิ์ ตั้งใจพัฒนากุล)

อ้างอิง[แก้]

  1. "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-10-26.
  2. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. "กรุงธนบุรีในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 253.
  3. "ประวัติวัดบางแวก".