มหาวิหารนักบุญแอนโทนีแห่งปาดัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บาซิลิกาซานอันโตนิโอแห่งปาดัว
Basilica of Saint Anthony of Padua
บาซิลิกาซานอันโตนิโอแห่งปาดัว
แผนที่
45°24′5″N 11°52′48″E / 45.40139°N 11.88000°E / 45.40139; 11.88000
ที่ตั้งปาดัวในประเทศอิตาลี
ประเทศ ประเทศอิตาลี
นิกายโรมันคาทอลิก
เว็บไซต์บาซิลิกาซานอันโตนิโอแห่งปาดัว
สถานะบาซิลิกา
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์โรมาเนสก์ กอธิค บาโรก ฟื้นฟูศิลปวิทยา
ปีสร้างค.ศ. 1235ค.ศ. 1301

บาซิลิกาซานอันโตนิโอแห่งปาดัว (อังกฤษ: Basilica of Saint Anthony of Padua, อิตาลี: Basilica di Sant'Antonio da Padova) เป็นคริสต์ศาสนสถาน นิกายโรมันคาทอลิกที่มีฐานะเป็นบาซิลิกา[1] ที่ตั้งอยู่ที่เมืองปาดัวในประเทศอิตาลี สถาปัตยกรรมที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นแบบฟื้นฟูศิลปวิทยา แม้ว่าจะเป็นคริสต์ศาสนสถานที่มีผู้มาเยี่ยมชมและแสวงบุญมากที่สุดแต่มิได้เป็นมหาวิหาร มหาวิหารของปาดัวเป็นอีกสิ่งก่อสร้างหนึ่ง บาซิลิกาซานอันโตนิโอรู้จักกันในท้องถิ่นว่า “il Santo”

ประวัติ[แก้]

การก่อสร้างบาซิลิกาอาจจะเริ่มขึ้นราว ค.ศ. 1235 สิบเก้าปีหลังจากการเสียชีวิตของนักบุญแอนโทนีแห่งปาดัวและสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1301 แม้จะยังมีการต่อเติมโครงสร้างอีกหลังจากนั้น (รวมทั้งการซ่อมแซมบริเวณจรมุข (ambulatory) ที่พังลงมา และการสร้างฉากกางเขนใหม่) ที่ทำระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตามความประสงค์ของนักบุญแอนโทนีร่างของท่านได้รับการฝังไว้ในวัดเล็กๆ ชื่อวัดซานตามาเรียมาเตอร์โดมินิ ที่อาจจะสร้างมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ใกล้กับคอนแวนต์ที่ท่านก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1229 วัดนี้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบาซิลิกาปัจจุบันเป็น “ชาเปลมาดอนนาโมรา” หรือ “ชาเปลพระแม่มารีดำ” (Cappella della Madonna Mora)

สถาปัตยกรรม[แก้]

ซานอันโตนิโอเป็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่บ่งลักษณะสถาปัตยกรรมของตระกูลใดตระกูลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นสิ่งก่อสร้างที่วิวัฒนาการที่มาจากลักษณะสถาปัตยกรรมของหลายตระกูลที่เกิดขึ้นในช่วงหลายศตวรรษที่สร้างที่จะเห็นได้จากรายละเอียดของลักษณะภายนอก

บาซิลิกาใหม่เริ่มจากสิ่งก่อสร้างที่มีช่องทางเดินกลางเพียงทางเดินเดียวเช่นเดียวกับมหาวิหารเซนต์ฟรานซิสแห่งอาซิซิโดยมีบริเวณพิธีโค้งทางมุขตะวันออก แขนกางเขนกว้าง และหลังคาสี่เหลี่ยมสองหลังคาเหนือช่องทางเดินกลางที่ตอนบนเป็นโดมเช่นเดียวกับโดมที่วัดซานมาร์โคในเวนิส ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์

ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ก็มีการต่อเติมช่องทางเดินข้างกระหนาบช่องทางเดินกลางเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมกอธิคที่แบ่งเป็นสองช่วงที่เป็นเพดานโค้งและเพดานแบบโค้งสี่ (quadripartite)

ทางมุขตะวันออกก็ได้รับการต่อเติมเป็นแบบกอธิคแต่เป็นเพดานโค้งสันโดยมีชาเปลเก้าชาเปลกระจายออกไปตามแบบฝรั่งเศส ต่อมาก็มีการสร้าง ชาเปลเรลิควิโอเดลเทโซโร (Cappella delle Reliquie o del Tesoro) หรือชาเปลเก็บของมีค่า (Treasury chapel) ในปี ค.ศ. 1691 แบบบาโรกโดยฟิลิปโป พาโรดิ (Filippo Parodi) ลูกศิษย์ของจานโลเรนโซ แบร์นินี

ด้านหน้าตอนกลางเป็นอิฐแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ที่ยื่นออกมาเมื่อมีการสร้างช่องทางเดินข้างซึ่งทำให้มีลักษณะเป็นโค้งเว้าเข้าไปสี่โค้งตรงทางเข้าแบบกอธิค เหนือทางเข้าเป็นระเบียงที่แล่นตามแนวขวางตลอดด้านหน้าของสิ่งก่อสร้าง

