ภาษาไพทอน
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
กระบวนทัศน์ | หลากหลายรูปแบบ เช่นการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ, หรือการเขียนโปรแกรมเชิงฟังก์ชัน |
---|---|
ผู้ออกแบบ | คีโด ฟัน โรสซึม |
ผู้พัฒนา | มูลนิธิซอฟต์แวร์ไพทอน |
เริ่มเมื่อ | ค.ศ. 1990 |
รุ่นเสถียร | |
ระบบชนิดตัวแปร | Duck, dynamic, strong typing;[1] gradual (ตั้งแต่ 3.5 แต่มองข้ามใน CPython)[2] |
ระบบปฏิบัติการ | ลินุกซ์, วินโดวส์, แมคโอเอส และอื่นๆ |
สัญญาอนุญาต | ลิขสิทธิ์มูลนิธิซอฟต์แวร์ไพทอน |
เว็บไซต์ | www |
ตัวแปลภาษาหลัก | |
CPython, PyPy, Stackless Python, MicroPython, CircuitPython, IronPython, Jython | |
ภาษาย่อย | |
Cython, RPython, Starlark[3] | |
ได้รับอิทธิพลจาก | |
ABC, Perl, Lisp, Smalltalk, Tcl | |
ส่งอิทธิพลต่อ | |
Apache Groovy, Boo, Cobra, CoffeeScript | |
|
ไพทอน (อังกฤษ: Python) เป็นอินเทอร์พรีเตอร์ภาษาระดับสูงซึ่งสร้างโดยคีโด ฟัน โรสซึม โดยเริ่มใน พ.ศ. 2533 การออกแบบของภาษาไพทอนมุ่งเน้นให้ผู้โปรแกรมสามารถอ่านชุดคำสั่งได้โดยง่ายผ่านการใช้งานอักขระเว้นว่าง (whitespaces) จำนวนมาก นอกจากนั้นการออกแบบภาษาไพทอนและการประยุกต์ใช้แนวคิดการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุในตัวภาษายังช่วยให้นักเขียนโปรแกรมสามารถเขียนโปรแกรมที่เป็นระเบียบ อ่านง่าย มีขนาดเล็ก และง่ายต่อการบำรุง[4]
ไพทอนเป็นภาษาแบบไดนามิกพร้อมตัวเก็บขยะ ไพทอนรองรับกระบวนทัศน์การเขียนโปรแกรมหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการเขียนโปรแกรมตามลำดับขั้น การเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ หรือการเขียนโปรแกรมเชิงฟังก์ชัน นอกจากนี้ไพทอนเป็นภาษาที่มักถูกอธิบายว่าเป็นภาษาโปรแกรมแบบ "มาพร้อมถ่าน" (batteries included) กล่าวคือไพทอนมาพร้อมกับไลบรารีมาตรฐานจำนวนมาก เช่นโครงสร้างข้อมูลแบบซับซ้อน และไลบรารีสำหรับคณิตศาสตร์
ไพทอนมักถูกมองว่าเป็นภาษาที่สร้างต่อจากภาษา ABC โดยไพทอน 2.0 ซึ่งออกเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2543 มาพร้อมกับเครื่องมือสำหรับการเขียนโปรแกรมจำนวหนึ่ง อย่างเช่นตัวสร้างแถวรายการ (list comprehension)
ไพทอนรุ่น 3.0 เป็นไพทอนรุ่นที่ได้รับการปรับปรุงและแก้ไขจำนวนมาก ทว่าความเปลี่ยนแปลงไนไพทอน 3 นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เข้ากันแบบย้อนหลัง กล่าวคือชุดคำสั่งที่เขียนสำหรับไพทอน 2 อาจไม่ทำงานตามปกติเมื่อสั่งให้ทำงานบนตัวแปลภาษาของไพทอน 3
ไพทอนรุ่น 2.0 หมดการสนับสนุนอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2563 โดยการหมดการสนับสนุนนี้ถูกวางแผนตั้งแต่ พ.ศ. 2558 และไพทอนรุ่น 2.7.18 เป็นไพทอนรุ่น 2.7 และรุ่นตระกูล 2.0 ตัวสุดท้ายที่ออกเผยแพร่[5] โดยหลังจากนี้จะไม่มีการสนับสนุนความปลอดภัยหรือการปรับปรุงอื่นใดเพิ่มเติมสำหรับภาษาไพทอนรุ่น 2.0 อีก[6][7]
