ข้ามไปเนื้อหา

พระร่วงทองคำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระร่วงทองคำ
วัดมหรรณพารามวรวิหาร
ชื่อเต็มพระร่วงทองคำ
ชื่อสามัญหลวงพ่อพระร่วงทองคำ,
หลวงพ่อพระร่วง,
พระร่วง
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย
ความกว้าง1 วา 1 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว
ความสูง1 วา 3 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว (ตลอดถึงพระรัศมี)
วัสดุทองคำ 60 เปอร์เซนต์
สถานที่ประดิษฐานพระวิหารหลวง วัดมหรรณพาราม
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

หลวงพ่อพระร่วงทองคำ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง วัดมหรรณพารามวรวิหาร แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานครฯ องค์พระเป็นโลหะทองคำ (60 เปอร์เซนต์) มีรอยต่อ 9 แห่ง โดยมีหมุดเป็นเครื่องเชื่อมรอยต่อ ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงความเจริญก้าวหน้า เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามมากองค์หนึ่งในประเทศไทย

ประวัติ

[แก้]

แรกสร้าง

[แก้]

พระร่วงทองคำ เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย เดิมประดิษฐานอยู่ ณ วัดโคกสิงคาราม อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย สร้างในรัชสมัยใดไม่ปรากฏ แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

การอัญเชิญลงมากรุงเทพ

[แก้]

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนรังสี (พระองค์เจ้าอรรณพ) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 ได้ทรงสร้างวัดมหรรณพาราม เมื่อปี พ.ศ. 2393 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระบรมชนกนารถ (รัชกาลที่ 3)

ในขณะทำดำเนินการก่อสร้างวัด เป็นระยะเวลาที่องค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรใกล้จะเสด็จสวรรคต พระองค์เจ้าอรรณพจึงทรงเร่งรัดให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองวัด รวมทั้งอัญเชิญพระประธานคือ "หลวงพ่อร่วง" จากเมืองสุโขทัยมาประดิษฐาน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ก่อนที่สมเด็จพระชนกนารถจะเสด็จสวรรคต (ซึ่งรัชกาลที่ 3 ได้เสด็จสวรรคตในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2394)

แต่กระบวนอัญเชิญหลวงพ่อร่วงจากสุโขทัยไม่สามารถดำเนินการได้ลุล่วงทันตามประสงค์พระองค์เจ้าอรรณพ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นในพระอุโบสถมาเป็นพระประธานแทนไปก่อน ถัดจากนั้นอีก 3 เดือน เมื่อเตรียมการทุกอย่างพร้อมสรรพจึงได้อัญเชิญหลวงพ่อร่วง มาประดิษฐานเป็นพระประธานภายในพระวิหารได้สำเร็จดังที่ทรงตั้งพระทัยไว้แต่เดิม

พุทธลักษณะ

[แก้]

พระร่วงทองคำ เป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัย ขนาดหน้าตัก กว้าง 1 วา 1 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 1 วา 3 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว องค์พระเป็นโลหะทองคำ มีรอยต่อ 9 แห่ง โดยมีหมุดเป็นเครื่องเชื่อมที่รอยต่อ ชุกชีที่ประดิษฐานยาว 2 วา 1 ศอก 7 นิ้ว กว้าง 2 วา 2 ศอก ถัดจากฐานขึ้นไปเรียกว่า บัลลังก์ ทำเป็นลายดอกบัวคว่ำบังหงาย และดอกไม้เครือกระจังลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกสีต่าง ๆ

อ้างอิง

[แก้]