พระเทพโมฬี (ผึ้ง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเทพโมฬี (ผึ้ง)
เกิด4 มีนาคม พ.ศ. 2365
อาชีพกวี
สัญชาติไทย
ช่วงเวลาต้นรัตนโกสินทร์
หัวข้อกวีนิพนธ์
ผลงานที่สำคัญประถมมาลา

พระเทพโมฬี (ผึ้ง) บ้างเขียน พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง) เกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2365 เป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่วัดราชบูรณะ จากคำอธิบายของกรมศิลปากรในหนังสือ ประถมมาลา ที่พระเทพโมฬีแต่ง กล่าวว่า พระเทพโมฬีคงจะเป็น "กวีผู้มีภูมิชั้นสูงและแต่งบทกลอนได้เป็นเยี่ยม"[1]

ประวัติ[แก้]

เดิมมีนามว่า ผึ้ง หรือ พึ่ง มีบิดา คือ พระมหาวิชาธรรม อธิบดีแม่กองสอบไล่หนังสือขอมปริยัติธรรม พระคัมภีร์ พระไตรปิฎก แผนกสอบไล่ฝ่ายในพระราชวังบวรสถานมงคล มารดา ชื่อนางผ่อง เป็น​ธิดาหลวงธรรมรักษา (บุญเกิด) เมื่อเจริญวัย ได้ไปเล่าเรียนอ่านหนังสือไทยและขอมกับพระญาณสมโภช ณ วัดมหาธาตุ ขณะเป็นสามเณรสอบไล่ได้ 5 ประโยค ครั้นอายุครบบวชเป็นพระ สอบไล่ได้อีก 3 ประโยครวมเป็นเปรียญ 8 ประโยค ได้รับพระราชทานนิตยภัตและตาลปัตรเลื่อนตามตำแหน่งยศเปรียญเอก

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระมหาผึ้งเปรียญเอกเป็นที่พระเทพโมฬี พระราชาคณะสามัญวัดราชบูรณะในพระนคร หลังจากที่ได้แต่ง ประถมมาลา ซึ่งเป็นตำราสั่งสอนวิชาหนังสือไทยให้ใช้อย่างถูกต้อง พระเทพโมฬีมีพรสวรรค์เป็นพิเศษในการเทศนา เป็นที่ถูกพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก[2]

ต่อมามีพระอมรโมฬี (สา) วัดบวรนิเวศ อีกรูปหนึ่ง ซึ่งโปรดฯ ฝีปากเทศน์พอ ๆ กัน (ต่อมาพระอมรโมฬี (สา) เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว)) จนเมื่อจะถึงกำหนดมหกรรมสมโภชพระอารามหลวง วัดพระเชตุพน รัชกาลที่ 3 ทรงจัดสรรเครื่องไทยทานสำหรับพระราชทานพระราชาคณะ รูปหนึ่งราคาไม่ต่ำกว่า 10 ชั่ง พระเทพโมฬีคิดจะลาสึกเกิดปมทางใจ ถ้าเทศน์ถวายในหลวง รับไทยทาน 10 ชั่ง แล้วก็ลาสึก เกรงจะมีข้อครหาเอาเงินไทยทานมาทำทุนในเพศฆราวาส จึงรีบเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรลาสึก รัชกาลที่ 3 ทรงพระพิโรธ ตัดพ้อ "เมื่อชีต้นจะสึก ไม่เทศน์ให้โยมฟัง ก็ตามแต่ใจเถิด" แล้วให้พระอมรโมฬี (สา) มาเทศน์แทน

แต่ก็มีปัญหาพระอมรโมฬี (สา) มีปัญหาเดียวกับพระเทพโมฬี (ผึ้ง) เข้าถวายพระพรขอลาสึก เป็นรูปที่สอง รัชกาลที่ 3 ทรงพิโรธเพิ่มเป็นสองเท่า จึงได้นิมนต์ท่านเจ้าถึก พระธรรมวโรดม วัดโพธิ์ มาเทศน์แทน

หลังจากสึกแล้วได้เข้าถวายตัวเป็นข้าในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ ไม่นานถูกฟ้องว่าเมื่อครั้งยังผนวชอยู่ในเพศบรรพชิตนั้น ได้ทำปาราชิกกับเจ้าจอมมารดาม่วงแจ้ พระสนมเอกในกรมพระราชวังบวร จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพ (กระต่าย) เป็นตุลาการชำระความ นายผึ้งรับสารภาพตามข้อกล่าวหา จึงโปรดฯ ให้เจ้าพนักงานนำตัวนายผึ้งไปสักหน้าผาก แล้วส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้างตามโทษานุโทษ

เมื่อถึงวันฉลองวัดโพธิ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ช่างวาดรูปนายผึ้งขนาดเท่าตัวจริงบนกระดาษแผ่นใหญ่ เป็นรูปนายผึ้งนุ่งผ้าเขียวยืนหาบหญ้า หน้าผากมีรอยสัก มือถือเคียว มีอักษรบรรยายภาพไว้ว่า "นายผึ้ง เทพย์โมฬีหาบหญ้า"[3] คนเที่ยวงาน หลายคนเป็นศิษย์เรียนหนังสือ ประถมมาลา มุงดูรูปนั้นก็ซุบซิบกันว่า นี่เป็นการประจานกันกลางเมือง[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระเทพโมฬี (ผึ้ง, พึ่ง), พระเทพโมลี". นามานุกรมวรรณคดีไทย.
  2. "พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง)". วัชรญาณ.
  3. โรม บุนนาค. "พระราชาคณะมีพรสวรรค์ในการเทศ แต่งตำราภาษาเป็นอมตะ จบลงเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง! ฐานเป็นชู้กับเจ้าจอมมารดา!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  4. "พระเทพย์โมฬี (ผึ้ง)". ไทยรัฐ.