อินเทอร์พรีเตอร์ของภาษาไพทอนสามารถใช้งานได้บนหลายระบบปฏิบัติการ ชุมชนนักพัฒนาโปรแกรมของไพทอนร่วมกันดูแลโครงการซีไพทอนโดยมีมูลนิธิซอฟต์แวร์ไพทอนซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ทำหน้าที่ดูแลและจัดการทรัพยากรสำหรับการพัฒนาไพทอนและซีไพทอน
คุณสมบัติและปรัชญาการออกแบบ
[แก้]ผู้ใช้ภาษาไพทอนสามารถเลือกกระบวนทัศน์การเขียนโปรแกรมตามที่ตนเองถนัดได้ โดยรองรับการเขียนโปรแกรมเชิงโครงสร้างและการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงรองรับการเขียนโปรแกรมเชิงฟังก์ชัน (ทั้งในรูปแบบของการเขียนโปรแกรมเชิงลักษณะ และการเขียนโปรแกรมเชิงเมตาออบเจกต์) ส่วนขยายของไพทอนทำให้สามารถเขียนโปรแกรมด้วยกระบวนทัศน์อื่น เช่นการเขียนโปรแกรมเชิงตรรกะ
ไพทอนเก็บข้อมูลแบบไดนามิก (dynamic type) และใช้ขั้นตอนวิธีการนับการอ้างอิง (Reference counting) ประกอบรวมกับตัวเก็บขยะ (garbage collector) เพื่อจัดการหน่วยความจำ
ไพทอนมาพร้อมเครื่องมือสำหรับการเขียนโปรแกรมเชิงฟังก์ชันแบบที่พบในภาษาลิสป์ นอกจากนี้ไพทอนมีเครื่องมืออย่างเช่นฟังก์ชัน filter
map
และ reduce
, เครื่องมือการสร้างลิสต์ (list comprehension), แถวลำดับแบบจับคู่ (ในชื่อของ Dictionary), เซต และเครื่องมือสร้างการวนซ้ำ (generator)
แนวคิดและหลักการของไพทอนถูกสรุปในเอกสารชื่อว่า Zen of Python ซึ่งระบุหลักการของภาษาไว้เช่น
- สวยงามดีกว่าน่าเกลียด (Beautiful is better than ugly.)
- ชัดแจ้งดีกว่าซ่อนเร้น (Explicit is better than implicit.)
- เรียบง่ายดีกว่าซับซ้อน (Simple is better than complex.)
- ซับซ้อนดีกว่ายุ่งเหยิง (Complex is better than complicated.)
- ต้องใส่ใจการอ่านออกได้ง่าย (Readability counts.)
ไพทอนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีคุณสมบัติและความสามารถในการทำงานทุกอย่าง แต่ไพทอนถูกออกแบบมาให้สามารถถูกต่อยอดได้ง่าย การออกแบบในลักษณะนี้ทำให้ตัวของภาษาไพทอนได้รับความนิยมเนื่องด้วยความสามารถในการเพิ่มส่วนต่อขยายหรือชุดคุณสมบัติลงไปในแอปพลิเคชันที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ การออกแบบในลักษณะนี้มาจากวิสัยทัศน์ของฟัน โรสซึมที่ต้องการเห็นการออกแบบภาษาโปรแกรมที่มีระบบแกนกลางขนาดเล็ก แต่มาพร้อมไลบรารีชุดคำสั่งขนาดใหญ่ โดยเป้าหมายการออกแบบลักษณะนี้มาจากความไม่สะดวกในการใช้ภาษา ABC ที่ฟัน โรสซึมเคยเจอมาก่อนหน้านี้
