ข้ามไปเนื้อหา

วลาดที่ 3 นักเสียบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วลาด เทเปซ)
วลาดที่ 3 นักเสียบ
ภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของวลาดที่ 3
เกิดพฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 1431[1]
ซิกิชวาร่า ทรานซิลเวเนีย ราชอาณาจักรฮังการี
เสียชีวิตธันวาคม ค.ศ. 1476 หรือมกราคม ค.ศ. 1477 ไม่ทราบวันที่แน่ชัด[1] (45 พรรษา)
บูคาเรสต์ วาลาเคีย
ลายมือชื่อ

วลาดที่ 3 เจ้าชายแห่งวาลาเคีย (ค.ศ. 1431–1476/7) หรือที่รู้จักโดยสกุล แดรกคิวลา พระองค์ทรงได้รับสมัญญาหลังสิ้นพระชนม์ว่า วลาดนักเสียบ (อังกฤษ: Vlad the Impaler; โรมาเนีย: Vlad Țepeș) และทรงเป็นเจ้า (Voivode) ครองวาลาเคีย 3 สมัย ส่วนใหญ่ระหว่าง ค.ศ. 1456 ถึง 1462 ซึ่งตรงกับช่วงที่ออตโตมันเริ่มพิชิตดินแดนคาบสมุทรบอลข่าน วลาดที่ 2 ดรากูล (Vlad II Dracul) พระราชบิดา ทรงเป็นสมาชิกสมาคมมังกร (Order of the Dragon) ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์ศาสนาคริสต์ในยุโรปตะวันออก วลาดที่ 3 ทรงเป็นที่เคารพในฐานะวีรบุรุษพื้นบ้านในประเทศโรมาเนียตลอดจนส่วนอื่นของทวีปยุโรปสำหรับการพิทักษ์ประชากรโรมาเนียทั้งใต้และเหนือแม่น้ำดานูบ สามัญชนและอภิชนชาวโรมาเนียและบัลแกเรียที่ยังเหลืออยู่จำนวนมากย้ายมาเหนือแม่น้ำดานูบสู่วาลาเคีย โดยรับรองความเป็นผู้นำของพระองค์และตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั้นหลังการตีโฉบฉวยต่อออตโตมันของพระองค์[1]

การเสียบ (impalement) ข้าศึกของพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของชื่อเสียงของพระองค์ในประวัติศาสตร์[2] ตลอดพระชนม์ชีพ ชื่อเสียงของพระองค์ในด้านความโหดร้ายเกินขีดแพร่ไปต่างด้าว ทั้งเยอรมนีและที่อื่นในทวีปยุโรป ชื่อแวมไพร์ เคานต์แดรกคูลา (Count Dracula) ในนวนิยายแดรกคูลา ของบราม สโตกเกอร์ ใน ค.ศ. 1897 ได้แรงบันดาลใจจากสกุลของวลาด[2]

ประวัติ

[แก้]

วลาด เซเปช มีพระนามอื่น คือ วลาดิสลาฟ ดรากูลา เป็นพระโอรสของ วลาด ที่ 2 ดรากูล ซึ่งพระราชบิดานั้นได้รับตรากล้าหาญ Order of the Dragon จาก พระจักรพรรดิซิกิสมุนด์

ในวัยเยาว์ พระองค์และพระอนุชา ราดู ผู้รูปงาม (Radu Cel Frumos) ถูกส่งไปเป็นตัวประกันภายใต้จักรวรรดิออตโตมันในฐานะประเทศราช ต่อมาเมื่อพระราชบิดาของพระองค์คือ วลาดที่ 2 และพระเชษฐา มีร์ชาที่ 2 (Mircea II) ถูกพวกขุนนางภายใต้สังกัดฮังการีปลงพระชนม์ใน ค.ศ. 1447 จักรวรรดิออตโตมันจึงพยายามกำจัดอิทธิพลของฮังการีโดยการส่งกองทัพมายึดวาลาเคีย และตั้งวลาดที่ 3 ในวัย 17 พรรษา เป็นเจ้าชายผู้ครองรัฐภายใต้อาณัติแห่งจักรวรรดิออตโตมัน แต่วลาดที่ 3 ก็ต้องเสียบัลลังก์

