มูลนิธิเมาไม่ขับ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มูลนิธิเมาไม่ขับ
ชื่อย่อDDD
คําขวัญเมาไม่ขับ
ก่อตั้ง6 กันยายน 2545 (2545-09-06)
ประเภทองค์การไม่แสวงหาผลกำไร
สถานะตามกฎหมายมูลนิธิ
วัตถุประสงค์รณรงค์การไม่ขับขี่ยานพาหนะขณะเมาสุรา
สํานักงานใหญ่21 หมู่บ้านประชานิเวศน์ 2 ซอยสามัคคี 58 แยกสามัคคี 58/26 ถนนสามัคคีตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
พิกัด13°52′23″N 100°32′25″E / 13.872918°N 100.540264°E / 13.872918; 100.540264
ภาษาทางการ
ไทย
ประธาน
ดำรง พุฒตาล
เลขาธิการ
แท้จริง ศิริพานิช
สังกัดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
เว็บไซต์www.ddd.or.th

มูลนิธิเมาไม่ขับ (อังกฤษ: Don't Drive Drunk Foundation: DDD) เป็นมูลนิธิในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างการตระหนักรู้และรณรงค์การงดการขับขี่ยานพาหนะในขณะมึนเมาจากแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบก

ความเป็นมา[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2538 กองวิจัยและวางแผน กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย รายงานว่าจากอุบัติเหตุจราจรทางบก พบว่าร้อยละ 60 ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเกิดจากการเมาแล้วขับ อีกทั้งยังไม่มีองค์กรรัฐใดที่รับผิดชอบปัญหานี้โดยตรง และปัญหานี้ยังไม่เป็นรับรู้อย่างกว้างขวาง ทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลถึงการสาธารณสุข วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและสมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้นเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้แท้จริง ศิริพานิช ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย กรมการแพทย์ ในขณะนั้นไปจัดทำแผนรณรงค์การลดอุบัติเหตุข้างต้น โดยแผนดังกล่าวมีเป้าหมายแรกมุ่งไปยังกลุ่มศิลปินและสื่อมวลชน จากนั้นในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2536 สถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัยจัดสัมมนา เรื่อง "บทบาทของสื่อมวลชนและคนบันเทิงในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรจากสุรา" ณ โรงแรมนิกโก้มหานคร ซึ่งนับว่าเป็นการจุดประกายการรณรงค์การเมาไม่ขับ

หลังจากนั้นวิทุรได้มอบหมายให้แท้จริงไปคิดรูปแบบองค์กรที่รณรงค์การเมาไม่ขับได้อย่างจริงจัง และได้เสนอให้ดำรง พุฒตาล ซึ่งเป็นนักสื่อสารมวลชนที่มีชื่อเสียงและเป็นสมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้นเป็นประธาน โดยดำรงในช่วงแรกยังลังเลได้การรับตำแหน่งดังกล่าว แต่เมื่อรำลึกถึงความทรงจำที่เคยพบเหยื่อจากการเมาแล้วขับในสหรัฐและเห็นสถิติอุบัติเหตุที่แท้จริงนำมาเสนอ ดำรงจึงรับเป็นประธาน แต่ในขณะนั้นยังไม่มีชื่อองค์กร ต่อมาหลังจากการประชุมหลายครั้งจึงได้ข้อสรุปว่าให้ใช้ชื่อ ชมรมคนรุ่นใหม่ไม่ขับรถเมื่อเมาสุรา

ต่อมาชมรมจัดประชุมใหญ่สมาชิกครั้งแรกอย่างเป็นทางการเมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ณ โรงแรมนิกโก้มหานคร ในการประชุมครั้งนั้นมีสมาชิกชมมจากหลากหลายภาคส่วน ที่ประชุมมีมติเลือกดำรงเป็นประธาน และแท้จริงเป็นเลขาธิการ แต่ชื่อชมรมในขณะนั้นยังไม่เป็นที่ยุติ คณะกรรมการจึงจัดประกวดชื่อสมาชิกและตราสัญลักษณ์ของชมรมขึ้นใหม่ จากการประกวดดังกล่าวจึงได้ชื่อชมรมว่าชมรมเมาไม่ขับ (อังกฤษ: Don’t Drive Drunk Club)

หลังจากนั้น ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ดำรงเสนอต่อกรรมการชมรมในขณะนั้นว่าควรจัดตั้งเป็นมูลนิธิที่จดทะเบียนตามกฎหมาย ที่ประชุมมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดตั้ง ดำรงจึงมอบหมายให้สุรสิทธิ์ ศิลปงามเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิ และได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้จัดตั้งเมื่อ 6 กันยายน พ.ศ. 2545[1]

ผลงานของมูลนิธิ[แก้]

สื่อสร้างความตระหนักรู้ และสติกเกอร์ "เมาไม่ขับ"[แก้]

นับแต่ยังเป็นชมรม ชมรมมีแนวคิดที่จะสร้างกระแสการตื่นตัวและภาพจำของคำว่า "เมาไม่ขับ" โดยไม่ต้องซื้อโฆษณาตามสื่อ จึงใช้วิธีต่าง ๆ นานา เช่น ขอความอนุเคราะห์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของชมรม จากนั้นทางชมรมเห็นว่าสติกเกอร์เป็นสื่อที่ราคาถูกและอยู่คงทนที่สุด ชมรมจึงขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนการทำสติกเกอร์พิมพ์ข้อความ "เมาไม่ขับ" เพื่อแจกจ่ายแก่คนทั่วไป และระดมอาสาสมัครนำสติกเกอร์ไปติดบนรถ มูลนิธิกล่าวว่านับแต่เปิดตั้งชมรมมา มีรถที่ติดสติกเกอร์ดังกล่าวถึง 3 ล้านค้น และรายการโทรทัศน์ 4 ต่อ 4 แฟมิลี่เกม ซึ่งเป็นรายการที่นำสถิติจากการสำรวจผู้ชมในห้องส่งเป็นจัดอันดับและทายเป็นคำถาม กล่าวว่าข้อความ "เมาไม่ขับ" เป็นข้อความที่พบเห็นมากที่สุดหลังรถยนต์[1]

