โอฟีเลีย (มิเล)
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
โอฟีเลีย | |
---|---|
ศิลปิน | จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล |
ปี | ค.ศ. 1851 - ค.ศ. 1852 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | หอศิลป์เททบริเตน, ลอนดอน |
โอฟีเลีย (อังกฤษ: Ophelia) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยจอห์น เอเวอเรตต์ มิเล จิตรกรสมัยกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลชาวอังกฤษ ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์เททบริเตนใน กรุงลอนดอนในอังกฤษ
จอห์น เอเวอเรตต์ มิเลเขียนภาพ “โอฟีเลีย” ระหว่างปี ค.ศ. 1851 ถึงปี ค.ศ. 1852 เป็นภาพของตัวละครโอฟีเลียในบทละคร “แฮมเลต” โดยวิลเลียม เช็คสเปียร์ ขณะที่ร้องเพลงก่อนที่จะจมน้ำตายในลำแม่น้ำในเดนมาร์ก
“โอฟีเลีย” เป็นภาพเขียนที่มีอิทธิพลต่อศิลปะแขนงต่าง ๆ นอกไปจากในสาขาจิตรกรรมเองเช่นในศิลปะการถ่ายภาพ หรือการสร้างภาพยนตร์และอื่น ๆ เมื่อแสดงเป็นครั้งแรกที่ราชสถาบันศิลปะภาพเขียนไม่ได้รับการต้อนรับเท่าใดนัก แต่ต่อมาได้รับการชื่นชมมากขึ้นในความงามของภาพและรายละเอียดภูมิทัศน์ธรรมชาติของภาพ มูลค่าของภาพเขียนตีราคากันว่าประมาณ 30 ล้านปอนด์
หัวเรื่อง
[แก้]ภาพเขียนเป็นภาพของตัวละครโอฟีเลียร้องเพลงขณะที่ลอยละล่องมาตามสายน้ำก่อนที่จะจมน้ำตายในที่สุด ภาพนี้เขียนจากคำบรรยายภาพพจน์ในองค์ที่ 4 ฉากที่ 7 ของบทละครของพระราชินีเกอทรูด:
- There is a willow grows aslant a brook,
- That shows his hoar leaves in the glassy stream;
- There with fantastic garlands did she come,
- Of crow-flowers, nettles, daisies, and long purples,
- That liberal shepherds give a grosser name,
- But our cold maids do dead men's fingers call them:
- There, on the pendent boughs her coronet weeds
- Clambering to hang, an envious sliver broke,
- When down her weedy trophies and herself
- Fell in the weeping brook. Her clothes spread wide,
- And, mermaid-like, awhile they bore her up;
- Which time she chanted snatches of old tunes,
- As one incapable of her own distress,
- Or like a creature native and indu'd
- Unto that element; but long it could not be
- Till that her garments, heavy with their drink,
- Pull'd the poor wretch from her melodious lay
- To muddy death.[1]
ท่านอนของโอฟีเลีย—หงายแขนและมือที่กางออกไปเล็กน้อยและมองลอยขึ้นไป—เป็นท่าเดียวกับภาพพจน์ของธรรมเนียมการเขียนภาพนักบุญหรือผู้พลีชีพเพื่อศาสนา แต่ในขณะเดียวกันก็ตีความหมายได้ว่าเป็นภาพที่ทำให้ผู้ชมตื่นอารมณ์
ภาพเขียนมีชื่อในด้านการวาดรายละเอียดของพืชพันธุ์ริมแม่น้ำและบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำที่เน้นวัฏจักรของการหมุนเวียนของชีวิตที่เริ่มด้วยการเจริญเติบโตไปจนถึงการเสื่อมโทรม แม้ว่าภาพตั้งใจจะให้เป็นเดนมาร์กแต่ภูมิทัศน์ของภาพกลายมาเป็นภาพพจน์ของภูมิทัศน์แบบอังกฤษ ภาพ “โอฟีเลีย” เขียนริมฝั่งแม่น้ำฮอกสมิลล์ในเซอร์รีย์ไม่ไกลจากโทลเวิร์ธในบริเวณนครลอนดอนและปริมณฑล บาร์บารา เวบบ์ผู้พำนักอยู่ที่โอลด์มาลเด็นไม่ไกลจากที่เขียนภาพเท่าใดนัก พยายามเสาะหาจุดที่มิเลใช้ในการวาดภาพและจากการค้นคว้าเชื่อว่าจุดที่วาดอยู่ที่ซิกซ์เอเคอร์เม็ดโดว์ริมถนนเชิร์ชในโอลด์มาลเด็น[2] ที่ไม่ไกลจากที่ที่วิลเลียม โฮลแมน ฮันท์เพื่อนร่วมงานที่สนิทสนมของมิเลขณะนั้นกำลังทำงานเขียนภาพ “คนรับจ้างเลี้ยงแกะ” (The Hireling Shepherd)[3]
ดอกไม้ที่ลอยในน้ำเลือกจากดอกไม้ในคำบรรยายมาลัยของโอฟิเลียในบทละคร แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นภาษาดอกไม้ที่แสดงความหมายที่ใช้กันในสมัยวิคตอเรีย เช่นดอกฝิ่นที่เด่นแดงในภาพ—มิได้กล่าวถึงในคำบรรยายในบทละคร—เป็นสัญลักษณ์ของการนอนหลับและความตาย[4]
