วัดช่องลม (จังหวัดนนทบุรี)
วัดช่องลม | |
---|---|
![]() | |
ชื่อสามัญ | วัดช่องลม, วัดช้างล้ม |
ที่ตั้ง | เลขที่ 1 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระครูสังฆรักษ์ |
![]() |
วัดช่องลม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 บ้านช่องลม ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
วัดช่องลมสร้างชึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2312 ในสมัยกรุงธนบุรี[1] เล่ากันว่าเดิมได้ตั้งชื่อว่า วัดช้างล้ม ตามชื่อคลองสายหนึ่ง ด้วยในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอู่ทองได้ทรงยกพลมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ช้างศึกตัวหนึ่งเกิดล้ม (ตาย) ขณะกำลังว่ายข้ามน้ำบริเวณคลองสายนั้น (ปัจจุบันคลองสายนั้นมีชื่อว่า "คลองวัดช่องลม" มีสภาพตื้นเขิน แต่ยังเหลือสภาพคลองให้เห็น) เมื่อเวลาผ่านไปชื่อจึงเพี้ยนมาเป็น "วัดช่องลม" ส่วนวัดก็ทรุดโทรมลงไป เพิ่งจะฟื้นคืนกลับได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 โดยมีเจ้าอาวาสติดต่อกันมาคือ หลวงปู่เวิ่น หลวงปู่แจ่ม พระครูนนทโสภิตหรือหลวงพ่อเงิน (พ.ศ. 2482–2529) พระครูประโชติจันทวิมล (พ.ศ. 2530–2545) และพระครูสังฆรักษ์ รับช่วงต่อจนถึงปัจจุบัน[2]
สิ่งโดดเด่นในวัด ได้แก่ พระพุทธรูปประทับยืนปูนปั้นสีทองปางประทานพร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดมีเสาหงส์อันเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน ปางมารวิชัยซึ่งสร้างเลียนแบบศิลปะอยุธยา โดยมีพระอัครสาวก 2 องค์ นั่งคุกเข่าประนมหัตถ์อยู่ด้านหน้า มณฑปจัตุรมุขเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยและรูปหล่อเกจิอาจารย์ต่าง ๆ[3]
วัดมีวัตถุมงคล ได้แก่ ตะกรุดช้างมงคล มี 3 รูปแบบ คือ มหาลาภป้องกันภัย มหาเศรษฐี และมงคลมหาเสน่ห์ และยังมีช้างมงคลมหาเศรษฐีที่เชื่อว่าส่งผลให้ทำมาค้าขายคล่อง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดช่องลม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ก้อง กังฟู (12 ตุลาคม 2557). "ช่องลม...สานสืบ "เงิน+คูณ" ด้วย...ตะกรุดช้างมหามงคล". ไทยรัฐ.
- ↑ "เส้นทางแห่งศรัทธา สัมผัสเสน่ห์มนต์รามัญ". p. 35–38.[ลิงก์เสีย]