ข้ามไปเนื้อหา

เรลิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มงคลวัตถุ)

เรลิก (อังกฤษ: relic) คือชิ้นส่วนร่างกายของนักบุญหรือบุคคลที่เป็นที่นับถือ หรือศาสนวัตถุโบราณอื่น ๆ ที่มีการเก็บรักษาไว้ให้ศาสนิกชนได้บูชา หรือเป็นเครื่องระลึกถึง ความเชื่อเกี่ยวกับเรลิกมีความสำคัญในหลายศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู ลัทธิเชมัน ฯลฯ

คำว่า relic มาจาก ภาษาละติน “reliquiae” แปลว่าสิ่งที่หลงเหลืออยู่ และคำว่า “reliquary” หมายถึงที่เก็บรักษาเรลิกซึ่งอาจเป็นหีบหรือตู้ หรือศาสนสถานสถานที่เช่นมหาวิหารหรือวัด

เรลิกในพุทธศาสนา

[แก้]

พุทธศาสนิกชนเรียกเรลิกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ ว่าพระธาตุ หากเป็นพระธาตุของพระพุทธเจ้าจะเรียกว่าพระบรมสารีริกธาตุ (หรือพระบรมธาตุ) ของพระอรหันตสาวกเรียกว่าพระธาตุ[1]

การบูชาพระธาตุปรากฏมาแต่ครั้งพุทธกาล ดังปรากฏพระพุทธวจนะตรัสว่าบุคคลที่ควรสร้างสถูปเพื่อเก็บอัฐิไว้เคารพบูชามี 4 จำพวกเรียกว่าถูปารหบุคคล[2] ได้แก่

  1. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
  2. พระปัจเจกพุทธเจ้า
  3. พระตถาคตสาวก
  4. พระเจ้าจักรพรรดิ

นอกจากนี้เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานและถวายพระเพลิงพระสรีระแล้ว ก็มีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เจ้าผู้ครองรัฐต่าง ๆ นำไปประดิษฐานยังเมืองของตน[3] แสดงถึงความสำคัญของพระธาตุที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

ประวัติเรลิกในคริสต์ศาสนา

[แก้]
เรลิกของนักบุญดีมิเทรียส (St. Demetrius) ที่มหาวิหาร Thessalonika, ประเทศกรีซ

หลักฐานแรกที่กล่าวถึงเรลิกปรากฏใน “คัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงเจมส์” (King James' Bible [en])[4] กล่าวถึงเรลิกและปาฏิหาริย์ว่า

“เอลิชา (Elisha) ตายและถูกฝัง ปัจจุบันมีโจรเข้ามาทุกฤดูใบไม้ผลิ ครั้งหนึ่งขณะที่ชาวยิวกำลังฝังศพอยู่ เห็นโจรกลุ่มหนึ่ง ชาวยิวจึงจับโจรโยนลงไปในที่ฝังศพของเอลิชา เมื่อร่างของโจรถูกกระดูกของเอลิชา โจรฟื้นชึวิตขึ้นมาและยืนบนขาของตัวเอง” (New International Version (คัมภีร์สากลฉบับใหม่ ) [en])

เอกสารอีกฉบับหนึ่งที่เขียนไว้ใน “การเป็นมรณสักขีของโพลิคาร์ป” (Martyrdom of Polycarp) เมื่อระหว่างปี ค.ศ. 150 ถึงปี ค.ศ. 160 กล่าวถึงเรลิกของนักบุญโพลิคาร์ป (Polycarp) ตามเอกสาร กิจการของอัครทูต 19:11-12 กล่าวถึงผ้าเช็ดหน้าของนักบุญโพลิคาร์พว่า ได้รับอำนาจจากพระเยโฮวาห์ทำให้สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้

ตำนานปาฏิหาริย์เกื่ยวกับเรลิกเริ่มมีกันมาตั้งแต่เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคต้นของคริสต์ศาสนา แล้วนิยมแพร่หลายกันมากในยุคกลาง มีการรวบรวมเป็นหนังสือแบบที่เรียกว่า “วิทยานักบุญ” เช่น “ตำนานทอง” หรืองานเขียนโดยซีซาร์แห่งไฮสเตอร์บาค (Caesar of Heisterbach) หนังสีอเหล่านี้เป็นที่นิยมและเสาะหากันมากในสมัยยุคกลาง