โดมสองโดมสร้างแบบเดียวกับโดมสูงของบาซิลิกาซานมาร์โคในเวนิสทำให้มีลักษณะที่ดูเหมือนสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ แต่หอระฆังเล็กๆ รอบโดมมีลักษณะคล้ายหอมินเนอเร็ตของสุเหร่าของสถาปัตยกรรมอิสลาม ด้านนอกหลังคาเป็นแบบจั่วแบบเกือบราบตกแต่งด้วยซุ้มโค้งบอดที่ทำด้วยอิฐ จั่วเมื่อรวมกับโดม ค้ำยันกว้าง และหอเล็กๆ สร้างลักษณะที่เป็นประติมากรรมที่ดูเทอะทะหนักที่ดูดีจากทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านหน้าของวัดมีอนุสาวรีย์บนหลังม้าของทหารรับจ้างอิตาลี “กัตตาเมลาตา” โดยโดนาเทลโล

งานศิลปะ[แก้]

จิตรกรรมฝาผนังโดยอัลติเคียโร ดา เซวิโอ (Altichiero da Zevio) ในชาเปลเซนต์เจมส์

ภายในบาซิลิการมีสิ่งที่มีคุณค่าทางศิลปะหลายอย่างที่รวมทั้งอนุสรณ์ผู้ตายหลายอนุสรณ์ ชาเปลซานทิสสิโมซาคราเมนโต (Cappella del Santissimo Sacramento) ทางด้านช่องทางเดินข้างด้านขวาเป็นที่บรรจุศพของทหารรับจ้างอิตาลีคนสำคัญชื่ออีราสโมแห่งนาร์นิ หรือที่เรียกกันว่า “กัตตาเมลาตา” และลูกชายจานอันโตนิโอ ชาเปลนี้ตกแต่งด้วยแถบต่างสีและรายละเอียดแบบกอธิคตกแต่งมาเป็นระยะๆ ระยะสุดท้ายเป็นการตกแต่งด้วยงานโมเสกที่มีลำแสงทองส่องลงมายังท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม งานที่มีลักษณะเป็นนาฏกรรมนี้สร้างโดยโลโดวิโค โพเกลียกิ ระหว่าง ค.ศ. 1927 ถึง ค.ศ. 1936.

วัตถุมงคลของนักบุญแอนโทนีแห่งปาดัวตั้งอยู่ภายในชาเปลเรลิควิโอเดลเทโซโรที่ตกแต่งแบบบาโรกอย่างวิจิตรที่เริ่มในปี ค.ศ. 1691) ร่างของนักบุญที่เดิมตั้งอยู่ภายใน “ชาเปลพระแม่มารีดำ” ก็มาตั้งอยู่ในชาเปลต่างหากตั้งแต่ปี ค.ศ. 1350 การตกแต่งในชาเปลนี้เชื่อว่าทำโดยทุลลิโอ ลอมบาร์โด (Tullio Lombardo) ผู้ตกแต่งภาพนูนหลายชิ้นในวัด ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก็มีการติดตั้งประติมากรรมโดยทิเชียโน อัสเพตติ (Tiziano Aspetti)

บาซิลิกามีศิลปะของพระแม่มารีหลายชิ้นที่รวมทั้ง “พระแม่มารีดำ” ที่เป็นประติมากรรมของพระแม่มารีและพระบุตรที่สร้างโดยประติมากรชาวฝรั่งเศส Rainaldino di Puy-l'Evéque ตั้งแต่ ค.ศ. 1396 ที่เรียกว่าพระแม่มารีดำเพราะมีพระเกศาสีดำและพระฉวีคล้ำ (olive skin)

“พระแม่พิลาสโตร” (Madonna del Pilastro) เป็นจิตรกรรมฝาผนังจากคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยสเตฟานโน ดา เฟอร์ราราที่อยู่บนเสาทางด้านซ้าย

ประติมากรรมชิ้นอื่นก็ได้แก่เชิงเทียนอีสเตอร์ในมุขตะวันออกที่สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1515 โดย อันเดรีย บริโอสโค (Andrea Briosco) ซึ่งถือว่าเป็นงานชิ้นเอก แต่สิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดและเด่นที่สุดคือแท่นบูชาเอกที่มีประติมากรรมสัมริดของ “พระแม่มารีและพระบุตร” และนักบุญอีกหกองค์โดยโดนาเทลโล ผู้สร้างประติมากรรมภาพนูนเกี่ยวกับฉากชีวิตของนักบุญแอนโทนีอีกสี่ภาพด้วย

ทางด้านขวาของช่องทางเดินกลางเป็นอนุสรณ์ของนักบุญในชาเปลเซนต์เจมส์ที่โบนิฟาชิโอ ลูพิจ้างให้ทำในคริสต์ศตวรรษ 1370 เป็นแบบกอธิค ผนังของชาเปลเป็นจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับชีวิตของนักบุญเจมส์ ลูกของเซเบดีและพระเยซูตรึงการเขนโดยอัลติเชียโร ดา เซวิโอซึ่งถือว่าเป็นจิตรกรรมชิ้นสำคัญของคริสต์ศตวรรษที่ 14

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ บาซิลิกาซานอันโตนิโอแห่งปาดัว

ระเบียงภาพ[แก้]