วัดขนอน (จังหวัดราชบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดขนอน
พระอุโบสถ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดขนอนหนังใหญ่
ที่ตั้งเลขที่ 1 หมู่ที่ 4 ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 70120
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธศิลาศักยมุนี
จุดสนใจพระอุโบสถ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน และศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชหนังใหญ่วัดขนอน
กิจกรรมการแสดงหนังใหญ่
การถ่ายภาพถ่ายภาพพิพิธภัณฑ์ ส่วนภายในอาคาร บางอาคารห้ามถ่ายภาพ ควรสังเกตป้าย
เว็บไซต์[1]
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดขนอน [ขะ-หฺนอน] เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย จัดเป็นวัดที่อนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมการแสดงหนังใหญ่ และได้รับรางวัลการขึ้นทะเบียนทางยูเนสโก เป็นมรดกทางวัฒนธรรมโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ACCU) เมื่อ มิถุนายน พ.ศ. 2550 และวันที่ 8 มิถุนายน 2550 ทางคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกประกาศให้ "การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน" ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม (The safeguarding of Intagible Cultural Heritage : ICH)

ประวัติ[แก้]

วัดขนอน แต่เดิมสร้างมาสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน จากคำบอกเล่ากล่าวว่าบริเวณริมแม่น้ำซึ่งเป็นหน้าวัดเป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษีอากรมีพื้นที่ค้าขายและตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า ภายในบริเวณวัดมีนกนานาชนิด โดยเฉพาะ นก กา ลิงและชะนีตลอดจนสัตว์ป่าต่าง ๆ บริเวณโดยรอบวัดเป็นป่าไม้เต็ง ไม้แดง ไม้ยางขึ้นรกครึ้มพอค่ำลงบรรดานก กา ลิง ค่าง ก็จะพากันมาเกาะกิ่งไม้เต็มไปหมด ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “วัดกานอนโปราวาส” ในปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้น ณ มณฑลราชบุรี ทรงบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กันยายน ร.ศ. 128 ตอนหนึ่งความว่า.......พระราชหัตถเลขาตอนนี้แสดงให้เห็นถึงสภาพของวัดวาอารามต่าง ๆ ในมณฑลราชบุรี ยกเว้นในเมืองราชบุรีซึ่งไม่ถูกผลกระทบของสงคราม คงจะรกร้างหรือเกือบร้าง หรือพังทลายเสียหาย ทิ้งรกรุงรังเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านเองคงปลูกบ้านห่างวัดมาก และคงไม่ค่อยมีใครสนใจหรืออยากเข้าไปใกล้วัดร้างด้วยเหตุผลของ ความกลัว และวัดร้างในลักษณะนี้ นก กา ลิง ค่าง บ่าง ชะนี หรือแม้แต่สัตว์ป่า จึงกล้ากรายเข้ามาใกล้หรืออาศัยหลับนอน นานไปผู้คนก็คงจะลืมเลือนแม้กระทั่งชื่อวัด โดยเฉพาะวัดขนอนที่รกร้างมากว่า 100 ปี สันนิษฐานวาชาวบ้านคงเรียกตามสภาพที่เห็นว่า “วัดกานอนโปราวาส” หรือ “กานอน” เข้าใจง่ายว่าเป็นที่กานอน ส่วนคำว่า โปราวาส (หมายถึงสถานที่โบราณ) มาเติมเป็นสร้อยข้างท้ายนั่นคือ “วัดกานอนโปราวาส” และคงไม่ใช่ชื่อจริงของวัดอย่างแน่นอน

วัดขนอนสร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2327 หรือก่อนหน้านั้น เดิมชื่อวัด "กานอน" แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดกานอน ด้วยเหตุที่มีชื่อเช่นนี้เพราะว่า ที่ดินบริเวณนี้มีป่าไม้แดง ไม้ยาง และมีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ ได้แก่ เสือ เก้ง กวาง เม่น ลิง ค่าง บ่าง ชะนี นกพันธุ์ต่าง ๆ เช่น นกอ้ายงั่ว นกกาบบัว เป็นต้น แต่มีนกชนิดหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากคือ นกกา ในเวลากลางวันจะบินไปอาหารตามลำน้ำแม่กลอง และพักเกาะตามต้นไม้ในวัดซึ่งอยู่ใต้วัดขนอนนี้ประมาณ 2 กิโลเมตร ในตอนเย็นมักจะกลับมานอนที่วัดขนอน ผู้คนจึงเรียกวัดที่นกกาไปเกาะนี้ว่า วัดกาเกาะ และวัดที่กาไปนอนนี้ว่า "วัดกานอน"

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มักมีข้าราชการทั้งผู้น้อยผู้ใหญ่มาสำรวจและว่าออกว่าราชการในพื้นที่แถบอำเภอโพธารามบ่อย ๆ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสต้นทางชลมารค จากไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีเสด็จตามลำน้ำแม่กลอง ผ่านตลาดบ้านโป่งผ่าน ตลาดโพธารามจนถึงเมืองราชบุรี

ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) เจ้าอาวาสวัดขนอน ในขณะนั้นได้กล่าวว่า "อายหลวงท่านว่า ชื่อวัดวาอารามยังเอาชื่อสัตว์มาตั้ง เห็นควรให้เปลี่ยนชื่อจะดีกว่า" ดังนั้นด้วยเหตุนี้ "วัดกานอน" จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดขนอนโปราวาส" ตามสถานที่ที่คอยดักเก็บอากรที่ผ่านเขตซึ่งอยู่ติดกับวัดนั่นเอง ประกอบกับชื่อ "ขนอน" ออกเสียใกล้เคียงกับคำเรียกเดิมจึงไม่มีผู้ใดคัดค้าน และชาวบ้านมักเรียกสั้น ๆ ว่า "วัดขนอน" และวัดกาเกาะ ก็เปลี่ยนเป็นวัดเกาะในปัจจุบัน

สิ่งก่อสร้างภายในวัด[แก้]

อุโบสถ กว้าง 29 เมตร ยาว 58 เมตร สร้างเมื่อ ประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาไม้ทรงไทยลด 3 ชั้น ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา มีวิหารคดรอบอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวน 120 องค์ ศาลาการเปรียญ กว้าง 20 เมตร ยาว 25.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2454 เป็นอาคารไม้ทรงไทย หอสวดมนต์ กว้าง 11 เมตร ยาว 22 เมตร เป็นอาคารไม้ทรงไทย กุฏิสงฆ์ เป็นอาคารไม้ทรงไทย 3 หลัง ศาลาไทย เป็นอาคารไม้ทรงไทย กว้าง 9.50 เมตร ยาว 14.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2543 ศาลาบำเพ็ญกุศล กว้าง 21 เมตร ยาว 40 เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 หลัง พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน แบบเรือนไม้ทรงไทย กว้าง 17 เมตร ยาว 23 เมตร พิพิธภัณฑ์วัดขนอน (โบราณวัตถุ) แบบเรือนไม้ทรงไทย กว้าง 15.50 เมตร ยาว 19 เมตร

เขตวัดขนอน[แก้]

ชื่อวัดขนอน มาจากการที่เคยเป็นจุดตั้งด่านเก็บภาษีอากร เปลี่ยนชื่อเมื่อ พ.ศ 2447 ตั้งวัดเมื่อ ก่อน พ.ศ. 2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อก่อน พ.ศ. 2300

การตั้งวัด ที่ตั้ง วัดมีเนื้อที่ 55 ไร่ - งาน 40 ตารางวา ลักษณะพื้นที่ตั้งวัดและบริเวณโดยรอบพื้นที่วัดเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นวัด ส่วนที่เป็นโรงเรียน และส่วนที่เป็นลานปฏิบัติธรรมและป่าไม้

การศึกษา ได้มีการเปิดสอน

  1. โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2493
  2. โรงเรียนประถมศึกษา ตั้งอยู่ในที่ดินวัด เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน

สาธารณประโยชน์แก่ชุมชน

  1. ห้องสมุดประจำวัด
  2. ห้องสมุดประจำโรงเรียน
  3. หน่วย อ.ป.ต.(หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล)

ศาลาการเปรียญ[แก้]

ศาลาการเปรียญ กว้าง 20 เมตร ยาว 25.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2454 เป็นอาคารไม้ทรงไทย

เขตพระอุโบสถ[แก้]

เขตพระอุโบสถเป็นเขตที่สถาปนาขึ้นใหม่ในสมัยในรัชกาลที่ 5 โดยจำลองสถาปัตย์วิหารหลวงวัดสุทัศน์

พระอุโบสถ[แก้]

อุโบสถ แต่เดิมอุโบสถมีรูปแบบลักษณะใดไม่มีหลักฐานปรากฏ ต่อมาหลวงปู่กล่อมหรือพระครูศรัทธาสุนทร (จนฺทโชโต) ได้บูรณปฏิสังขรณ์ช่อม-สร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2450 ได้เริ่มทำการก่อสร้างใหม่โดยมีช่างชาวจีนเป็นแม่งาน ในการก่อสร้างหลวงปู่กล่อม เป็นผู้ออกแบบคิดประดิษฐ์ผูกลายประตู หน้าต่าง หน้าบัน ฯลฯ โบสถ์ใหม่ที่หลวงปู่กล่อมสร้างขึ้นนั้น มีลักษณะคล้ายกับพระวิหารหลวงของวัดสุทัศน์เทพวราราม

ลักษณะของพระอุโบสถเป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น 3 ชั้น ซ้อนกันชั้นละ 3 ตับ มีมุขลดทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 1 ห้อง โดยมีเสาสี่เหลี่ยม 4 ต้น รองรับโครงหลังคา ด้านข้างมีชายคาปีกนกคลุมมีเสาสี่เหลี่ยมรองรับด้าน ๆ ละ 9 ต้น ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันปูนปั้นลวดลายพันธุ์พฤกษาตรงกลางเป็นรูปวงกลม ฐานพระอุโบสถยกพื้น 2 ชั้น ชั้นแรกอยู่ในแนวเดียวกับเสารองรับชายคา ปีกนก ตั้งซุ้มใบเสมาปูนปั้นย่อมุมไม้สิบสอง

