วัดคูหาสวรรค์ (จังหวัดพัทลุง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดคูหาสวรรค์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดคูหาสวรรค์, วัดคูหาสูง, วัดสูง, วัดถ้ำคูหาสวรรค์
ที่ตั้งตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดคูหาสวรรค์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง

ประวัติ[แก้]

วัดคูหาสวรรค์มีถ้ำคูหาสวรรค์ตั้งอยู่ในวัด ชาวบ้านนิยมเรียกวัดนี้ว่า วัดคูหาสูง หรือ วัดสูง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด แต่ตำนานนางเลือดขาวระบุว่า เมื่อตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรมแล้ว กุมารกับนางเลือดขาวให้นำอัฐิของท่านทั้งสองไปเก็บไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์ ขณะที่ข้อมูลในหนังสือทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) ระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1924 ยังปรากฏความในหนังสือพระกัลปนาวัดเมืองพัทลุงสมัยอยุธยา ความว่า วัดคูหาสวรรค์ก็น่าจะถูกทำลายไปในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วจึงได้รับการบูรณะใหม่

เมื่อ พ.ศ. 2432 วัดได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เพื่อเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จประพาสแหลมมลายู ปรากฏจารึกพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. 108 ไว้บริเวณหน้าถ้ำ วัดคูหาสวรรค์ได้กลายเป็นวัดร้าง จน พ.ศ. 2452 ชาวบ้านได้นิมนต์พระครูจรูญกรณีย์ (ตุค เกสโร) มาเป็นเจ้าอาวาสครองวัด ท่านได้บูรณะเป็นการใหญ่ วัดจึงได้รับการพัฒนา จนถึง พ.ศ. 2467 เมืองพัทลุงย้ายจกตำบลลำปำมาตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ พระยาคณาศัยสุนทร (สา สุวรรณสาร) ผู้ว่าราชการเมืองสมัยนั้น ได้ช่วยบูรณะวัดอีกแรงหนึ่ง วัดคูหาสวรรค์เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์โปรดในการเสด็จอยู่เสมอ เช่น เมื่อ พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสถ้ำคูหาสวรรค์ได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ภปร.และ สก. ไว้ที่เพิงผาหน้าถ้ำ[1]

ถ้ำและเสนาสนะ[แก้]

ถ้ำคูหาสวรรค์ เป็นถ้ำกว้าง 18 เมตร ยาว 28 เมตร สูงเป็นเวิ้งรูปกรวย ตอนบนมีหินงอกคล้ายรูปช้าง ชาวบ้านเรียกว่า "ช้างผุด” หรือ หินลับแล พื้นถ้ำปูด้วยอิฐถือปูน ในถ้ำมีเจดีย์องค์เล็ก มีพระพุทธรูปปูนปั้นและปั้นด้วยดินเหนียวขนาดต่าง ๆ เรียงแถวเป็นระเบียบทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และ ทิศตะวันตก รวม 37 องค์ มีประวัติว่าพระพุทธรูปจำนวน 20 องค์ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์สร้างเพิ่มอีก 17 องค์ ทางด้านทิศตะวันออกของเศียรพระพุทธไสยาสน์มีกรุพระพิมพ์ที่ชาวบ้านได้ขุดพบเป็นจำนวนมาก มีทั้งพระจำหลักไม้พระพุทธรูปปูนปั้น พระสำริด และพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย ปากถ้ำสูงประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านเรียกว่า "หัวทรพี" ตรงข้ามเป็นรูปพระฤๅษีตาไฟปูนปั้น มีเรื่องเล่าในตำนานว่า นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารสร้างขึ้นแทนอนุสาวรีย์ตาสามโมกับยายเพชร และได้บรรจุอัฐิของตายายทั้ง 2 ไว้ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

พระอุโบสถวัดคูหาสวรรค์ ประดิษฐานพระประธานที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้สร้างถวาย สร้างจากทองคำร้อยละ 60 วัดมีพระพุทธบาทจำลอง ตั้งอยู่บนไหล่เขาด้านบนของถ้ำพระ สูงขึ้นไปประมาณ 60 เมตร สร้างโดยนายฮวดและนางขิ้ม แซ่สอ เมื่อ พ.ศ. 2471 และมีเจดีย์หินโบราณ[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดคูหาสวรรค์". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-19. สืบค้นเมื่อ 2021-08-19.
  2. "วัดคูหาสวรรค์ (Wat Khuhasawan)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.