โครงสร้างทางวากยสัมพันธ์ (syntax) ของภาษาไพทอนมุ่งเน้นความเรียบง่ายและไม่ยุ่งเหยิง ในขณะเดียวกันยังคงให้อิสระกับนักพัฒนาโปรแกรมในการเลือกวิธีการเขียนโปรแกรมได้เอง ปรัชญาการออกแบบนี้ของไพทอนอยู่บนความเชื่อที่ว่า "ควรจะมีทางเดียว—และทางเดียวเท่านั้น—ในการทำอะไรสักอย่าง" ("there should be one—and preferably only one—obvious way to do it") ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดการออกแบบของภาษาเพิร์ลที่เชื่อว่า "เราควรทำอะไรได้มากกว่าหนึ่งวิธี" ("There's more than one way to do it") หากจะกล่าวให้ละเอียด อะเล็กซ์ มาร์เตลลี ผู้เขียนตำราภาษาไพทอน และสมาชิกของมูลนิธิซอฟต์แวร์ไพทอน กล่าวว่า "ในวัฒนธรรมของไพทอน การอธิบายว่า[วิธีการเขียนโปรแกรม]บางอย่างนั้นฉลาดมากไม่ถือเป็นคำชม"
นักพัฒนาโปรแกรมที่ใช้ภาษาไพทอนมักพยายามหลีกเลี่ยงการปรับปรุงประสิทธิภาพก่อนถึงเวลาอันควร (premature optimisation) และมักปฏิเสธการรวมโค้ดของโครงการ CPython ที่ต้องแลกประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยกับความอ่านยากของโค้ด โดยเมื่อต้องเขียนชุดคำสั่งที่เวลาประมวลผลเป็นเรื่องสำคัญ นักพัฒนาโปรแกรมไพทอนจะนิยมเขียนส่วยขยายของโปรแกรมนั้นด้วยภาษา C แยกออกมา หรือใช้ PyPy ซึ่งเป็นตัวแปลภาษาแบบในเวลา (Just-in-time compiler) สำหรับภาษาไพทอน นอกจากนี้นักพัฒนายังมีตัวเลือกอื่นเช่นการใช้ไซทอนซึ่งเป็นตัวแปลรหัสคำสั่งจากภาษาไพทอนไปเป็นภาษาซี
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของภาษาไพทอนคือความสนุกในการใช้งาน ชื่อของภาษาโปรแกรมมิงไพทอนนั้นมาจากชื่อของกลุ่มนักแสดงตลก Monty Python จากประเทศอังกฤษ ความมุ่งมั่นในการทำให้ภาษาไพทอนนั้นสนุกต่อการใช้นั้นพบเห็นได้เพิ่มเติมจากตัวอย่างของชุดคำสั่งในภาษาไพทอนบนเว็บไซต์ของโครงการไพทอนเอง ซึ่งเลือกใช้คำอย่างเช่น "spam and eggs" (เพื่อล้อกับตอนหนึ่งของรายการตลกจาก Monty Python) แทนที่จะเลือกใช้คำทั่วไปอย่าง foo และ bar ตามตัวอย่างภาษาโปรแกรมมิงอื่น
ชุมชนไพทอนมักนิยมใช้วลี "มีความเป็นไพทอน" (Pythonic) เพื่อกล่าวถึงรูปแบบของชุดคำสั่งของไพทอนที่มีความสะอาดสะอ้านและถูกเขียนขึ้นในลักษณะที่สอดคล้องกับปรัชญาการออกแบบดังกล่าว กล่าวคือมีความอ่านง่ายและแสดงถึงความรู้ในการเขียนชุดคำสั่งภาษาไพทอนได้เป็นอย่างดี ในทางตรงกันข้าม ชุดคำสั่งที่ไม่สามารถอ่านได้โดยง่าย (กล่าวคือชุดคำสั่งที่เหมือนการแปลงชุดคำสั่งจากภาษาโปรแกรมอื่นมาเป็นไพทอนแบบบรรทัดต่อบรรทัด) มักจะถูกเรียกว่าชุดคำสั่งที่ "ไม่มีความเป็นไพทอน" (Unpythonic)
ผู้ใช้ ผู้หลงใหล หรือผู้สันทัดภาษาไพทอนมักได้รับการขนานนามว่าเป็น "ไพธอนิสตา" (Pythonista)
จุดเด่นของภาษาไพทอน
[แก้]ความเป็นภาษาสคริปต์
[แก้]เนื่องจากไพทอนเป็นภาษาสคริปต์ ทำให้ใช้เวลาในการเขียนและคอมไพล์ไม่มาก ทำให้เหมาะกับงานด้านการดูแลระบบ (System administration) เป็นอย่างยิ่ง มีการสนับสนุนภาษาไพทอนโดยเป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการยูนิกซ์, ลินุกซ์ และสามารถติดตั้งให้ทำงานเป็นภาษาสคริปต์ของวินโดวส์ ผ่านระบบ Windows Script Host ได้อีกด้วย