สติกเกอร์ "เมาไม่ขับ" แบบที่พบเห็นมากที่สุดเป็นสติกเกอร์พิมพ์ข้อความ เมาไม่ขับ สีเหลืองตัดขอบสีดำ อยู่บนแถบโบสีน้ำเงินตัดขอบสีดำ ต่อมามีการดัดแปลงและสร้างสรรค์เป็นแบบอื่น เช่น ใช้ภาษาอื่นที่มีความหมายเดียวกัน รูปหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธพร้อมข้อความ "เมาไม่ขับเด้อ" ป้ายจราจรล้อเลียน[2]

ปัจจุบันนี้ยังมีการรณรงค์จากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคีเครือข่ายของมูลนิธิ เช่น เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ด้วยการใช้สื่อต่าง ๆ ของมูลนิธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปสติกเกอร์ "เมาไม่ขับ"[3]

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข่าว ชายชราเชื้อชาติจีนวัย 71 ปี ประกอบอาชีพขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในร้านเล็ก ๆ ย่านอุรุพงษ์ ขับรถยนต์ของตนชนรถยนต์พระที่นั่งซึ่งจอดรอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาเมื่อครั้งทรงอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ และรถลีมูซีนของโรงแรมโอเรียนเต็ล รวม 7 คัน หลังร่วมสังสรรค์งานสมรสบุตรของเพื่อนจนเมาขาดสติ ประมาณการค่าความเสียหายจากอุบัติเหตุดังกล่าวอยู่ที่ 2 ล้านบาท จากนั้นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานอภัยโทษ ไม่ทรงเรียกค่าเสียหาย ด้วยทรงเห็นว่าหากเรียกค่าเสียหายจะเป็นการลำบากแก่ผู้ก่อเหตุเอง อีกทั้งพระราชทานสติกเกอร์ "เมาไม่ขับ" และกำชับลูกหลานให้ผู้ก่อเหตุงดขับขี่ยานพาหนะอีกเพราะชรามากแล้ว อาจเกิดอุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิตได้[4]

การสร้างเครือข่าย[แก้]

มูลนิธิได้สร้างเครือข่ายเพื่อบูรณาการการทำงานและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มแท็กซี่อาสาส่งคนเมากลับบ้าน กลุ่มเหยื่อจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ กลุ่มผู้ขับรถสาธารณะ กลุ่มผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง[1] กลุ่มนักศึกษาเมาไม่ขับ (อังกฤษ: Students Against Drunk Driving (SADD)) ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ[5] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ[6] นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายในต่างประเทศอีกด้วย เช่น เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับประเทศลาว มาเลเซีย ญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแล้ว ทางมูลนิธิยังได้เป็นส่วนสำคัญในการรณรงค์ร่วมกันอีกด้วย[7]

การรณรงค์ด้วยกิจกรรม[แก้]

มูลนิธิรณรงค์การเมาไม่ขับด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาเพื่อลดยอดผู้ได้รับผู้กระทบจากอุบัติเหตุจากการดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ เช่น เข้าร่วมวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน[8] การเรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการต่อกลุ่มผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรเนื่องจากการเมาสุรา[9]

การผลักดันกฎหมาย[แก้]

มูลนิธิได้ผลักดันกฎหมายเพื่อควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์แล้วไปขับขี่ยานพาหนะ เช่น การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สถานบริการเชื้อเพลิง การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำผิดกฎจราจรจากการดื่มแอลกอฮอล์[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 มูลนิธิเมาไม่ขับ. "เกี่ยวกับมูลนิธิ". มูลนิธิเมาไม่ขับ. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)[ลิงก์เสีย]
  2. "สื่อรณรงค์ สติกเกอร์". มูลนิธิเมาไม่ขับ. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "กิจกรรม". มูลนิธิเมาไม่ขับ. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ของว่างวันอาทิตย์". ไทยรัฐ. 4 พฤษภาคม 2551. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-19. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) ประกอบกับ "กราบพระเมตตา! พุ่งชนรถพระที่นั่ง...ความเสียหายครั้งนี้ "พระบรมฯ" ทรงยกโทษให้". ผู้จัดการออนไลน์. 8 พฤศจิกายน 2559. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "ข่าวมศว.ชูนโยบายลดอุบัติเหตุทางถนน จับมือหมอแท้จริงตั้งชมรมนศ.เมาไม่ขับ". มูลนิธิเมาไม่ขับ. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "มูลนิธิเมาไม่ขับ". คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-18. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 อิสาสะวิน, ศิรินทิพย์ (1 กันยายน 2554). "หยุดคนเมาไม่ให้ขับรถ หน้าที่ของ 'มูลนิธิเมาไม่ขับ'". สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "วันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims)". มูลนิธิเมาไม่ขับ. 18 พฤศจิกายน 2561. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "เมาไม่ขับไว้อาลัยเหยื่ออุบัติเหตุทางถนน เรียกร้อง บิ๊กตู่ จัดการพวกเมาขับ". มูลนิธิเมาไม่ขับ. 19 พฤศจิกายน 2560. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)