ผนังด้านหน้าและด้านหลังก่ออิฐถือปูนเรียบ มีประตูทางเข้าด้านละ 2 ประตู ซุ้มประตูปูนปั้นทรงเจดีย์ บานประตูไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ลวดลายดอกไม้กลมส่วนล่างเป็นภาพทวารบาลยืนถืออาวุธ ซุ้มประตูด้านหลังบริเวณมุมซุ้มด้านขวาตอนบน มีจารึกภาษาไทย คำว่า “เจกหัว” ซึ่งอาจจะหมายถึงชื่อของนายช่างชาวจีน ผนังด้านข้างก่ออิฐถือปูนมีช่องหน้าต่างด้านละ 7 ช่อง บานหน้าต่างไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ลวดลายตอนบนเป็นลายตาข่ายดอกไม้ ตอนล่างเป็นลายรูปสัตว์ ลวดลายของบานหน้าต่างแต่ละบานจะไม่ซ้ำกัน ด้านหน้าพระอุโบสถมีบันไดเตี้ย ๆ ขึ้นทางด้านข้าง เสาบันไดมีภาพจิตรกรรมจีนและอักษรจีน ด้านหนึ่งมีอักษรภาษาไทยว่า “โบษเจ๊กทำงาม”

ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน พระพุทธรูปศิลาแลงประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย – ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านข้างซ้าย-ขวามีพระอัครสาวกยืนพนมมือ ฐานชุกชีด้านหลังพระประธานประดิษฐาน พระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย และปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 5 อีก 10 องค์ และ พระอัครสาวกยืนพนมมือ

ภายนอกพระอุโบสถมีระเบียงคตก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ มีซุ้มประตูทางเข้าอยู่ทั้งสี่ทิศ ภายในระเบียงมีพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย จำนวน 120 องค์ ประดิษฐานรายรอบเจดีย์ราย ตั้งอยู่ด้านหน้า พระอุโบสถเรียงกันเป็นแถวจำนวน 6 องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้ สิบสอง ฐานเจดีย์เป็นฐานสิงห์ซ้อนกัน สองชั้น องค์ระฆังขนาดเล็กมีบัวรองรับปากระฆัง ส่วนยอดมีบัลลังก์สี่เหลี่ยมรองรับชุดบัวคลุ่มเถาและปลียอด ด้านหลังพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆังก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ ฐานเจดีย์เป็นฐานบัวทรง สี่เหลี่ยม รองรับฐานบัวกลมและชุดมาลัยเถาโดยที่ชั้นมาลัยเถานี้จะมีซุ้มพระ 8 ซุ้ม ซ้อนกันเป็นสองชั้นชั้นละ 4 ซุ้ม องค์ระฆังกลมมีสายสังวาลรัด ส่วนยอดมีบัลลังก์สี่เหลี่ยมรองรับบัวและปลียอด ลักษณะของส่วนยอดคล้ายกับเจดีย์มอญ

อีกด้านหนึ่งของถนนด้านหน้าวัด มีเจดีย์อยู่ 1 องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังสีขาวนวล ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมมีกำแพงสี่เหลี่ยมทึบเตี้ยๆ ล้อมรอบ ฐานด้านล่างเป็นฐานบัวกลมซ้อนกัน3 ชั้นองค์ระฆังมีการตกแต่งปูนปั้นรูปใบโพธิ์ทั้ง 4 ด้านส่วนยอดเป็นมาลัยเถาและปลียอด

พระเจดีย์[แก้]

เจดีย์ในอุโบสถ์ประการด้วยเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองจำนวน 5 องค์ พระปรางค์ 1 องค์

พระมหาเจดีย์[แก้]

พระมหาเจดีย์ฐานเดียว สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระพุทธรูปในซุ้มเจดีย์ทั้ง 8 ทิศ บรรจุพระธาตุ

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอาจารย์คงหรือ หลวงพ่อช้าง พ.ศ - ถึง พ.ศ -
  • พระครูศรัทธาสุนทร พ.ศ - ถึง พ.ศ. 2485
  • พระครูสุวรรณรัตนากร พ.ศ 2486 ถึง พ.ศ 2512
  • พระมหาเตี่ยน จตฺตภโย พ.ศ 2513 ถึง พ.ศ. 2515
  • พระอธิการจวน ทนฺตจิตโต พ.ศ 2515 ถึง พ.ศ. 2522
  • พระอธิการทองอยู่ ธมฺมโชโต พ.ศ 2523 ถึง พ.ศ. 2525
  • พระปลัดเจริญ จิรปญฺโญ พ.ศ 2525 ถึง พ.ศ. 2531
  • พระครูสังฆบริบาล อาจิตฺตธมฺโม พ.ศ 2533 ถึง พ.ศ. 2542
  • พระครูพิทักษ์ศิลปาคม(นุชิต วชิรวุฑฺโฒ) พ.ศ 2542 ถึง ปัจจุบัน