ฟ้อนไทญ้อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฟ้อนไทญ้อ เป็นศิลปะการแสดงและการละเล่นอย่างหนึ่งของชาวไทญ้อแถบอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งชนเผ่าไทญ้อเป็นชนเผ่าที่อพยพมาจากเมืองหงสา แขวงไชยบุรี ของประเทศลาวเข้ามาอยู่ในแถบจังหวัดสกลนครและนครพนม การฟ้อนไทญ้อมักจะพบในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนและเทศกาลสำคัญต่างๆ ในเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทญ้อ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม จะมีการแห่ขบวนจากคุ้มเหนือลงมายังคุ้มใต้ตามลำดับเพื่อนำดอกไม้บูชาถวายแก่พระธาตุท่าอุเทน ตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ จนถึงวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งเมื่อเสร็จพิธีแห่ขบวน จะมีการฟ้อนรำระหว่างชายหนุ่มและหญิงสาว โดยมีการหยอกล้อ การเกี้ยวพาราสี ในท่าฟ้อนที่สวยงามตามแบบฉบับของชาวไทญ้อ

การแต่งกาย[แก้]

  • ชาย  สวมเสื้อคอพวงมาลัยสีเขียวสด ใช้สไบไหมสีน้ำเงินพับครึ่งกลาง พาดไหล่ ซ้ายและขวา ปล่อยชายสองข้างไปด้านหลังให้ชายเท่ากัน นุ่งผ้าโจงกระเบนสีน้ำเงินเข้ม ใช้สไบไหมสีแดงคาดเอว ปล่อยชายข้างซ้ายด้านหน้า เครื่องประดับสร้อยเงิน ห้อยพระ ใบหูทัดดอก ดาวเรืองด้านซ้าย
  • หญิง  สวมเสื้อแขนกระบอกสีชมพู (สีบานเย็น) คอกลมขลิบดำ หรือน้ำเงินเข้ม นุ่งผ้าถุงไหมสีน้ำเงินมีเชิง  (ตีนจก)  เข็มขัดลายชิดคาดเอว ใช้สไบไหมสีน้ำเงินพาดไหล่ด้านซ้ายแบบเฉียง ปล่อยชายยาวทั้งด้านหน้าและด้านหลังให้ชายเท่ากัน เครื่องประดับสร้อยคอ ตุ้มหู สร้อยข้อมือเครื่องเงิน ผมเกล้ามวยประดับดอกไม้สด หรือดอกไม้ประดิษฐ์