ข้ามไปเนื้อหา

ภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค
เกิดภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค
7 ตุลาคม พ.ศ. 2518 (49 ปี)
สถิติเหรียญโอลิมปิก
มวยสากลสมัครเล่น
เอเชียนเกมส์
เหรียญทอง - ชนะเลิศ เอเชียนเกมส์ 1998 เวลเตอร์เวท

ภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค ชื่อเล่น เอ็ม อดีตนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย เคยเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมา 2 สมัย และเป็นอดีตนักมวยสากลอาชีพ

ประวัติ

[แก้]

ภาคภูมิเกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยเป็นลูกชายคนโตของนายยุทธภูมิ แจ้งโพธิ์นาค เจ้าของค่ายมวย "พันธุ์ยุทธภูมิ" ฝึกมวยตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากทวี อัมพรมหา หรือ ขาวผ่อง สิทธิชูชัย นักมวยเหรียญเงินโอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิส ปี พ.ศ. 2527 ขึ้นชกครั้งแรกได้เงินค่าตัว 100 บาท เมื่อเติบใหญ่ขึ้นขึ้นชกเป็นประจำที่เวทีมวยสำโรง ในชื่อ "เอ็ม 16 บ.ข.ส." เหตุที่ใช้ชื่อเช่นนี้ เนื่องจากมีหมัดชุดที่รัวเป็นชุดเหมือนปืน เอ็ม.16 จนกลายเป็นมวยมีชื่อที่เวทีนั้น และติดทีมชาติในระยะเวลาไม่นาน แต่เมื่อได้ไปแข่งขันโอลิมปิกตามความฝันถึง 2 ครั้ง ติด ๆ กันไม่ประสบความสำเร็จ โดยในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรก ที่แอตแลนตา ซึ่งภาคภูมิติดทีมชาติเข้ามาเป็นคนสุดท้าย ถึงแม้จะเป็นรุ่นใหญ่ที่สุด แต่กลับเป็นนักมวยที่มีประสบการณ์น้อยที่สุด และทำการขึ้นชกก่อนเป็นคนแรกและก็ตกรอบแรกไปก่อนเป็นคนแรกอีกเช่นกัน ต่อมาในโอลิมปิกที่ซิดนีย์ ภาคภูมิในรอบแรกสามารถเอาชนะมาได้ แต่ก็ตกรอบสอง[1] จึงได้แขวนนวมยุติการชกในแบบสมัครเล่นไป หลังจากนั้นก็มีข่าวว่าจะหันไปเอาทีทางด้านเทควันโดแทน แต่ก็ไม่ได้ทำ จากนั้นจึงได้เบนเข็มมาชกสากลอาชีพอยู่ไม่กี่ครั้ง แม้จะประสบความสำเร็จได้แชมป์สมาคมมวยแห่งทวีปเอเชีย (พีเอบีเอ) แต่ก็เลิกไป

ภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค ถือว่าเป็นนักมวยที่มีหน้าตาดี จึงมีแฟน ๆ กีฬาชื่นชอบอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ วิทยาลัยทองสุข และปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จากคณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นิสัยส่วนตัวชอบการเล่นคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันมีกิจการส่วนตัวคือ ร้านขายสัตว์เลี้ยง ย่านสวนหลวง ร.9 และยังเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีอีกด้วย[2] และยังเป็นผู้ฝึกสอนมวยสากลสมัครเล่นให้กับนักกีฬาของมหาวิทยาลัยด้วย[3]

ชื่อนักมวยอื่นๆ

[แก้]

เกียรติประวัติ

[แก้]
  • เหรียญทองชิงแชมป์ประเทศไทย ปี 2537
  • เหรียญทองกีฬากองทัพไทย ปี 2540,2541
  • เหรียญทองการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ปี พ.ศ. 2540,2541,2542 พร้อมรางวัลนักชกยอดเยี่ยม ครั้งที่ 22 และ 23
  • ติดทีมชาติแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2539) (ตกรอบแรก)
  • เหรียญทองเพรสซิเด็นท์คัพ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ปี 2540
  • เหรียญทองแมร์คัพ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ปี 2541
  • เหรียญทองกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ ปี 2541
  • เหรียญทองชิงแชมป์เอเซีย ที่ประเทศอุซเบกิสถาน ปี 2542
  • เหรียญเงินมวยคาร์ดิ้งคัพ ที่ประเทศคิวบา ปี 2543
  • ติดทีมชาติแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย (พ.ศ. 2543) (ตกรอบสอง)
  • แชมป์ PABA รุ่นเวลเตอร์เวท (2547 - 2549)
  • เคยชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่สำเร็จ
    • ชิงแชมป์ IBF แพนแปซิฟิครุ่นมิดเดิลเวทเมื่อ 4 พ.ค. 2550 แพ้คะแนน ดาเนียล เกียเล (ออส) ที่ออสเตรเลีย

อ้างอิง

[แก้]
  1. ภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค นักชกไทยพ่ายนักชกยูเครนในรุ่นเวลเตอร์เวท 67 กก.(รอบสอง)
  2. สปอร์ตสแควร์จากสนุกดอตคอม
  3. "วันนี้ของ'ภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-02. สืบค้นเมื่อ 2015-01-19.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]