สิ่งหนึ่งที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในภาพคือภาพหัวกะโหลกในพงไม้ทางฝั่งแม่น้ำทางด้านขวา แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งว่ามิเลตั้งใจจะเขียนหัวกะโหลกในภาพ[5] แต่ลักษณะหัวกะโหลกที่เกิดจากการสร้างของธรรมชาติใช้โดยฮันท์ในภาพ “คนรับจ้างเลี้ยงแกะ” เมื่อคนเลี้ยงแกะที่มีตัวม็อธ[1] (Death's-head Hawkmoth) ที่ตายแล้วอยู่ในอุ้งมือ
ในการเขียนขั้นแรกมิเลเขียนภาพตัวหนูน้ำ[2] (Water Vole)—ที่ผู้ช่วยไปจับมาจากแม่น้ำฮอกสมิลล์—มาให้พุ้ยน้ำข้าง ๆ โอฟีเลีย ในเดือนธ้นวาคม ค.ศ. 1851 มิเลแสดงภาพเขียนที่ยังไม่เสร็จให้ญาติของฮันท์ดู และบันทึกในบันทึกประจำวันว่า “ลุงและป้าของฮันท์มา, ทั้งสองคนเข้าใจทุกอย่างในภาพเป็นอย่างดี ยกเว้นตัวหนูน้ำ ฝ่ายชายเมื่อให้ทายว่าเป็นตัวอะไร ก็รีบประกาศว่าเป็นกระต่าย แต่จากสีหน้าก็ทราบว่าเป็นคำตอบที่ไม่ถูก จากนั้นก็คิดว่าอาจจะได้ยินคำทายว่าเป็นหมาหรือแมว” มิเลจึงลบตัวหนูน้ำออกจากภาพแต่ภาพร่างตัวหนูน้ำยังคงอยู่ทางมุมบนของผ้าใบที่ซ่อนอยู่ในกรอบ[3]
ขั้นตอนการเขียน
[แก้]มิเลแบ่งการเขียนภาพ “โอฟีเลีย” เป็นสองขั้น: ขั้นแรกเขียนภูมิทัศน์และขั้นที่สองเขียนตัวโอฟีเลีย เมื่อพบฉากที่ต้องการแล้วมิเลก็นั่งเขียนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำฮอกสมิลล์—ไม่ไกลจากที่พักของเพื่อนร่วมกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล วิลเลียม โฮลแมน ฮันท์ เพียงไม่เท่าไหร่—11 ชั่วโมงต่อวัน, หกวันต่อหนึ่งสัปดาห์ เป็นเวลากว่าห้าเดือนในปี ค.ศ. 1851
การใช้เวลามากเช่นนี้ทำให้สามารถเขียนธรรมชาติได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่ระหว่างการเขียนมิเลก็ประสบปัญหาต่าง ๆ ที่มิเลบรรยายไปในจดหมายถึงเพื่อนว่า “แมงวันที่เซอร์รีย์นี่ตัวอ้วนกว่าที่บ้านและยิ่งกว่านั้นมันยังมีความสามารถในการเจาะทะลุผิวหนัง ตอนนี้ผมก็ยังถูกขู่ด้วยหมายเตือนให้ไปปรากฏต่อหน้าผู้พิพากษาเพราะไปเดินบุกรุกทุ่งนาเหยียบย่ำข้าวที่ชาวนาเขาปลูกเอาไว้ ...และแถมยังดูน่ากลัวว่าอาจจะถูกลมพัดหล่นลงไปในน้ำอีก และรับรองได้เลยว่าการเขียนภาพในบรรยากาศเช่นนั้นร้ายพอกับเป็นการถูกลงโทษที่หนักกว่าการถูกแขวนคอของฆาตกร” เมื่อย่างเข้าปลายฤดูใบไม้ผลิต้นฤดูหนาวในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1851 อากาศก็เริ่มแปรปรวนด้วยลมและหิมะจนมิเลต้องสร้างที่กำบังอากาศที่ทำจากแผงไม้สี่แผงที่นำมาต่อกัน และบุด้วยฟางด้านนอก[7] คล้ายคอกทหารยาม มิเลกล่าวว่ามีความรู้สึกเหมือนโรบินสัน ครูโซ (Robinson Crusoe) เมื่อนั่งเขียนอยู่ในคอก เมื่อฮันท์เห็นเข้าก็มีความประทับใจจนสั่งให้สร้างอีกคอกหนึ่งสำหรับตนเอง[3]
ผู้เป็นแบบโอฟีเลียคือจิตรกรเอลิซาเบธ ซิดดาล (Elizabeth Siddal) ผู้ขณะนั้นมีอายุ 19 ปี มิเลให้เอลิซาเบธแต่งตัวเต็มยศนอนในอ่างอาบน้ำในห้องเขียนภาพในลอนดอน[8] โดยจุดตะเกียงน้ำมันใต้อ่างให้น้ำอุ่นขึ้นเพราะตอนนั้นเข้าหน้าหนาวแล้ว แต่มิเลมักจะตั้งอกตั้งใจเขียนจนลืมและปล่อยให้ตะเกียงดับเสมอ ซึ่งทำให้เอลิซาเบธหนาวจนเป็นหวัด มิเลได้รับใบเสร็จค่ายา £50 จากซิดดาล[3]
การตอบรับภาพ
[แก้]เมื่อภาพ “โอฟีเลีย” ตั้งแสดงเป็นครั้งแรกที่ราชสถาบันศิลปะในกรุงลอนดอนค.ศ. 1852 ก็ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างดีเท่าใดนัก นักวิจารณ์ของ “The Times” กล่าวถึงภาพว่า “คนที่เขียนต้องมีจินตนาการที่ออกจะแปลกที่ให้โอฟีเลียนอนในคูหญ้า ที่ทำให้ความสวยงามของสตรีที่กำลังจะจมน้ำตายสลายไปจนหมด” หนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งกล่าวว่า “โอฟีเลียของมิเลในบ่อ...ทำให้เราคิดถึงหญิงรีดนมที่กำลังสนุก”[3] แม้แต่นักวิจารณ์จอห์น รัสคินผู้ที่ตามปกติแล้วจะสนับสนุนงานเขียนของมิเลก็ยังมีความเห็นว่าแม้ว่าวิธีการเขียนจะเป็นเยี่ยม แต่มีความกังขาในเรื่องที่มิเลใช้ภูมิทัศน์ของเซอร์รีย์และตั้งคำถามว่า “Why the mischief should you not paint pure nature, and not that rascally wirefenced garden-rolled-nursery-maid's paradise?”[9]
ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซาลวาดอร์ ดาลีสรรเสริญภาพนี้ในบทความที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1936 ว่า “จะเป็นไปได้อย่างไรที่ซาลวาดอร์ ดาลีจะไม่ตื่นเต้นไปกับงานเหนือจริงที่หอมหวานของกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลของอังกฤษ จิตรกรกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลเขียนผู้หญิงที่หยาดเยิ้ม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสตรีที่เป็นที่น่าต้องการที่สุดและน่ากลัวที่สุดที่มีอยู่” ในปี ค.ศ. 1906 นักประพันธ์ชาวญี่ปุนนัทซุเมะ โซเซกิ (Natsume Sōseki) เรียกงานเขียนว่า “สิ่งที่พิจารณาว่าคือความสวยงาม” ในนวนิยายเรื่องหนึ่ง; ตั้งแต่นั้นภาพนี้ก็เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นและถูกนำไปตั้งแสดงในญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1998 และอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 2008
ประวัติการเป็นเจ้าของและมูลค่า
[แก้]“โอฟีเลีย” ได้รับการซื้อจากมิเลโดยนักค้าศิลป์เฮนรี ฟาร์เรอร์เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1851 เป็นจำนวน 300 กินนีส์ ฟาร์เรอร์ขายต่อให้ บี.เจ. วินดัสนักสะสมศิลปะกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลผู้ขายในปี ค.ศ. 1862 เป็นจำนวน 748 กินนีส์ ปัจจุบันภาพเขียนเป็นของหอศิลป์เททบริเตนในกรุงลอนดอนซึ่งตีราคาว่ามีมูลค่าอย่างต่ำประมาณ 30 ล้านปอนด์[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Millais Ophelia: Behind the painting". Retrieved on 16 January 2008.
- ↑ Webb, Barbara C.L. (1997). Millais and the Hogsmill River. [England]: B. Webb. ISBN 0953007405 (pbk.).
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่า|isbn=
: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help) For a description of Webb's findings, see Millais and the Hogsmill River, Probus Clubs of Ewell, สืบค้นเมื่อ 2007-10-11. - ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Benjamin Secher (22 September 2007), "Ten things you never knew about โอฟีเลีย: Benjamin Secher reveals the roles of a tin bath, a straw hut and a deformed vole in the birth of Britain's favourite painting", The Daily Telegraph (Review), คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-26, สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
- ↑ "Millais's Ophelia". Tate Gallery Online. Retrieved on 16 January 2007.
- ↑ Tate Gallery: Ophelia symbolism[ลิงก์เสีย]
- ↑ Elkan, Jenny. "Elizabeth Eleanor Siddal". Tate Gallery. Retrieved on 16 January 2007.
- ↑ A hurdle is "a portable panel usually of wattled withes and stakes used especially for enclosing land or livestock": [Definition of "hurdle"], Merriam-Webster's Online Dictionary, สืบค้นเมื่อ 2007-10-11.
- ↑ A blue plaque identifies the building as the place where "The Pre-Raphaelite Brotherhood was founded in 1848".
- ↑ James, William (ed.) "The Order of Release: The Story of John Ruskin, Effie Gray and John Everett มิเล". New York: Charles Scribner's Sons, 1947, p. 176.
- Secher, Benjamin. "Ten things you never knew about Opheliaเก็บถาวร 2011-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". The Daily Telegraph, 22 September 2007. Retrieved on 16 January 2008.