วัดท่าถนน (จังหวัดอุตรดิตถ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดท่าถนน
พระอุโบสถวัดท่าถนน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดท่าถนน
ที่ตั้งถนนสำราญรื่น ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท (มหานิกาย)
พระประธานหลวงพ่อเพ็ชร
เจ้าอาวาสพระอธิการประทุม เขมภทฺโท
ความพิเศษวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์
จุดสนใจสักการะหลวงพ่อเพ็ชร, ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดท่าถนน เดิมชื่อ วัดวังเตาหม้อ อยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ ประดิษฐานหลวงพ่อเพ็ชร พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1 หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ ในบริเวณวัดมีอาคารศิลปะแบบตะวันตก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2474 เป็นโรงเรียนปริยัติธรรมและภาษาบาลีของพระภิกษุสามเณรในเมือง มีลักษณะสถาปัตยกรรมสวยงาม และอุโบสถซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งได้รับยกย่องว่าสวยงามที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์

หลวงพ่อเพ็ชร[แก้]

หลวงพ่อเพ็ชรเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง หน้าตักกว้าง 32 นิ้ว มีพุทธลักษณะงดงามมาก ชาวอุตรดิตถ์นับถือว่า เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองอุตรดิตถ์ มีงานนมัสการประจำปีในวันกลางเดือนสี่ของทุกปี

ประวัติหลวงพ่อเพ็ชร[แก้]

พระภิกษุเพชร หรือ หลวงพ่อเพ็ชร เจ้าอาวาสวัดท่าถนน ซึ่งเป็นเจ้าของหลวงพ่อเพ็ชร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ภาพนี้ถ่ายที่ประตูโบสถ์วัดวังเตาหม้อซึ่งถูกไฟไหม้ไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2475

เมื่อปี พ.ศ. 2436 หลวงพ่อด้วง เจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ อำเภอบางโพ ซึ่งเป็นอำเภอเมืองปัจจุบัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เดินทางผ่านบริเวณวัดไผ่ล้อม ต.ทุ่งยั้ง ได้พบจอมปลวกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งรูปร่างรูปแหลมผิดกลับจอมปลวกทั่วไป จึงได้เอาไม้เคาะปลายแหลมที่เป็นยอดของจอมปลวกนั้นจนดินหลุดออก เห็นเกศพระพุทธรูปโผล่ออกมา หลวงพ่อด้วงจึงสั่งให้พระและลูกศิษย์วัดที่ร่วมเดินทางไปด้วยช่วยกันขุดดิน จอมปลวกออก ก็พบพระพุทธรูปขนาดค่อนข้างใหญ่ ฝังอยู่ในจอมปลวกแห่งนั้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นั้นไปไว้ที่วัดหนอนไม้

ต่อมาหลวงพ่อด้วงเห็นว่า วัดหมอนไม้ไม่มีพระอุโบสถที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปได้อย่างเหมาะสม ประกอบกับมีประชาชนที่ทราบข่าวพระพุทธรูปองค์นี้ ได้มากราบไหว้บูชาสักการะเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังอาจมีปัญหาเรื่องโจรผู้ร้าย จึงพิจารณาเห็นว่า หากเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ไปประดิษฐานที่วัดวังเตาหม้อ (คือวัดท่าถนนในปัจจุบัน) ซึ่งมีหลวงพ่อเพ็ชรเป็นเจ้าอาวาสอยู่ วัดแห่งนี้มีพระอุโบสถ และตั้งอยู่ในที่ชุมนุมชน สะดวกแก่การไปนมัสการของประชาชน ท่านจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อ และถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อเพ็ชร

อัญเชิญไปวัดเบญจมบพิตร[แก้]

ปี พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร ได้มีการรวบรวมพระพุทธรูปที่เก่าแก่และสวยงาม ที่อยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ มาประดิษฐานไว้ที่วัดเหล่านี้ พระพุทธรูปหลวงพ่อเพ็ชร มีพุทธลักษณะงาม ก็ได้รับเลือกสรรให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร พร้อมกับพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ จากทั่วราชอาณาจักร การที่ต้องนำหลวงพ่อเพ็ชรไปจากวัดลังเต้าหม้อทำให้เจ้าอาวาสเสียใจมาก จึงได้ออกจากวัดธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ สุดท้ายได้มรณภาพบนภูเขาในป่า บ้านนาตารอด ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

อัญเชิญกลับมาจังหวัดอุตรดิตถ์[แก้]

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อเพ็ชร กลับคืนไปประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อตามคำขอของชาวเมืองอุตรดิตถ์ ดังข้อความซึ่งปรากฏอยู่ที่ฐานของพระพุทธรูป " หลวงพ่อเพ็ชร " ว่า

"พระพุทธรูปองค์นี้ เมื่อ ร.ศ.119 พระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้อัญเชิญจาก วัดท่าถนนไปไว้ วัดเบญจมบพิตร ครั้น ร.ศ. 129 หลวงนฤบาล ( จะพันยา ) อัญเชิญกลับมาไว้ วัดท่าถนน "

วัดท่าถนน มุมมองจากแม่น้ำน่าน

เหตุที่มีรับสั่งให้นำหลวงพ่อเพ็ชรมาคืนชาวอุตรดิตถ์ครั้งนี้มี มีคำบอกเล่ามาว่าเทวดาประจำองค์หลวงพ่อได้ไปเข้าสุบินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า อยากกลับอุตรดิตถ์ พระองค์จึงทรงทำตามพระสุบินนั้น

เมื่อปี พ.ศ. 2473 พระครูธรรมกิจจาภิบาล (ทองสุก) หรือพระสุธรรมเมธี อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับประชาชนชาวเมืองอุตรดิตถ์ได้ช่วยกันสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ และอัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อเพ็ชรมาประดิษฐานไว้ในพระวิหาร เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาสักการบูชาได้สะดวก

ปัจจุบันหลวงพ่อเพ็ชรประดิษฐานอยู่ในวิหารทางด้านทิศเหนือของอุโบสถ

ความสำคัญ[แก้]

มวลสารวัตถุจากโบราณสถาน และโบราณวัตถุในที่นี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้นำมาเป็นส่วนประกอบในการทำพระสมเด็จจิตรลดา[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ว่าที่ ร้อยตรี นันทเดช โชคถาวร, หนังสือ พระสมเด็จจิตรลดา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-13. สืบค้นเมื่อ 2007-12-21.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]