เรลิกของพระเยซูมีหลายอย่าง โดยชิ้นที่มีชื่อเสียงรู้จักกันแพร่หลายมาก เช่น

  • ผ้าห่อพระศพแห่งตูริน (Shroud of Turin) เชื่อกันว่าเป็นผ้าที่ใช้ห่อพระศพของพระเยซูเมื่อนำร่างลงมาจากกางเขน แต่เป็นที่ถกเถียงกันมาก เก็บรักษาที่ มหาวิหารเซนต์จอห์นแบพทิสต์ เมืองตูริน ประเทศอิตาลี
  • กางเขนจริง (True Cross) เชื่อกันว่าเป็นชิ้นไม้จากไม้กางเขนที่พระเยซูถูกตรึง ชิ้นไม้นี้เป็นที่เสาะหากันมากและมีการทำปลอมมากจนจอห์น คาลวิน (John Calvin) กล่าวเยาะว่าชิ้นไม้จากไม้กางเขนที่มีกันอยู่สมัยนั้นสามารถเอาไปสร้างเรือได้ทั้งลำ [5] อย่างไรก็ตาม เมื่อเอาชิ้นไม้จากไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดที่มีอยู่ขณะนั้นมารวมกัน หนักเพียง 1.7 กิโลกรัม มีเนี้อที่ 0.04 ตารางเมตรเท่านั้น ถึงกระนั้น บางชิ้นเมื่อวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว กลับพบว่ามาจาก ค.ศ. 1870[6]

ความหมายของเรลิกในวัฒนธรรมโรมาโนคริสเตียน

[แก้]
เรลิกที่โบสถ์ซานเปโคร (San Pedro) ที่อเยอร์เบ (Ayerbe) ประเทศสเปน

ในคำนำประวัติของนักบุญเกรกอรีแห่งตูร์ (Gregory of Tours) เออร์เนส เบรอโอท (Ernest Brehaut) วิจัยมโนทัศน์ของโรมาโน-คริสเตียน (Romano-Christian) ซึ่งเน้นความสำคัญของเรลิก เบรอโอทวิจัยคำสองคำที่นักบูญเกรกอรีใช้เสมอ คือคำว่า “sanctus” และ “virtus” คำแรกหมายถึง “ศักดิ์สิทธิ์” และคำที่สองให้คำธิบายว่าเป็น [7]

“กระแสที่กำจายออกมาจากบุคคลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำสองคำนี้ไม่มีความหมายทางจริยธรรมในตัวเองและไม่มีผลในชีวิตใด ๆ ทั้งสิ้น [แต่]คำสองคำนี้มีความหมายทางศาสนาและเนื้อหาเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ ในทางปฏิบัติคำที่สอง [virtus] เป็นคำที่สำคัญกว่า คำนี้บรรยายอำนาจลึกลับที่กำจายออกมาจากสิ่งที่เหนือธรรมชาติและมีผลต่อสิ่งธรรมชาติ การกระจายของพลังนี้อาจเทียบได้กับความสัมผัสระหว่างสิ่งธรรมชาติและสิ่งที่เหนือธรรมชาติโดยที่ธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ด้อยกว่าต้องแพ้ จุดสัมผัสและการยอมแพ้นี้คือปาฏิหาริย์ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ คุณค่าของความศักดิ์สิทธิ์และความลึกลับเป็นของจิตวิญญาณ และบางส่วนของผู้มีความศรัทธา และวัตถุ สิ่งเหล่านี้มีจิตวิญญาณที่มาจากผู้มีความศรัทธาและถ่ายทอดสู่วัตถุ”

ตรงกันข้ามกับคำว่า "virtus" คืออำนาจลึกลับที่มาจาก “สิ่งชั่วร้าย” (daemons) ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งถือกันว่าเป็นสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อ “virtus” สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถถูกทำลายได้โดย “virtus” ได้ คำว่า “virtue” นี้นักบูญเกรกอรีและนักเขียนคนอื่นกล่าวว่ามีความเกี่ยวข้องกับ ผึ ปีศาจ นักมายากล และผู้นอกศาสนา “virtus” ที่ผิดนั้นเห็นได้จากรูป หรือรูปปั้นของสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นที่นับถือของชนนอกศาสนาคริสต์ บางครั้งเราจึงเห็นรูปปั้นเหล่านี้ถูกทำลายโดยคริสต์ศาสนิกชนในบางสมัย

