วัดนันตาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดนันตาราม
การแสดงของชาวลื้อที่วัดนันตาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดนันตาราม
ที่ตั้งตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดนันตาราม เดิมเรียก จองม่าน หรือ จองคา (จอง เป็นคำไทใหญ่หมายถึงวัด) เพราะมุงด้วยหญ้าคา บ้างครั้งเรียก จองเหนือ เป็นวัดในตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นวัดศิลปะแบบพม่า ตัววิหารไม้สัก มีลวดลายฉลุไม้ ทั้งหน้าต่าง หน้าบัน ระเบียง ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ธนบัตรเก่า เครื่องใช้โบราณ ผ้าลายโบราณ ภาพวาดโบราณ

องค์พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้สักทองลงรักปิดทอง ทรงเครื่องแบบไทยใหญ่ ข้างองค์ประธานพระพุทธรูปหินขาว และพระพุทธปฏิมาประธาน ภายในวิหารยังมีธรรมาสน์ฉลุลวดลายสีทอง[1]

วัดสร้างในปี พ.ศ 2467[2] โดยพ่อหม่องโพธิ์ชิต อริยภา ร่วมกับ พ่อเฒ่าอุบล บุญเจริญ บริจาคที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่เศษ มีฐานะเป็น อาราม (ขึ้นตรงต่อคณธสงฆ์พม่าในขณะนั้น) ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 พ่อเฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) วงศ์อนันต์ คหบดีชาวปะโอ (ตองสู้) ได้ทำนุบำรุงปรับปรุงเสนาสนะ ต่อมาแม่เฒ่าจ๋ามเฮิง ประเสริฐกูล ได้ร่วมบริจาคที่ดินจำนวน 5 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา สร้างวิหารหลังใหม่ โดยพ่อตะก่าจองนันตา(อู๋) รับเป็นเจ้าภาพสร้างวิหารหลังปัจจุบัน ได้จ้างช่างชาวพม่าจากจังหวัดลำปาง มาออกแบบและทำการก่อสร้างวิหารไม้ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมพม่าตอนล่าง อาคารมีหลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้นลดหลั่นกัน มุงด้วยไม้แป้นเกร็ด และได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก จองม่าน มาเป็น วัดนันตาราม เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ พ่อเฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) ต้นตระกูลวงศ์อนันต์[3]

นอกจากวัดแล้วยังเป็นโรงเรียนสอนสามเณร ส่วนอาคารเจาง์ ของวัดนันตารามทำหน้าที่เป็นทั้งวิหารอุโบสถ และศาลาการเปรียญตามรูปแบบของวัดไทย ในวิหารมีประติมากรรมรูปสิงห์ 2 ตัว พร้อมกับเสาสูงสองเสาขนาบข้าง บนยอดสุดมีการประดับประติมากรรมรูปนกยูงส่วนด้านหน้าราวบันไดเป็นประติมากรรมสัตว์ผสม ส่วนถัดไปเป็นโถงเรียกว่า จองตะกา ไว้สำหรับทำบุญไหว้พระ สวดมนต์ฟังธรรม ฯลฯ ส่วนถัดไปเรียก จองพารา เป็นพื้นที่ที่มีการประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนถัดไปคือ จองสังฆะ ใช้เป็นที่จำวัดของเจ้าอาวาส โดยรวมแล้ว วิหารวัดนันตารามมีเสาทั้งหมด 68 ต้น ซึ่งเป็นเสาไม้สักลงทองทุกต้น ส่วนเพดาน ใช้กระจกสีในการประดับตกแต่งลาย ส่วนพระพุทธรูป อัญเชิญมาจากวัดจองเมตตา เป็นพระพุทธรูปไม้สักทองศิลปะมันดาเลย์[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดนันตาราม". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.[ลิงก์เสีย]
  2. "วัดนันตารามวิหาร ไม้สักทองทั้ง หลังศิลปะพม่าที่ยังคงสวยงาม". คมชัดลึก.
  3. "วัดนันตาราม งามล้ำค่าศิลปะพม่า". มิวเซียมไทยแลนด์.
  4. "เปิดกรุ 'วัดนันตาราม' ความงดงาม "ไม้สักทองทั้งวิหาร" จากอารยธรรมพม่า". ประชาชาติธุรกิจ. 27 กันยายน 2561.