วัดน้อยนางหงษ์ (จังหวัดสมุทรสาคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดน้อยนางหงษ์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดน้อยนางหงษ์, วัดตากแดด, วัดนางหงษ์
ที่ตั้งเลขที่ 27 หมู่ที่ 4 ถนนสาครบุรี ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 74000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดน้อยนางหงษ์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 บ้านท่าจีน ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร วัดมีเนื้อที่ 25 ไร่

คาดว่าสร้างวัดน้อยนางหงษ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมชื่อว่า วัดตากแดด มีพระอธิการทันเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาพระปลัดเซ่ง (หลวงพ่อเซ่ง) เป็นเจ้าอาวาส ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดนางหงษ์ และในสมัยพระอธิการชุ่ม (หลวงพ่อชุ่ม) เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดนี้ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดน้อยนางหงษ์"[1]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถหลังเก่าเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย คล้ายเรือสำเภา มีเจดีย์เก็บอัฐิเรียงรายอยู่บนฐานของโบสถ์ อิฐที่ใช้สร้างนำมาจากประเทศจีน หน้าบันประดับลวดลายด้วยเครื่องถ้วยจีน สภาพอุโบสถในปัจจุบันคงเหลือแต่เสมาเท่านั้น แล้วได้สร้างอุโบสถหลังใหม่[2] ซึ่งเป็นอาคารไม้ทรงไทยก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงจั่ว เครื่องไม้มุงกระเบื้องมีชายคาปีกนกคลุมโดยรอบทั้งสี่ด้าน หลังคามีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ปูนปั้นเป็นรูปเศียรนาค หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นปูนปั้นระบายสีลวดลายพรรณพฤกษา บานประตูเป็นไม้มีภาพจิตรกรรมเป็นรูปทวารบาลแบบไทย ผนังด้านหน้ามีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานอภัย บานหน้าต่างเป็นไม้มีภาพจิตรกรรมรูปเทวดายืนพนมมือตกแต่ง ภายนอกอุโบสถหลังใหม่มีกำแพงแก้ว ภายในเขตกำแพงแก้วมีซุ้มเสมาก่ออิฐถือปูนเป็นทรงปราสาทประดิษฐานใบเสมาทำมาจากหินแกรนิต[3]

หอระฆังเก่ามีลักษณะเป็นสิ่งก่อสร้างแบบยุโรป สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้สร้างวัด หอเป็นอาคารขนาดเล็กสองชั้น ชั้นบนเป็นอาคารโปร่งมีระเบียงขนาดเล็กโดยรอบ ผนังด้านข้างเป็นช่องโปร่งลักษณะคล้ายซุ้มส่วนยอดโค้งแหลมแบบศิลปะกอทิก แต่ส่วนบนสุดคล้ายปล้องไฉน[4] เจดีย์บรรจุอัฐิเป็นรูปเรือสำเภา มีเจดีย์ 3 องค์อยู่บนลำเรือ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสอง ปัจจุบันมีรากไทรขึ้นปกคลุมทั่วทั้งองค์[5] นอกจากนั้นยังมีอนุสรณ์สถานท่านลี มีลักษณะเป็นสิ่งก่อสร้างแบบยุโรป สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้สร้างวัดนี้[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดน้อยนางหงษ์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม จังหวัดสมุทรสาคร.
  2. "อุโบสถหลังเก่า วัดน้อยนางหงษ์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม จังหวัดสมุทรสาคร.
  3. "อุโบสถวัดน้อยนางหงษ์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม จังหวัดสมุทรสาคร.
  4. "หอระฆังวัดน้อยนางหงษ์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม จังหวัดสมุทรสาคร.
  5. "เจดีย์บรรจุอัฐิวัดน้อยนางหงษ์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม จังหวัดสมุทรสาคร.
  6. "มรดกทางพระพุทธศาสนา". หอมรดกไทย.