เนื่องจากความเชื่อกันว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มีอำนาจในการป้องกันสิ่งชั่วร้าย เรลิกจึงยังมีความนิยมและความสำคัญทางคริสต์ศาสนา ความศักดิ์สิทธิ์อันนี้อาจครอบคลุมไปถึงบริเวณที่มีวัตถุมงคลตั้งอยู่เช่นตัวเมือง เมื่อนักบุญมาร์ตินแห่งทัวร์เสียชีวิตเมื่อ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 397 หมู่บ้านระหว่างเมืองทัวร์ไปจนถึงปัวตีเย ต่างหวังได้ร่างของท่านมาเป็นสมบัติแต่เมืองทัวร์เป็นผู้ได้ไป บางครั้งความที่อยากเป็นเจ้าของทำให้มีการโขมยกันเช่นร่างของนักบุญนิโคลัสแห่งไมรา (St Nicholas of Myra) ตำนานหนึ่งว่ากะลาสีจากอิตาลีไปเอามาจากบาทหลวงออร์ทอดอกซ์ที่อาร์มีเนียหลังศึกแมนซิเคิท (Battle of Manzikert) เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11 อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่าวัตถุมงคลของท่านเกือบทั้งหมดถูกนำไปไว้ที่เมืองเวนิส หรือความชื่อที่ว่าเรลิกที่เรียกว่า “รูปเอเดสสา” (Image of Edessa) ซึ่งเป็นผืนผ้าที่มีรูปพระพักตร์ของพระเยซู สามารถปกป้องเมืองไม่ให้ศัตรูเข้าเมืองได้

การจัดระดับและการประกาศห้ามมีวัตถุมงคลในนิกายโรมันคาทอลิก

[แก้]
ภาพเขียนของผ้าซับพระพักตร์ของพระเยซู โดยฟรานซิสโก เดอ เซอบาราน

คริสต์ศาสนิกชนคาทอลิกชาวไทยเรียกเรลิกว่าพระธาตุ[8] (ทั้งที่เรลิกนั้นเป็นของนักบุญไม่ใช่พระอรหันต์) และแบ่งเรลิกเป็นสามชั้น

  • เรลิกชั้นหนึ่ง คือวัตถุที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของพระเยซู (รางหญ้า, กางเขน, อื่น ๆ) หรือชิ้นส่วนจากร่างของนักบุญ (กระดูก, ผม, แขน, อื่น ๆ)

ตามธรรมดาแล้ววัตถุมงคลจากนักบุญที่พลีชีพมีค่ากว่านักบุญที่มิได้พลีชีพ และส่วนของร่างกายแต่ละส่วนมีค่ามากน้อยต่างกัน เช่น แขนขวาของนักบุญสตีเฟนแห่งฮังการี (King St. Stephen of Hungary) มีความสำคัญมากกว่าส่วนอื่นของร่างกายเพราะเป็นสัญลักษณ์ของฐานะการปกครองของพระองค์ หัวของนักศาสนวิทยามีค่ามากที่สุดในบรรดาร่างกายส่วนอื่น เช่น หัวของนักบูญทอมัสอควินาถูกแยกจากร่างโดยพระที่สำนักสงฆ์ที่ฟอสซาโนวาเมื่อท่านสิ้นชีวิต หรือถ้านักบุญเดินทางบ่อยกระดูกเท้าอาจสำคัญ (ตามกฎสถาบันคาทอลิกในปัจจุบันห้ามแบ่งวัตถุมงคลที่ใช้ในคริสต์ศาสนพิธีจนไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นส่วนใดของร่างกาย)

  • เรลิกชั้นสอง คือ วัตถุที่นักบุญสวมใส่ (เช่น ถุงเท้า ถุงมือ หรือ เสื้อ) รวมทั้งสิ่งที่เป็นของนักบุญหรือสิ่งที่นักบุญใช้บ่อย เช่น กางเขน หรือ หนังสือ สิ่งที่สำคัญเป็นพิเศษต่อนักบุญมีค่ามากกว่าสิ่งอื่น
  • เรลิกชั้นสาม คือ วัตถุที่เคยสัมผัสเรลิกชั้นหนึ่งและสองมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีประกาศห้ามซื้อขายหรือเคลื่อนย้ายตามประมวลกฎหมายพระศาสนจักรระบุไว้ว่า [9]

§1190 §1 - ห้ามการซื้อขายเรลิกศักดิ์สิทธิ์โดยเด็ดขาด

§1190 §2 - ห้ามย้ายเรลิกที่มีความสำคัญและวัตถุมงคลอื่น ๆ ที่เป็นที่สักการะโดยมิได้มีการอนุญาตจากเขตมิสซัง