ไวยากรณ์ที่อ่านง่าย
[แก้]ไวยากรณ์ของไพทอนได้กำจัดการใช้สัญลักษณ์ที่ใช้ในการแบ่งบล็อกของโปรแกรม และใช้การย่อหน้าแทน ทำให้สามารถอ่านโปรแกรมที่เขียนได้ง่าย นอกจากนั้นยังมีการสนับสนุนการเขียน docstring ซึ่งเป็นข้อความสั้น ๆ ที่ใช้อธิบายการทำงานของฟังก์ชัน, คลาส และโมดูลอีกด้วย
ความเป็นภาษากาว
[แก้]ไพทอนเป็นภาษากาว (Glue Language) ได้อย่างดีเนื่องจากสามารถเรียกใช้ภาษาโปรแกรมอื่น ๆ ได้หลายภาษา ทำให้เหมาะที่จะใช้เขียนเพื่อประสานงานโปรแกรมที่เขียนในภาษาต่างกันได้
ตัวอย่างภาษาโปรแกรมไพทอน
[แก้]ตัวอย่างด้านล่างเป็นตัวอย่างสำหรับโปรแกรมซึ่งเขียนด้วยภาษาไพทอน 3 ซึ่งมีโครงสร้างทางวากยสัมพันธ์ต่างจากไพทอน 2
โปรแกรมสวัสดีชาวโลก
[แก้]print('Hello, world!')
#หรือ
สวัดดีชาวโลก
โปรแกรมสำหรับการคำนวณเลขแฟกทอเรียลของจำนวนเต็มบวกใด ๆ
[แก้]# คำสั่งในบรรทัดด้านล่างรับเข้าตัวเลข ก่อนแปลงเป็นจำนวนเต็มบวก
# ชุดคำสั่ง `int()` ในไพทอนจะตัดทศนิยมทิ้งโดยอัตโนมัติ
n = int(input('กรุณาป้อนข้อมูลรับเข้าตัวเลขใด ๆ เพื่อคำนวณค่าแฟกทอเรียล: '))
# หากตัวเลขมีค่าน้อยกว่า 0 ให้ทำการยกแสดงข้อผิดพลาด (error raising)
# โดยให้แสดงข้อผิดพลาดแบบ `ValueError` ขึ้นมา
if n < 0:
raise ValueError('คุณจำเป็นต้องป้อนจำนวนเต็มบวก')
# ประกาศค่าตั้งต้นของแฟกทอเรียล
fact = 1
# วนซ้ำสำหรับค่า i ตั้งแต่ 2 ถึง (n+1)
for i in range(2, n + 1):
# เทียบเท่ากับ fact = fact * i
fact *= i
# แสดงผลคำตอบ
print(fact)
ไพทอนในแพลตฟอร์มต่าง ๆ
[แก้]ผู้เขียนโปรแกรมภาษาไพทอนสามารถเลือกใช้แพลตฟอร์ม
ซีไพทอน
[แก้]ซีไพทอน (CPython) คือแพลตฟอร์มภาษาไพทอนดั้งเดิม โปรแกรมอินเทอร์พรีเตอร์ถูกเขียนโดยภาษาซี ซึ่งคอมไพล์ใช้ได้บนหลายระบบปฏิบัติการ เช่น วินโดวส์, ยูนิกซ์, ลินุกซ์ การใช้งานสามารถทำได้โดยการติดตั้งโปรแกรมอินเทอร์พรีเตอร์และแพ็คเกจที่จำเป็นต่าง ๆ
ไจธอน
[แก้]ไจทอน (Jython) เป็นแพลตฟอร์มภาษาไพทอนที่ถูกพัฒนาบนแพลตฟอร์มจาวา เพื่อเพิ่มอำนวยความสะดวกในการใช้ความสามารถภาษาสคริปต์ของไพทอนลงในซอฟต์แวร์จาวาอื่น ๆ การใช้งานสามารถทำได้โดยการติดตั้งจาวาและเรียกไลบรารีของไจธอนซึ่งมาในรูปไบนารีเพื่อใช้งาน
ไพทอนดอตเน็ต
[แก้]Python.NET เป็นการพัฒนาภาษาไพทอนให้สามารถทำงานบนดอตเน็ตเฟรมเวิร์กของไมโครซอฟท์ได้ โดยโปรแกรมที่ถูกเขียนจะถูกแปลงเป็น CLR ปัจจุบันมีโครงการที่นำภาษาไพทอนมาใช้บน .NET Framework ของไมโครซอฟท์แล้วคือโครงการ IronPython
ไลบรารีในไพทอน
[แก้]การเขียนโปรแกรมในภาษาไพทอนโดยใช้ไลบรารีต่าง ๆ เป็นการลดภาระของโปรแกรมเมอร์ได้เป็นอย่างดี ทำให้โปรแกรมเมอร์ไม่ต้องเสียเวลากับการเขียนคำสั่งที่ซ้ำ ๆ เช่นการแสดงผลข้อมูลออกสู่หน้าจอ หรือการรับค่าต่าง ๆ
