วัดดาวโด่ง
วัดดาวโด่ง | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดดาวโด่ง, วัดดุสิดาราม |
ที่ตั้ง | ตำบลคลองเขิน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระครูไพศาลสมุทรกิจ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดดาวโด่ง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคลองเขิน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
ประวัติ
[แก้]สภาพที่ตั้งเดิมเป็นป่ารกชัฎมาก เป็นที่ดินของชาวตำบลนี้ที่ชื่อ นายช้าง ได้อุทิศที่ดินของตนให้ตั้งสำนักสงฆ์ขึ้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จดทะเบียนเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2350 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2493 ส่วนอุโบสถคงสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระวินัยธรรม (บัว) เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชักชวนพุทธศาสนิกชนร่วมกันบูรณะวัดนี้ ต่อมาพระอุโบสถหลังเก่าชำรุดทรุดโทรมลงมาก จึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นทำการผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2493
เมื่อสร้างอุโบสถหลังใหม่นั้น ได้ขุดลูกนิมิตของอุโบสถหลังเก่า พบเงินพดด้วงและเงินเหรียญเฟื้องเป็นจำนวนมาก ซื่งทำในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสันนิษฐานได้ว่า อุโบสถนี้สร้างในสมัยนี้ เดิมวัดนี้ชื่อว่า วัดดุสิดาราม โดยหลวงพ่อเต็ม สมภารรูปแรกของวัดเป็นผู้ตั้งขึ้น ต่อมาสมัยหลวงพ่อโพธิ์ เป็นเจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดดาวโด่ง" เพื่อให้พ้องกับทางราชการว่าตำบลวัดดาวโด่ง[1] นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรวัดนี้ถึง 2 ครั้ง
ศิลปกรรม
[แก้]พระประธานในอุโบสถรับคำชมเชยว่าเป็นพระประธานที่งดงามมาก เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ถ่ายแบบมาจากวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หล่อด้วยทองเหลือง หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ ส่วนสูงจากพระบาทถึงพระเกตุมาลา 7 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว น้ำหนัก 5,000 กิโลกรัม แบบห้อยพระบาท
ภาพจิตรกรรมที่คอสองศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ที่บูรณะขึ้นใหม่แทนหลังเดิม ลักษณะเป็นศาลาโถง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องสี มีการเรียงกระเบื้องเป็นอักษรระบุปีศักราช ที่บูรณะใหม่ว่า 2504 พื้นศาลาเป็นซีเมนต์ยกพื้นสูง ภายในที่ไม้คอสองมีภาพจิตรกรรม เขียนเรื่องราวชาดกต่าง ๆ เช่น พระมหาชนก พระเตมีย์ใบ้ ฯลฯ[2] วัดยังมีพิพิธภัณฑ์วัดดาวโด่ง รวบรวมวัตถุโบราณเป็นจำนวนมาก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดดาวโด่ง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
- ↑ "วัดดาวโด่ง". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.