ความสำคัญของเรลิกในคริสต์ศาสนายุคกลาง

[แก้]

ตั้งแต่เริ่มแรกเรลิกใช้เป็นสิ่งเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างผู้มีความศรัทธาและความสำคัญกับพระเจ้า คริสต์ศาสนิกชนในยุคกลางมักเดินทางไปแสวงบุญตามสถานที่ที่เป็นของนักบวชศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เรลิกกลายเป็นธุรกิจใหญ่ นักแสวงบุญแสวงหาเรลิกเพื่อนำกลับไปไว้ที่บ้านเพื่อการสักการะ เพราะในสมัยนั้นการอยู่ใกล้ชิดสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญทางศาสนาเป็นสิ่งสำคัญ (Brown, 89) ตามที่บรรยายไว้โดย อันเดร วอเชส์ (Andre Vauchez) ปลายสมัยยุคกลางว่า “ชนสามัญชอบมีนักบุญใกล้ชิดกับตัวเองตลอดเวลา” (Vauchez, 139) เมื่อซื้อหามาแล้วนักแสวงบุญสามารถสักการบูชาได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องเดินทางไกลหรือเบียดกับใคร

แนวคิดต่อเรลิกในคริสต์ศาสนา

[แก้]
ภายในวิหารเซนต์บอนิเฟส (Saint Boniface) ที่โบสถ์วาฟฮุยเซน (Warfhuizen) ประเทศเนเธอร์แลนด์ กระดูกชิ้นกลางเป็นของนักบุญบอนิเฟส ห่อกระดาษทางซ้ายและขวาเป็นเศษกระดูกของนักบุญเบเนดิกต์แห่งเนอร์เซียและนักบุญแบร์นาร์แห่งแกลร์โว

แนวคิดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเรลิกไม่ใช่รูปเคารพ วัตถุมงคล หรือเครื่องราง ซึ่งต่างจากแนวคิดในศาสนาอื่น ชาวคริสต์ ไม่สร้างวัตถุมงคลขึ้นบูชาเอง (ไม่นับการทำเลียนแบบเพื่อหลอกลวง) และการกระทำต่อวัตถุมงคลที่หามาได้ ไม่บูชาสักการะ ไม่ทำพิธี และไม่ทำความเคารพ ต่อวัตถุมงคล บางยุคสมัยที่ผู้คนแสวงหาเป็นเครื่องรางอย่างกว้างขวาง และบางสมัยถูกห้ามอย่างจริงจัง

ประเด็นการห้ามสร้างหรือเคารพรูปเคารพปรากฏหลายครั้งในคัมภีร์ไบเบิล ทั้งจากพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ เช่น[10]

" บรรดาผู้ที่เคารพก็เป็นศูนย์ และสิ่งที่เขาปีติยินดีนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์ พยานของเขานั้นทั้งไม่เห็นและไม่รู้ เพื่อเขาจะต้องอับอาย ใครเล่าแต่งพระหรือหล่อรูปเคารพซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลย ดูเถิด เพื่อนทั้งสิ้นของเขาจะต้องอับอาย และช่างฝีมือนั้นก็เป็นแต่มนุษย์ ให้เขาชุมนุมกันทั้งหมด ให้เขายืนขึ้น เขาจะสยดสยอง เขาจะรับความอับอายด้วยกัน

ช่างเหล็กก็ทำงาน อยู่เหนือก้อนถ่านใช้เครื่องมือของเขา และทุบมันด้วยแขนแข็งแรงของเขาเอง เออ เขาหิวและกำลังของเขาอ่อนลง เขาไม่ได้ดื่มน้ำและอ่อนเปลี้ย ช่างไม้ขึงเชือกวัด เขาเอาดินสอขีดไว้ เขาแต่งมันด้วยกบและขีดด้วยวงเวียน เขาแต่งรูปนั้นให้เป็นรูปคน ตามความงามของคนให้อยู่ในเรือน