ไพทอนมีชุดไลบรารีมาตรฐานมาให้ตั้งแต่ติดตั้งอินเตอร์พรีเตอร์ นอกจากนั้นยังมีผู้พัฒนาจากทั่วโลกดำเนินการพัฒนาไลบรารีซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ โดยจะเผยแพร่ในรูปแบบของแพ็คเกจต่าง ๆ ซึ่งสามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้อีกด้วย
แพ็คเกจเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
[แก้]- wxPython: อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเขียนส่วนติดต่อกับผู้ใช้แบบกราฟิกส์ ซึ่งสามารถใช้ได้หลายระบบปฏิบัติการ
- SciPy: รวมโครงสร้างข้อมูลและการคำนวณต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการเขียนโปรแกรมคำนวณทางวิทยาศาสตร์
- py2exe: ใช้สำหรับแปลงโปรแกรมที่เขียนในภาษาไพทอนให้อยู่ในรูปแบบของ ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์
- PyWin32: ใช้สำหรับติดต่อเรียกใช้บริการบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์และคลาสใน Microsoft Foundation Classes: MFC
- MySQLdb: ใช้สำหรับติดต่อกับระบบฐานข้อมูล MySQL
- psycopg2: ใช้สำหรับติดต่อกับระบบฐานข้อมูล โพสต์เกรสคิวเอล
- PyGTK: GTK+ สำหรับ Python ใช้สำหรับสร้างส่วนติดต่อกับผู้ใช้แบบกราฟิกส์ ซึ่งสามารถใช้ได้หลายระบบปฏิบัติการ
- PyQt: คิวต์ (วิจิททูลคิทสำหรับพัฒนาส่วนต่อประสานกราฟิกกับผู้ใช้ (GUI)) สำหรับ Python ใช้สำหรับสร้างส่วนติดต่อกับผู้ใช้แบบกราฟิกส์ ซึ่งสามารถใช้ได้หลายระบบปฏิบัติการ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Why is Python a dynamic language and also a strongly typed language - Python Wiki". wiki.python.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 March 2021. สืบค้นเมื่อ 2021-01-27.
- ↑ "PEP 483 -- The Theory of Type Hints". Python.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 June 2020. สืบค้นเมื่อ 14 June 2018.
- ↑ "Starlark Language". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2020. สืบค้นเมื่อ 25 May 2019.
- ↑ https://web.archive.org/web/20120623165941/http://cutter.rexx.com/~dkuhlman/python_book_01.html
- ↑ Peterson, Benjamin (2020-04-20). "Python Insider: Python 2.7.18, the last release of Python 2". Python Insider. สืบค้นเมื่อ 2020-04-27.
- ↑ "Sunsetting Python 2". Python.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-09-22.
- ↑ "PEP 373 -- Python 2.7 Release Schedule". Python.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-09-22.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บหลักของไพทอน (อังกฤษ)