พระเยซูในโรงช่างของพ่อ (มิเล)
พระเยซูในโรงช่างของพ่อ | |
---|---|
ศิลปิน | จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล |
ปี | ค.ศ. 1850 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | หอศิลป์เททบริเตน, ลอนดอน |
พระเยซูในโรงช่างของพ่อ (อังกฤษ: Christ in the House of His Parents) เป็นจิตรกรรมที่เขียนโดยจอห์น เอเวอเรตต์ มิเล จิตรกรสมัยพรีราฟาเอลไลท์คนสำคัญชาวอังกฤษ ที่เขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1850
เนื้อหาของภาพเป็นฉากของครอบครัวพระเยซูภายในโรงทำงานของนักบุญโจเซฟผู้ที่เป็นช่างไม้ เมื่อภาพนี้ตั้งแสดงเป็นครั้งแรกก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างใหญ่โตและได้รับการวิจารณ์ในทางที่ไม่ดีนักโดยเฉพาะจากชาลส์ ดิกคินส์นักเขียนมีชื่อที่สุดของอังกฤษในขณะนั้น แต่ความขัดแย้งก็ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้กลุ่มพรีราฟาเอลไลท์กลายมาเป็นที่รู้จักมากขึ้นและเป็นจุดของการโต้เถียงกันในหัวข้อการเขียนภาพตามลัทธิสัจนิยม
หัวเรื่อง
[แก้]ภาพเขียนเป็นภาพพระเยซูเมื่อยังทรงเป็นเด็กขณะที่กำลังช่วยนักบุญโจเซฟผู้เป็นพ่อในโรงช่างไม้ นักบุญโจเซฟกำลังประกอบประตูที่ตั้งอยู่บนโต๊ะทำงาน พระหัตถ์ของพระเยซูถูกตำด้วยตะปูที่โผล่อยู่บนประตูที่เป็นนัยะถึงแผลศักดิ์สิทธิ์ (stigmata) ที่จะทรงได้รับต่อมาเมื่อทรงถูกตรึงกางเขน เมื่อนักบุญแอนน์เอาตะปูที่ตำออกแล้ว พระแม่มารีก็ปลอบประโลมพระเยซูเมื่อนักบุญโจเซฟพยายามดูแผล ด้านขวานักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ถือชามน้ำเพื่อที่จะมาชำระแผล อันเป็นสัญญาณของการที่จะมาทำพิธีศีลจุ่มให้แก่พระเยซูต่อมา ผู้ช่วยของโจเซฟเมียงมองอยู่ทางด้านซ้ายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอัครสาวกสิบสององค์ที่จะมีในอนาคตที่เป็นผู้สังเกตเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของพระองค์ ฉากหลังมีสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องหมายสำคัญทางคริสต์ศาสนวิทยาเช่น บันไดซึ่งหมายถึงบันไดเจค็อปที่พิงอยู่กับผนังทางด้านหลังโดยมีนกพิราบ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระวิญญาณบริสุทธิ์เกาะอยู่บนบันได อุปกรณ์อื่นๆ หมายถึงพระตรีเอกานุภาพ มิเลอาจจะใช้ภาพพิมพ์ “ความซึมเศร้าหมายเลข 1” (Melancholia I) โดย อัลเบรชท์ ดือเรอร์ และงานของกลุ่มควัตโตรเช็นโตของอิตาลีของคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นแรงบันดาลใจในการจินตนาการภาพนี้ ฝูงแกะใกลไปในฉากหลังเป็นสัญลักษณ์ของฝูงชนที่จะมานับถือคริสต์ศาสนาในอนาคต[1]
มีผู้เสนอว่ามิเลอาจจะได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนภาพนี้จากภาพ “พระมหาไถ่กับนักบุญโจเซฟและพระแม่มารีที่นาซาเร็ธ” (Our Saviour Subject to His Parents at Nazareth) โดยจอห์น โรเจอร์ส เฮอร์เบิร์ต (John Rogers Herbert)[2]
ปฏิกิริยา
[แก้]เมื่อตั้งแสดงเป็นครั้งแรกภาพเขียนก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างขนานใหญ่เพราะเป็นครั้งแรกที่จิตรกรแสดงภาพพระเยซูในบรรยากาศที่เป็นจริงในโรงช่างไม้ที่มีทั้งขี้เลื่อยและสิ่งสกปรกอื่นๆ ตามธรรมชาติของโรงไม้ ซึ่งแตกต่างไปจากการวาดภาพเกี่ยวกับพระเยูซูและครอบครัวที่เคยทำกันมาแต่เดิม ที่เป็นภาพในอุดมคติท่ามกลางสิ่งแวดล้อมแบบโรมัน ยุคกลาง หรือในความเลิศเลอของยุคบาโรกต่อมา ชาลส์ ดิกกินส์กล่าวหามิเลว่าแสดงภาพพระแม่มารีราวกับเป็นผู้หญิงติดเหล้าที่
