ยุทธการที่อินาบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธการที่อินาบ
ส่วนหนึ่งของ สงครามครูเสด

ยุทธการที่อินาบ
วันที่29 มิถุนายน ค.ศ. 1149
สถานที่
ผล ฝ่ายมุสลิมชนะ
คู่สงคราม
ราชรัฐแอนติออก
แอสซาสซิน
ราชวงศ์เซนกิดแห่งอะเลปโป
ดามัสกัส
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
แรมงแห่งปัวตีเย 
อาลี อิบน์ วาฟา 
นูร์ อัดดิน เซนกี
อูนูร์แห่งดามัสกัส
กำลัง
1,400[1] 6,000
ความสูญเสีย
มาก ไม่ทราบ

ยุทธการที่อินาบ (อังกฤษ: Battle of Inab) เป็นการสู้รบในสงครามครูเสดครั้งที่ 2 ระหว่างกองทัพของราชรัฐแอนติออก/แอสซาสซิน (Assassins) กับกองทัพมุสลิมราชวงศ์เซนกิดส์แห่งอะเลปโป/กองทัพดามัสกัส เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1149 ที่เมืองอินาบ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศซีเรีย)

เมื่อบิดาของนูร์ อัดดิน เซนกี (Nur ad-Din Zangi) ผู้สถาปนาราชวงศ์เซนกิดเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1146 นักรบครูเสดจากราชอาณาจักรเยรูซาเลมได้ยกทัพมาตีเมืองดามัสกัส แต่นูร์ อัดดิน เซนกีป้องกันเมืองไว้ได้ กองทัพครูเสดอีกกลุ่มหนึ่งจากแอนติออก นำโดยเรย์มอนด์แห่งแอนติออก (Raymond of Antioch) ได้ยกทัพมาตีเมืองอะเลปโปซึ่งตอนนั้นอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิเซลจุค ปาลยปี ค.ศ. 1148 นูร์ อัดดิน เซนกีจึงยกทัพไปตีเมืองแอนติออกคืนบ้าง แต่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้[2] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1149 เขายกทัพไปตีแอนติออกอีกครั้งและร่วมกับทัพของอูนูร์แห่งดามัสกัส (Mu'in ad-Din Unur) ล้อมป้อมอินาบไว้ เรย์มอนด์ซึ่งถูกปฏิเสธความช่วยเหลือจากรัฐครูเสดอื่น ๆ ยกทัพที่ประกอบด้วยทหารราบ 1,000 นายและอัศวิน 400 นาย[1][2] ไปที่ป้อมอินาบ เขาร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มแอสซาสซินของอาลี อิบน์ วาฟา (Ali ibn-Wafa) เมื่อยกทัพมาถึง นูร์ อัดดิน เซนกีได้ถอนกำลังออกไป ทัพครูเสด/แอสซาสซินจึงตั้งทัพในที่โล่ง ในคืนวันนั้นทัพดังกล่าวได้ถูกทัพมุสลิมล้อมไว้

ในวันที่ 29 มิถุนายน นูร์ อัดดิน เซนกีได้นำทัพเข้าโจมตีทัพของเรย์มอนด์ แม้ว่าเขาจะมีโอกาสหนี แต่เรย์มอนด์ก็ยังคงปักหลักสู้กับทัพมุสลิม[3] เขาเสียชีวิตในสนามรบเช่นเดียวกับอาลี อิบน์ วาฟา ผู้นำแอสซาสซิน ทหารครูเสดส่วนน้อยหนีรอดไปได้ และดินแดนส่วนใหญ่ของแอนติออกถูกนูร์ อัดดิน เซนกียึดโดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง

หลังการรบ นูร์ อัดดิน เซนกีได้ยึดป้อมที่สำคัญหลายแห่งก่อนจะยกทัพไปล้อมแอนติออก มีการเจรจาเกิดขึ้นโดยนูร์ อัดดิน เซนกีจะไม่ทำลายเมืองนี้และคงกำลังทหารบางส่วนเพื่อป้องกันการยึดเมืองคืน แลกกับทรัพย์สินจากท้องพระคลัง จากนั้นก็ยกทัพไปยึดป้อมอะฟามิยะ[4] (Afamiya; ปัจจุบันคือเมืองอะพาเมียในซีเรีย) เมื่อพระเจ้าบอลด์วินที่ 3 (Baldwin III) กษัตริย์แห่งเยรูซาเลมทราบข่าว พระองค์ได้นำทัพและอัศวินเทมพลาร์ไปที่ป้อมดังกล่าว พระเจ้าบอลด์วินที่ 3 และนูร์ อัดดิน เซนกีได้เจรจาจนมีการตกลงเรื่องพรมแดนกันใหม่ระหว่างแอนติออกกับอะเลปโป[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Oldenbourg, p 336
  2. 2.0 2.1 Mallett, p 55
  3. Oldenbourg, p 337
  4. 4.0 4.1 Mallett, pp 48–49

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]