เขาตัดต้นสนซีดาร์ลง หรือเขาเลือกต้นสนฉัตรหรือต้นก่อและปล่อยให้มันงอกขึ้นอย่างแข็งแรงท่ามกลางต้นไม้ในป่า เขาปลูกต้นเทพทาโร และฝนก็เลี้ยงมัน และมันก็กลายเป็นพืชของคน เขาเอามันมาส่วนหนึ่งและให้อบอุ่นตัวเขา เออ เขาก่อไฟและปิ้งขนมปัง แล้วเขาเอามาทำพระองค์หนึ่งและนมัสการมันด้วย เออ เขาทำเป็นรูปแกะสลักและกราบรูปนั้น เขาเผาในกองไฟครึ่งหนึ่ง บนครึ่งนี้เขาได้กินเนื้อ เขาย่างเนื้อ กินอิ่ม และเขาอบอุ่นตัวของเขาด้วย แล้วว่า 'เอ้อเฮอ ข้าอุ่นจัง ข้าได้ไฟแล้ว' และที่เหลือนั้นเขาทำเป็นพระองค์หนึ่ง เป็นรูปเคารพของเขา และกราบลงนมัสการรูปนั้น และอธิษฐานต่อรูปนั้น และว่า 'ขอทรงช่วยกู้ข้าพระองค์ เพราะพระองค์เป็นพระเจ้าของข้าพระองค์'

เขาทั้งหลายไม่รู้ หรือเขาทั้งหลายไม่เข้าใจ เพราะตาของเขาถูกปิดหรือ เขาจึงเห็นอะไรไม่ได้ และจิตใจของเขาเล่าก็ถูกปิดหรือ เขาจึงเข้าใจไม่ได้ ไม่มีใครตรึกตรองเลย และไม่มีความรู้หรือมีการพินิจพิเคราะห์เลย ที่จะว่า ข้าเผามันเสียครึ่งหนึ่งในกองไฟ และข้าก็เอาถ่านมาปิ้งขนมปัง ข้าย่างเนื้อกินแล้ว และควรที่ข้าจะเอาส่วนที่เหลือให้เป็นสิ่งน่าเกลียดน่าชังหรือ ควรข้าจะกราบลงต่อท่อนไม้ท่อนหนึ่งไหม เขากินขี้เถ้า ใจที่หลอกหลอนนำเขาให้เจิ่น เขาช่วยกู้ตัวเขาเอง หรือพูดว่า 'ไม่มีความมุสาอยู่ในมือขวาของข้า' ก็ไม่ได้ "

แต่นักบุญเจอโรมค้านว่า [11]

“เราไม่บูชา, เราไม่ชื่นชม เพราะเรากลัวว่าต้องน้อมตัวต่อสิ่งอื่นที่ไม่ใช้พระผู้สร้าง แต่เราบูชาเรลิกจากผู้พลีชีพเพื่อศาสนาเพื่อให้เราชี่นชมในตัวท่านที่เสียสละ”

เรลิกในงานวรรณกรรม

[แก้]
  • The Relic by Eca De Queiros, Dedalus Ltd, UK 1994. ISBN 0-94662-694-4
  • The Translation of Father Torturo by Brendan Connell, Prime Books, 2005. ISBN 0-80950-043-4

ระเบียงภาพ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-02. สืบค้นเมื่อ 2011-08-17.
  2. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค 10/134/165
  3. โทณพราหมณ์แบ่งสรรพระบรมธาตุแก่พราหมณ์และกษัตริย์ ๗ พระนคร
  4. 2 Kings 13:20-21 (King James Version)
  5. Calvin, Traité Des Reliques
  6. de Fleury, "บันทึกอุปกรณ์ตรึงกางเขน" (Mémoire sur les instruments de la Passion)
  7. http://charlemagne.celtic-twilight.com/gregory_of_tours/pagexix.htm เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เออร์เนส เบรอโอท
  8. "บทความ:เกร้ดความรู้เกี่ยวกับพระธาตุของนักบุญ". อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. n.d. [พฤศจิกายน 1992]. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2011.
  9. The Code of Canon Law
  10. พระธรรมอิสยาห์ 44: 9-20
  11. Ad Riparium, i, P.L., XXII, 907

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Relics, by Joan Carroll Cruz, OCDS, Our Sunday Visitor, Inc, 1984. ISBN 0-87973-701-8
  • Pettiau Hérold; Jean-Luc Deuffic, บ.ก. (2007). "Reliques et sainteté dans l'espace médiéval". Revue belge de philologie et d'histoire. Histoire medievale, moderne et contemporaine - Middeleeuwse. moderne en hedendaagse geschiedenis (ภาษาฝรั่งเศส). Vol. 85. pp. 893–904.
  • Brown, Peter; Cult of the Saints: Its Rise and Function in Latin Christianity; University of Chicago Press; 1982
  • Vauchez, Andre; Sainthood in the Later Middle Ages; Cambridge University Press; 1997

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]