วัดก้ำก่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดก้ำก่อ
แผนที่
ที่ตั้งตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดก้ำก่อ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ประวัติ[แก้]

วัดก้ำก่อ ภาษาไต แปลว่า "ดอกบุนนาค" สร้างเมื่อ 22 มกราคม พ.ศ. 2433 โดยเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด นามว่า "ครูบาเฒ่า" หรือชาวบ้านเรียกว่า "ตุ๊เจ้าเจียงตอง" หมายถึงพระที่มาจากเมืองเชียงของ ท่านเป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากเมืองเชียงทอง เริ่มแรกท่านได้เดินทางเข้ามาพบที่ว่างราวครึ่งสนามฟุตบอลอยู่ท่ามกลางป่าไม้ล้อมรอบ จึงได้ชักชวนชาวบ้านมาดูและตัดสินใจสร้างวัดขึ้นโดยชาวบ้านเป็นผู้หาวัสดุก่อสร้างและลงแรงกันเอง[1] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2519

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ[แก้]

สถาปัตยกรรมของวัดมีลักษณะไทใหญ่ สร้างโดยฝีมือของช่างชาวไทใหญ่ มีส่างหว่าง หรือซุ้มประตูทางเข้าศาลาการเปรียญอันเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทใหญ่ ส่างหว่างสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2484 โดยนายส่วยจิ่ง นางยุ้น ตรีทอง อุโบสถสร้างขึ้นเมื่อ 8 มกราคม พ.ศ. 2533 ศาลาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ขนาดบรรจุ ผู้ปฏิบัติธรรมได้ไม่น้อยกว่าครั้งละ 100 คน สร้างเมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2519 ศาลาสุวรรณสมบูรณ์ สร้างขึ้นเมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2516 กุฏิรับรองหลังใหญ่ ใช้บรรจุผู้มาเยือน และพักอาศัยได้ครั้งละไม่น้อยกว่า 50 คน กุฏิรับรองหลังเล็ก ใช้บรรจุผู้มาเยือน และพักอาศัย กุฏิพระครูปัญญาวราภรณ์ ลักษณะเป็นตึกแถว มีห้องนอนห้องน้ำห้องส้วมเป็นสัดเป็นส่วน สร้างเมื่อ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2531

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระประธานปางมารวิชัยของวัด ขนาดหน้าตัก 60 นิ้ว พระมัณฑะเลย์ ย้ายมาจากอุโบสถหลังวิหารวัดพระนอน จเรหม่องเจ้าศรัทธาและได้นำมาประดิษฐ์ไว้ที่วัดก้ำก่อเมื่อ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ. 2509 โดยมีหลวงพ่อกุงหม่า (กมล) กุสโลภิกขุและพระมหารักษ์ สุภิญโญ ได้อัญเชิญนำมาประดิษฐ์ไว้ พระหินอ่อนทรงเครื่อง ศรัทธา คุณบุญชู คุณปริศนา ตรีทอง นำมาจากประเทศพม่า เพื่อถวายให้ประดิษฐ์อยู่ที่วัดก้ำก่อเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2533 ธรรมาสน์เก่าแก่ ศรัทธาพ่อเฒ่าจองติยะ นางโหย่ง ถวายเมื่อเริ่มสร้างวัด[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดก้ำก่อ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดก้ำก่อ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).