ฮุนยาดี ยานอช (Hunyadi János) ผู้สำเร็จราชการของฮังการี นำทัพเข้าพิชิตวาลาเคีย วลาดจึงเสด็จหนีไปประทับอยู่ที่มอลดาเวียกับ บกดานที่ 2 (Bogdan II) เจ้าชายแห่งมอลดาเวีย ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง ภายหลังบ็อกดานถูกลอบสังหารจากสงครามกลางเมือง วลาดจึงเสด็จหนีไปฮังการี ด้วยความที่ฮุนยาดีประทับใจในความรู้ความสามารถของวลาด และรู้ว่าวลาดมีความเกลียดชังต่อสุลต่านพระองค์ใหม่คือ สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ฮุนยาดีจึงตั้งวลาดให้เป็นที่ปรึกษา หลังฮุนยาดีถึงแก่อสัญกรรม วลาดได้นำกำลังเข้ายึดวาลาเคียจาก วลาดิสลาฟที่ 2 (Vladislav II) และขึ้นครองบัลลังก์

ค.ศ. 1459 สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ได้ส่งทูตมาเรียกร้องบรรณาการจากวาลาเคีย วลาดปฏิเสธจะจ่ายบรรณาการ และสังหารทูตโดยการตอกตะปูกับผ้าโพกหัวให้ติดกับศีรษะ สุลต่านทรงพิโรธ และส่งทหารเข้าโจมตีวาลาเคียในปี ค.ศ. 1462 ซึ่งวลาดได้รบแบบกองโจรและประสบความสำเร็จหลายครั้ง โดยครั้งที่สำคัญที่สุดคือการลอบโจมตีในกลางดึกที่ตรือโกวิชเต้ ซึ่งส่งผลให้ออตโตมานสูญเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในภายหลังวลาดต้องพ่ายแพ้เพราะมีขุนนางไส้ศึกแปรพักตร์ ออตโตมานจึงสามารถเข้าพิชิตวาลาเคีย และตั้ง ราดู ผู้รูปงาม (Radu Cel Frumos) พระอนุชาของวลาด ซึ่งเป็นชาวมุสลิมและมีใจฝักใฝ่ต่อออตโตมัน ขึ้นบัลลังก์เป็นเจ้าชายแห่งวาลาเคีย วลาดเสด็จหนีไปขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรของพระองค์คือฮังการี แต่แทนที่จะได้รับความช่วยเหลือ พระองค์กลับถูกจับกุมตัวโดย พระเจ้ามะติอัช (Corvin Mátyás) ซึ่งเป็นพระโอรสของฮุนยาดี ยานอช และเป็นพระมหากษัตริย์ฮังการี โดยสาเหตุของการจับกุมอาจเป็นไปได้ว่าพระเจ้ามะติอัชทรงไม่ประสงค์จะเปิดศึกกับออตโตมาน เนื่องจากพระองค์ทรงกำลังต้องการที่จะขยายอำนาจในยุโรปกลางมากกว่า จึงทรงแต่งจดหมายปลอมว่าวลาดมีใจฝักใฝ่ต่อออตโตมาน เพื่อแสดงถึงความชอบธรรมในการจับกุมตัววลาด

อย่างไรก็ตามในภายหลังพระเจ้ามะติอัชทรงต้องการแผ่ขยายอำนาจสู่ดินแดนวาลาเคีย จึงทรงปล่อยตัววลาดในปี ค.ศ. 1474 และในปี ค.ศ. 1476 พระองค์ได้ตัดสินใจที่จะสนับสนุนวลาดให้กลับไปยึดวาลาเคียอีกครั้ง วลาดสามารถยึดบัลลังก์จาก บาซารับ ลาโยเตอะ (Basarab Laiotă) ซึ่งเป็นเจ้าชายแห่งวาลาเคียพระองค์ใหม่ที่ฝักใฝ่ในออตโตมาน ได้สำเร็จ และปกครองบัลลังก์วาลาเคียเป็นสมัยที่ 3 แต่พระองค์ปกครองได้ไม่นาน ก็ได้ถูกสังหารลงในการรบกับออตโตมัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Florescu, Radu R.; McNally, Raymond T. (1989). Dracula, Prince of Many Faces: His Life and His Times. Little, Brown and Company. ISBN 0-316-28655-9.
  2. 2.0 2.1 "Vlad III". Encyclopædia Britannica Online. 2010. สืบค้นเมื่อ 26 May 2010.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]