“ | ...ท่าทางน่าเกลียดที่จนน่าจะ ... ยืนอยู่กับผู้หญิงชั้นต่ำหน้าคาบาเรต์ในฝรั่งเศส หรือหน้าร้านขายเหล้าจินชั้นต่ำ ๆ ในอังกฤษได้ | ” |
นอกจากนั้นนักวิจารณ์ก็เป็นปฏิปักษ์ต่อการแสดงภาพพจน์ของพระเยซูเช่นที่มิเลทำ เช่นผู้วิจารณ์คนหนึ่งถึงกับกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดที่แสดงภาพพระองค์เป็น “เด็กยิวผมแดง”[3]. Dickens described him as a "wry-necked boy in a nightgown who seems to have received a poke playing in an adjacent gutter."[4] (ภาพพจน์ส่วนใหญ่ของพระเยซูที่เขียนกันมาจะมีผมทองหรือดำ และการมีผมแดงก็เป็นลักษณะสรุป (Stereotype) ทางร่างกายอย่างหนึ่งของชาวยิว) นักวิจารณ์ผู้อื่นติว่าตัวแบบดูเหมือนมีสัญญาณว่าจะมีอาการเหมือนคนอดอาหารและมีเชื้อโรคที่เกิดจากการอยู่อาศัยในสลัม เพราะความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จึงทรงขอให้มิเลนำภาพเขียนมาให้ทอดพระเนตรยังพระราชวังบัคคิงแฮมเพื่อจะได้ทรงพิจารณาเป็นการส่วนพระองค์[5]
ที่ราชสถาบันศิลปะภาพเขียนได้ตั้งแสดงคู่กับงานของศิลปินร่วมกลุ่มวิลเลียม โฮลแมน ฮันท์ซึ่งเป็นงานที่เป็นฉากจากประวัติศาสตร์คริสเตียนยุคแรกของบริเตน ที่เป็นภาพของครอบครัวที่กำลังช่วยผู้บาดเจ็บ ในภาพที่ชื่อว่า “ครอบครัวชาวอังกฤษผู้เปลี่ยนศาสนาปกป้องผู้เผยแพร่ศาสนาคริสเตียนจากการถูกเข่นฆ่าโดยชนดรูอิด” (A Converted British Family sheltering a Christian Missionary from the persecution of the Druids)
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มพรีราฟาเอลไลท์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางขึ้นและก่อให้เกิดการโต้แย้งในหัวข้ออื่นๆ เช่นความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นสมัยใหม่, ความเป็นสัจจะนิยม และความเป็นยุคกลาง (medievalism) ในการสร้างงานศิลปะ นักวิจารณ์จอห์น รัสคินสนับสนุนมิเลในจดหมายที่ลงหนังสือพิมพ์และในปาฐกถา “ลัทธิพรีราฟาเอลไลท์”[6] แม้ว่ามิเลเองจะไม่ชอบภาพเขียน แต่การวาดภาพที่แสดงความเป็นจริงก็เริ่มขยายวงกว้างขึ้น โดยการใช้ฉากจากพระคัมภีร์ที่เสริมด้วยการสังเกตรายละเอียดรอบข้าง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ George P. Landow, Typology in the Visual Arts, II. Millais's Christ in the House of His Parents
- ↑ Herbert's painting
- ↑ ""The Royal Academy Exhibition." Builder 1 Jun. 1850, 255-256". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-09. สืบค้นเมื่อ 2009-12-30.
- ↑ "Dickens, Charles. "Old Lamps for New Ones." Household Words 12 (15 Jun. 1850), 12-14". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-28. สืบค้นเมื่อ 2009-12-30.
- ↑ "Tate Gallery, Teacher's pack" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-07-20. สืบค้นเมื่อ 2009-12-30.
- ↑ Recreation of Ruskin talk on Pre-Raphaelitism, 1851
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- smARThistory: พระเยซูในโรงช่างของพ่อ เก็บถาวร 2007-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน